ReadyPlanet.com


การเรียนรู้....ของคนตาบอด


คนตาบอดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ด้วยสัมผัสแห่งการเรียนรู้
6 พฤศจิกายน 2550

คนตาบอดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ด้วยสัมผัสแห่งการเรียนรู้

ผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอดไม่ได้อยู่แต่ในโลกมืดอย่างที่เข้าใจกัน พวกเขามีศักยภาพในการทำความเข้าใจโลกได้ไม่แพ้คนตาปกติ

หญิงสาวบรรจงสวมถุงมือพลาสติกชนิดบางก่อนจะเอื้อมมือไปสัมผัสวัตถุทางประวัติศาสตร์ชิ้นนั้น รายรอบตัวเธอคือบรรดาโบราณวัตถุเก่าแก่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทว่าจำนวนหนึ่งตรงหน้าเธอเป็นวัตถุจำลองที่ถอดพิมพ์มาจากโบราณวัตถุเหล่านั้น เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์จัดเตรียมไว้สำหรับเธอและเพื่อนๆ ในเมื่อหญิงสาวไม่อาจมองเห็นภาพของสิ่งเหล่านั้นด้วยตา แต่เธอสามารถสามารถสัมผัสมันได้ด้วยสองมือและหัวใจ พร้อมๆ กับรับฟังคำบรรยายเนื้อหาที่มาของวัตถุต่างๆ จากภัณฑารักษ์ผู้นำชม ข้อมูลต่างๆ แผ่ซ่านจากปลายนิ้วเข้าสู่สมอง...หญิงสาวและเพื่อนๆ "เห็น" สิ่งนั้นแล้ว

ราวเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมกับคณะสตรีอาสาสมัครพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (National Museums Volunteer) และสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย (TAB) จัดโครงการอบรมเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับวัตถุในพิพิธภัณฑ์แก่ผู้พิการทางสายตา มีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ ๑๐- ๑๕ คน

ผลจากการอบรมครั้งนั้นจุดประกาย ให้เหล่าผู้พิการทางสายตามั่นใจในศักยภาพความเป็นมนุษย์ของตนเอง พวกเขาเชื่อมั่นว่าตนเองสามารถพัฒนาไปเป็นมัคคุเทศก์นำชมให้กับเพื่อนๆ ผู้พิการทางสายตาอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ออกไปในวงกว้าง นอกเหนือจากการสัมผัสข้อมูลจากหนังสืออักษรเบรลล์ เมื่อถึงตอนนั้นแหล่งเรียนรู้ทางมรดกทางวัฒนธรรมก็ไม่จำกัดอยู่เพียงพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป

จารุณี อินเฉิดฉาย หัวหน้าฝ่ายวิชาการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ข้อมูลว่าทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้จัดทำสื่อการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตาสำหรับโครงการนี้ ได้แก่ วัตถุพิพิธภัณฑ์จำลอง(touch museum) แบ่งเป็นประเภทต่างๆ ตามหัวข้อ เช่น เครื่องปั้นดินเผา พระพุทธรูปสมัยต่างๆ จัดทำแผ่นภาพที่สามารถสัมผัสได้(Tactile Diagram) ทำเทปบันทึกเสียงประกอบการชมวัตถุในพิพิธภัณฑ์ จัดพิมพ์หนังสือแนะนำวัตถุพิพิธภัณฑ์ด้วยอักษรเบรลล์ รวมถึงพัฒนา website กิจกรรมดังกล่าวนับเป็นความพยายามในการให้บริการความรู้สู่สาธารณะที่น่าสนใจ เพราะผู้พิการทางสายตานับเป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่มีสิทธิเรียนรู้รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของตนเอง การเปิดห้องเรียนครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวัตถุพิพิธภัณฑ์ โดยคัดเลือกประเภทตามหัวข้อ การสัมผัสวัตถุจำลองโดยมีตัวอย่างชิ้นส่วนวัตถุจริงประกอบเพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้น เช่น ปูนปั้น ดินเผา โลหะฯลฯ ฝึกปั้นหรือทำวัตถุพิพิธภัณฑ์(art objects making) และนำชม(verbal explanation) วัตถุจริงในห้องนิทรรศการ ก่อนหน้านี้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ตัวแทนเยาวชนผู้พิการทางสายตา ๒ คน มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ร่วมกับคนตาดีที่เป็นชาวต่างชาติกว่า ๖๐ คน

กรรณิการ์ วงเพ็ญจันทร์ วัย ๒๒ ปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในตัวแทนเยาวชนผู้พิการทางสายตาที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย คัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เปิดใจว่าตนมีโอกาสรู้จักกับอาสาสมัครชาวต่างชาติที่ทำงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการมัคคุเทศก์ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โดยมีเป้าหมายให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้จากการสัมผัสและให้สอดคล้องกับเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์

"การสัมผัสโบราณวัตถุนี้ส่วนใหญ่ทางพิพิธภัณฑ์จะจำลองแบบไว้ แล้วให้เราสัมผัส มีเจ้าหน้าที่คอยอธิบาย เราก็รู้ได้ว่าแบบไหนเป็นหม้อสมัยสุโขทัย แบบไหนเป็นหม้อสมัยกรุงศรีอยุธยา มาจากแหล่งเตาไหน พวกเราได้เรียนรู้ว่าข้อแตกต่างระหว่างคนตาดีกับคนตาบอดที่มีนั้นเราจะเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไร ได้เรียนรู้ทัศนคติและมุมมองที่คนตาปกติมองคนพิการทางตา ว่าจะทำงานร่วมกันและขยายผลร่วมกันได้อย่างไร พวกเราได้อะไรมากมายจากพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่แค่ความรู้หรือข้อมูลเท่านั้น แต่ยังได้สัมผัสแรงกายแรงใจของผู้ที่เข้าร่วมสานต่องานของโครงการ เป้าหมายของเราคือสามารถเป็นมัคคุเทศก์นำชมให้กับคนตาบอดคนอื่นๆ ต่อได้"

ในด้านการบริหารจัดการโครงการระยะยาวนั้น มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมจัดทำโครงการเผยว่าที่ผ่านมาถือเป็นขั้นทดลอง "เราพยายามทดลองหลายๆ แบบ ขั้นแรกเราส่งตัวแทนเยาวชนไปอบรม พอขั้นสองผมก็ไปชวนผู้บริหารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทำโครงการต่อ คือพาคนตาบอดมาชมกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์ เสนอให้มีทางเขาจัดเตรียมสิ่งแวดล้อมให้คนตาบอดเข้าถึงได้ง่ายที่สุด ขั้นที่สามผมต้องการให้พิพิธภัณฑ์เป็น Dream Room จริงๆ คือมีสิ่งแวดล้อมที่คนพิการเข้าถึงได้ในการเรียนรู้ อาจมีสื่อประกอบ อันไหนจับต้องได้ของไม่เสียหาย อันไหนจับต้องไม่ได้ก็เสนอให้ทำแบบจำลองมาให้สัมผัสแทน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากขยายผลให้ครอบคลุมทุกส่วนของพิพิธภัณฑ์ในที่สุด" นายกสมาคมคนตาบอดฯ วางเป้าหมายสำคัญไว้ว่าในอนาคตคนตาบอดจะสามารถเป็นผู้ช่วยมัคคุเทศก์หรือเป็นมัคคุเทศก์เต็มตัวได้ "เรื่องแบบนี้มันมีเงื่อนไขอื่นๆ มันเป็นจิ๊กซอว์ที่ต้องนำมาต่อกัน ผมหวังว่าเราจะขยายผลการเรียนรู้นี้ไปสู่แหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น อุทยานประวัติศาสตร์ ห้องสมุด หรืออะไรก็แล้วแต่ การเรียนรู้ในที่นี้หมายถึงการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เราเชื่อว่าคนตาบอดสามารถมีส่วนร่วมในการเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ในเชิงวิชาชีพ" เกี่ยวกับการสานต่อโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น มณเฑียรย้ำว่าตนจะเขียนโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ต่อไป "ผมคิดว่าประมาณเดือนมกราคมปีหน้าจะสามารถพาเด็กและผู้ใหญ่ตาบอดมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ได้จริงๆ" มณเฑียรกล่าว

สมชาย ณ นครพนม ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เผยรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเปิดห้องเรียนสำหรับผู้พิการทางสายตาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(Classroom for Blind) ว่าต้องการเปิดโอกาสให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเรียนรู้เรื่องราวเนื้อหาการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ถึงระดับที่สามารถเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ให้กับผู้พิการทางสายตาคนอื่นๆ ต่อไป "ปกติโบราณวัตถุที่จัดแสดงเราจะมีป้ายบอกว่าห้ามสัมผัสเพราะอาจมีผลเสียหายต่อโบราณวัตถุนั้นๆ แต่ในกรณีคนตาบอดเราได้ให้สวมถุงมือพลาสติกแบบบางๆ เพื่อให้เขาได้สัมผัสสิ่งนั้นๆ ประกอบคำบรรยาย การสัมผัสจะทำให้สมองรับรู้ได้ดีกว่าการฟัง ในต่างประเทศเคยมีการทดลองกับอาสาสมัครกลุ่มหนึ่ง เขาให้คนตาบอดกับคนตาดีผูกตาไว้แล้วมาสัมผัสโบราณวัตถุ พบว่าคนตาบอดสามารถรับรู้ได้ดีกว่าคนตาดี ที่นั่นยังให้คนตาบอดสวมถุงมือสัมผัสรูปหล่อสัมฤทธิ์ที่เป็นศิลปะสมัยใหม่ด้วย" ที่ผ่านมา ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้นำผู้พิการทางสายตา ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเด็กจากโรงเรียนคนตาบอดทั่วประเทศจำนวนหนึ่ง และกลุ่มเยาวชนจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยให้ทดลองสัมผัสภาพเขียนประกอบคำบรรยายจากเจ้าหน้าที่ จากนั้นให้ผู้พิการทางสายตาทดลองเขียนภาพดังกล่าวลงบนแผ่นไม้ที่รองด้วยแผ่นพลาสติก พบว่าแต่ละคนเขียนได้ใกล้เคียงภาพต้นฉบับ

"พอเราเริ่มทำโครงการตอนเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากนั้นก็ประชุมอีก ๓-๔ ครั้ง กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย พวกเราคิดว่าโครงการนี้น่าจะสำเร็จได้ในปี ๒๕๕ ๑ ขั้นนั้นคือสามารถให้คนตาบอดนำชมพิพิธภัณฑ์ได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นพัฒนากิจกรรมที่จะทำให้เขาเข้าใจ จำได้ และสามารถอธิบายได้ง่ายๆ"

เบื้องหลังการจัดทำวัตถุจำลองเพื่อการสัมผัสนั้น ก็มาจากเสียงสะท้อนของผู้พิการทางสายตานั่นเอง "เขาเคยเสนอว่าถ้าให้พวกเขาเข้าชมพิพิธภัณฑ์ แต่กลัวว่าพวกเขาจะทำข้าวของแตกหักเสียหาย แล้วปล่อยให้ไปลูบอักษรเบรลล์ที่จัดเตรียมไว้ ถ้าอย่างนั้นพวกเขาขออยู่บ้านดีกว่า พวกเขาย้ำว่าต้องการการเรียนรู้อย่างแท้จริงจากการสัมผัสและได้ยินเสียงด้วยตัวเอง เช่น พวกเขาสามารถกดปุ่มฟังเสียงได้เลย หรือให้เขาได้สัมผัสวัตถุจำลองประกอบคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่"

นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้ข้อมูล ผอ.สมชาย ยังเป็นฝ่ายเรียนรู้จากผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการเช่นกัน "พวกเขาเสนอว่าถ้าจำลองอนันตนาคราช พอเขาได้สัมผัสดอกบัวก็จะเข้าใจว่านี่คืออนันตนาคราช เขายังเสนอวิธีที่จะทำให้จำได้ เช่น ถ้าเดินมาถึงตำหนักแดง เขาบอกว่าได้กลิ่นดอกแก้วมาแต่ไกล คือเป็นการเรียนรู้จากกลิ่น นอกจากนี้เราก็มีกิจกรรมที่พวกเขาได้สัมผัสโดยตรง เช่น ตัวต่อภาชนะดินเผา มีอาสาสมัครคนหนึ่งบอกว่าเขาไม่เคยคิดว่าพิพิธภัณฑ์จะมีแบบนี้ด้วย" ตามปกติ พิพิธภัณฑ์ทุกแห่งได้ออกแบบทางเดินแบบลาดและห้องน้ำสำหรับผู้พิการที่นั่งรถล้อ ส่วนใหญ่ผู้พิการจะเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เป็นหมู่คณะในวันอาทิตย์ อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งปรับปรุงอาคารจัดแสดงมาจากวังหน้าเดิมซึ่งมีสถานะเป็นโบราณสถานด้วย จึงมีเงื่อนไขในการปรับพื้นที่เพื่อคนพิการ "ข้อด้อยของเราคือเราใช้อาคารโบราณสถานเป็นอาคารจัดแสดง ดังนั้นการทำทางลาดในจุดต่างๆ จะยาก ติดขัดในบางห้อง แต่ผมก็จะทำทางลาดเพิ่มอีกเท่าที่จะทำได้ เช่น ห้องประวัติศาสตร์ การทำพิพิธภัณฑ์ให้เข้าถึงทุกๆ คนนั้นเป็นสุดยอดปรารถนาของเราแต่ก็ยาก ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องมีกิจกรรมพิเศษเสริมสำหรับกลุ่มเฉพาะ" ผอ.สมชาย กล่าว โครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างมัคคุเทศก์ผู้พิการทางสายตาให้เป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์แก่ผู้พิการทางสายตาด้วยกันเอง ส่วนก้าวต่อๆ ไปสำหรับการเรียนรู้โลกกว้างให้ได้ดั่งตาเห็น เป็นเรื่องที่สังคมน่าจะร่วมกันส่งเสริม เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับ "วันผู้พิการสากล" ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า ในฐานะที่พวกเขามีศักยภาพทัดเทียมกับคนทั่วไปและสามารถเป็นผู้ให้ความรู้แก่คนอื่นๆ ได้ นัยยะของวันผู้พิการสากลจะได้ไม่ถูกสังคมประทับตราในเชิง "ผู้รับการสงเคราะห์" อีกต่อไป .....บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรใดมีความประสงค์จะสนับสนุนเงินทุนสำหรับโครงการ touch museum ในระยะยาว สามารถติดต่อได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โทร.๐-๒๒๒๔- ๑๔๐๒

 ( กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ โดยยุวดี มณี ๖ พย. ๒๕๕๐ )

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ :: วันที่ลงประกาศ 2007-11-07 16:42:11 IP : 124.121.137.102


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.