ReadyPlanet.com


คนพิการรู้จัก - หมอสงวนเสียชีวิตแล้ว


“นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์” เสียชีวิต
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มกราคม 2551 17:00 น.
       นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขา สปสช.เสียชีวิตแล้ว ด้วยโรคมะเร็งปอด โรงพยาบาลรามาธิบดี กำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพพรุ่งนี้ ที่ศาลา 3 วัดชลประทานฯ พร้อมอุทิศร่างให้กับคณะแพทยศาสตร์ รามาฯ เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้เล่าเรียน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ม.ค.) ที่ รพ.รามาธิบดี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์  เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  ได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยอายุ 55 ปี 10 เดือน (18 มีนาคม 2595) ภายหลังจากเข้ารักษาอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดที่ รพ.รามาธิบดี กว่า3 สัปดาห์

       
       นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.จากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา 16.50 น.   ห้อง 2 หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย  อาคาร 1 ชั้น 7 ด้วยโรคมะเร็งปอด ด้วยวัย 55 ปี โดยก่อนหน้านี้ นพ.สงวน ได้เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งปอด เป็นระยะที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ในช่วงหลังมารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จนเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา นพ.สงวน ได้เข้ารับการรักษาตัวอีกครั้ง เนื่องจากมีอาการทางระบบทางเดินหายใจและเสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเวลา 16.50 น.ของวันที่ 18 ม.ค.
       
       นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การสูญเสีย นพ.สงวน ถือว่าเป็นการสูญเสียคนดี สูญเสียรัฐบุรุษแห่งวงการสาธารณสุข เนื่องจาก นพ.สงวน เป็นผู้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เกิดขึ้นกับประชาชนไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่เพียงแต่ประชาชนในยุคนี้ แต่จะมีผลไปถึงรุ่นลูกหลานที่จะต้องมีระบบประกันสุขภาพอยู่ตลอดไป และเชื่อว่า ไม่มีใครสามารถจะล้มระบบดังกล่าวได้ และที่ผ่านมา เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากและต้องทนต่อแรงเสียดทานอย่างสูงในการทำงานนี้ให้เกิดขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว
       
       “ผมรู้สึกสูญเสียคนดีๆ ไป คุณหมอสงวน ไม่ใช่เพียงแค่รุ่นพี่ที่เป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เท่านั้น แต่ยังเปรียบเสมือนครูของผม เพราะท่านทำให้ผมรู้ว่าเรื่องสาธารณสุขไม่ใช่เพียงการรักษาคนไข้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเสมอภาคด้วย และทำให้ผมหันมาสนใจในเรื่องอื่นๆ มากกว่าการรักษาคนไข้ด้วย คิดว่าคุณหมอสงวนจากไปเร็วเกินไป ถ้าอยู่คงสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้อีกมากมาย แต่สิ่งที่ท่านทำไว้ก็ควรค่าแก่การยกย่องอย่างมากแล้ว” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
       
       สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลศพนั้น ในวันพรุ่งนี้ (19 ม.ค.) เวลาประมาณ 16.00 น.จะมีพิธีรดน้ำศพ จากนั้นในเวลา 17.00 น.จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเวลา 19.00 น.จะมีพิธีสวดพระอภิธรรมศพ กำหนดสวด 7 วัน ณ ศาลา 3 วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี โดยหลังจากนี้ญาติและผู้ใกล้ชิดจะตั้ง “กองทุนนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์  เพื่อมิตรภาพบำบัดเพื่อนช่วยเพื่อน” เพื่อสืบสานเจตนารมณ์ของ นพ.สงวน ต่อไป  
       
       ทั้งนี้ ก่อนที่จะเสียชีวิต ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ นพ.สงวน ได้เขียนหนังสือด้วยลายมือของตนเองอุทิศร่างให้กับคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งหลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ได้ใช้ร่างเสร็จแล้ว จะมีการพระราชทานเพลิงศพต่อไป
       
       นพ.สงวน เป็นเลขาธิการ สปสช.สมัยที่ 2 เป็นบุคคลที่ทุ่มเทเพื่อการสร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมเพื่อประชาชนทุกคนเกิดเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2495 ที่กรุงเทพมหานครจบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2520 เริ่มรับราชการที่ รพ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ในปี 2521 จนกระทั่งปี 2526 เป็นผู้อำนวยการ รพ.ราษีไศล และย้ายมาเป็นผู้อำนวยการ รพ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งการทำงานทั้งสองแห่งได้บุกเบิกการสร้างสุขภาพชุมชนจนเป็นที่รักของชาวบ้านอย่างมาก
       
       นพ.สงวน ได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ดีเด่นประจำปี 2528 ด้วยผลงานขยายเตียงรองรับผู้ป่วยจาก 30 เตียง เป็น 60เตียง ในเวลา 3 ปี จัดทีมบริหารให้คล่องตัวมีประสิทธิภาพวางแผนงานใช้สาธารณสุขมูลฐานเป็นกลยุทธ์แก้ปัญหาตั้งกองทุนยา กองทุนโภชนาการหมู่บ้านและชุมชน ฯลฯ ในปี 2538 เป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2544-2546 ก่อนที่จะมาเป็นเลขาธิการ สปสช.ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.  2546 
       
       นพ.สงวน นับเป็นหัวขบวนที่ปฏิรูประบบสุขภาพไทยครั้งใหญ่ในการสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพให้กับประชาชนเป็นผู้นำในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่รู้จักกันว่าโครงการ 30 บาท 
       

       อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการ สปสช.ที่อยากจะทำ ซึ่งจะมีผู้สานต่อโครงการต่อไป  5 ประการ กล่าวคือ
       
       1.จะเร่งรณรงค์ให้ประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่เป็นโรคตาบอด โดยเฉพาะจะกวาดล้างโรคตาต้อกระจกให้หมดไปจากประเทศไทย ให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งจะมีกระบวนการดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันยังมีประชาชนรอคิวรับการผ่าตัดอยู่อีกจำนวนหนึ่งก็ตาม ซื่งจะเชื่อมโยงไปถึงคนป่วยที่จะเป็นโรคเบาหวานจะเสี่ยงกับโรคตาบอดด้วย โดยจะมีวิธีจัดการเช่นเดียวกับโรคหัวใจ
       
       2.กองทุนตำบล  ขณะนี้ สปสช.ได้ดำเนินการไปจำนวนมากแล้วก็ตามแต่จะให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ อบต.แห่งไหนที่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าโครงการในปีที่ผ่านมาปีนี้มีความพร้อมของ อบต.มากขึ้น ซึ่งจะมีการประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่งสรรหา อบต.เข้าร่วมโครงการทั้งประเทศต่อไปเนื่องจากที่ผ่านมา สปสช.ได้ให้ ม.นเรศวร จ.พิษณุโลก ประเมินโครงการดังกล่าวแล้วควรดำเนินการต่อไปและมีกิจกรรมมากขึ้น
       
       3.โครงการลดความแออัดใน รพ. จะมีการปรับโฉมใหม่ของหน่วยบริการทั่วประเทศและจะเริ่มทยอยเผยรายชื่อหน่วยบริการที่มีความพร้อมซึ่งที่ผ่านมามีรพ.ภูมิพลและเครือข่าย รพ.พระนครศรีอยุธยาและเครือข่ายและนครราชสีมา แพร่ หล่มสัก จ.เพชรบรูณ์ ฯลฯ ซึ่งมีทั้งหมด 13 แห่งโดยให้ประชาชนที่ถือบัตรทองไปใช้หน่วยบริการใกล้บ้านใกล้ใจ หรือปฐมภูมิ หรือกล่าวได้ว่าจะไม่มีคนไข้ Walk In อีกต่อไป
       
       4.โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ “จิตอาสา” ให้คนไข้ที่ป่วยและหายแล้วให้กำลังใจที่มีจิตใจความเป็นมนุษย์ช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเจ็บป่วยให้หายจากโรคต่างๆได้  ที่ผ่านมา มีเพื่อนช่วยเพื่อนแล้ว เช่น เครือข่ายโรคมะเร็ง  เครือข่ายโรคหัวใจ  เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้นโดยในปีนี้จะมีการขยายโครงการไปยังโรคเรื้อรังอื่นๆ อีก
       
       5.โครงการ “ทำดีได้ดี” เป้าหมายคือสร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการและเครือข่ายจัดบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่ สปสช.กำหนดอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ จากงบเหมาจ่ายรายหัว 2,100 บาท/คน/ปี (2551) นั้นในจำนวนนี้มีการจัดสรรงบคุณภาพบริการไว้ประมาณ 20 บาท/คน/ปี จากจำนวนประชากร 48 ล้านคน (หรือสำนักงบประมาณให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่ 46 ล้านคน อีก 2 ล้านคน สปสช.จะต้องทำเรื่องของบเพิ่มเติมในแต่ละปี)รวมเป็นเงินในโครงการนี้ประมาณ 929.54 ล้านบาทนั้น จะแบ่งเป็นจัดสรรให้หน่วยบริการปฐมภูมิประมาณ 43.31%ที่เหลืออีก 56.69% จะจัดสรรให้หน่วยบริการรับส่งต่อดำเนินการ  
       
       ทั้งนี้ โครงการทำดีได้ดีนั้นเป็นการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวพิเศษเป็นปีแรกที่จัดสรรตามผลงานเนื่องจากหน่วยบริการในโครงการทั้งรัฐและเอกชนนั้นได้รับงบพัฒนาคุณภาพบริการรักษาให้ประชาชนอยู่แล้ว แต่ปีนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการและเครือข่ายมากขึ้นโดยจะมีการสร้างกลไกลการจัดการทางการเงินตามผลงานในการส่งเสริม สนับสนุนและควบคุมกำกับคุณภาพหน่วยบริการและเครือข่ายพร้อมทั้งเฝ้าระวังระบบสารสนเทศด้านคุณภาพการให้บริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพเพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การจัดบริการสาธารณสุขโดยให้สปสช.สาขาเขตพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการโดยแบ่งสัดส่วนวงเงินให้แต่ละเขตพื้นที่ตามสัดส่วนจำนวนประชากร  
       
       อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการทำงานในพื้นที่จะมีการคัดเลือกหน่วยบริการที่ทำดีเพื่อเชิดชูและเป็นตัวอย่างกับสถานพยาบาลอื่นๆ ไป ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวอาจจะมีหน่วยบริการได้รับงบในการพัฒนาคุณภาพบริการไม่เท่ากันจากเดิมจะมีการแบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวส่งตรงไปจังหวัดแต่ในปี51 นี้หน่วยบริการจะได้รับงบในการพัฒนาคุณภาพไม่เท่ากันขึ้นกับผลงานแต่ละแห่งบางแห่งอาจจะได้น้อยกว่า 20 บาท ขณะที่บางแห่งได้ 20 บาท นพ.สงวน กล่าวว่า จะไม่มีปัญหากับหน่วยบริการ เพราะ สปสช.ได้จัดงบพิเศษให้อีกโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ทุรกันดารหรือแม้กระทั้งพื้นที่ที่มีประชากรน้อย ซึ่งจะมีการประเมินทุก 3 เดือน   
       
       กำหนดการ ณ วัดชลประทานฯ
       
       วันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2551
       เวลา 16:00 น. รดน้ำศพ
       เวลา 17:00 น. พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ โดยมี นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธาน
       เวลา 19:00 น. กำหนดสวดพระอภิธรรม (กำหนดสวด 7 วัน)
       หมายเหตุ : งดรับพวงหรีด
       สถานที่ ณ ศาลา 3 วัดชลประทาน ฯ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ :: วันที่ลงประกาศ 2008-01-19 08:26:21 IP : 124.121.139.66


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1423607)
“นพ.สงวน” นักบุกเบิกงานปฏิรูปสุขภาพไทย
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 มกราคม 2551 09:44 น.
       วันศุกร์ที่ 18 ม.ค.2551 ข่าวที่ทำให้คนในแวดวงสาธารณสุขเสียใจ คือ การเสียชีวิตของนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ด้วยวัยเพียง 55 ปี 10 เดือน เท่านั้น
       
       ก่อนหน้านี้ เป็นที่รับรู้กันอย่างเงียบๆ ว่า นพ.สงวน เข้ารักษาตัวด้วยอาการระยะสุดท้ายของโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ที่ รพ.รามาธิบดี และใช้กำลังใจและกำลังกายอย่างหนักหน่วงที่จะต่อสู้เพื่อให้ผ่านพ้นจุดนี้ไปให้ได้ ท่ามกลางกำลังใจของคนรอบข้างที่ส่งไปให้ แต่หลังจากต่อสู้กับโรคนี้มา 5 ปี มะเร็งก็คร่าชีวิตนักบุกเบิกงานปฏิรูปสุขภาพของเมืองไทยไปอย่างไม่มีวันกลับ ท่ามกลางความอาลัยรักของทุกคน          

       **พลิกประวัติศาสตร์ระบบสุขภาพ
       “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข”
       เป็นคำพูดที่ได้ยินเสมอจาก นพ.สงวน หัวขบวนการปฏิรูประบบสุขภาพไทยครั้งยิ่งใหญ่ ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อโครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดในการสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน บนความต้องการที่อยากเห็นคนไทยไม่ว่ายากดีมีจน มีสุขภาพดีไม่ต้องล้มละลายกับค่าใช้จ่ายจากการรักษาโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต โรคทาลัสซีเมีย โรคฮีโมฟีเลีย หรือแม้กระทั่งโรคลมชัก และอีกหลายๆ โรค
       
       โดยงานสำคัญ ที่ นพ.สงวน ตั้งใจมุ่งมั่นเป็นงานชิ้นเอกในชีวิตนี้ คือ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ และเป็นที่น่ายินดีที่ นพ.สงวน ทำงานนี้จนสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน ก่อนที่จะละสังขารจากโลกนี้ไป
       
       เมื่อเริ่มแรกโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีแรงเสียดทานจากวงการสาธารณสุขจำนวนมาก บ้างก็เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการใหญ่ และยาก หากทำได้สำเร็จ จะถือว่าเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของระบบสาธารณสุขไทย
       ว่ากันว่า เมื่อเริ่มโครงการนั้น บรรดาหมอในกระทรวงสาธารณสุขบางกลุ่มต่อต้าน จนก่อให้เกิดแรงเสียดทานอย่างมาก แต่ด้วยความอดทนที่เคยผ่านงานในชุมชน ทำให้ นพ.สงวน ไม่ย่อท้อและผ่านอุปสรรคไปได้ในที่สุด

       **จากหมอชนบทสู่หมอนักบุกเบิก
       
นพ.สงวน เกิดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2495 ที่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2520 ระหว่างศึกษาเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม ท่ามกลางบรรยากาศของนักศึกษาที่อยู่ในยุคของการต่อสู้เพื่อพี่น้องประชาชนที่ทุกข์ยาก ถูกกดขี่ ได้เป็นนายกสหพันธ์นักศึกษา ม.มหิดล ในปี 2519 เมื่อสำเร็จการศึกษา เริ่มรับราชการครั้งแรกที่ รพ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ในปี 2521 จนกระทั่งปี 2526 เป็นผู้อำนวยการ รพ.ราษีไศล และย้ายมาเป็นผู้อำนวยการ รพ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งการทำงานทั้งสองแห่งได้บุกเบิกการสร้างสุขภาพชุมชน จนเป็นที่รักของชาวบ้านอย่างมาก และที่ รพ.บัวใหญ่ นพ.สงวน ได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ดีเด่นประจำปี 2528 ด้วยผลงานการวางแผนงานใช้สาธารณสุขมูลฐานเป็นกลยุทธ์แก้ปัญหา ตั้งกองทุนยา กองทุนโภชนาการหมู่บ้านและชุมชน ฯลฯ
       
       ในปี 2538 เป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในปี 2544-2546 ก่อนที่จะมาเป็นเลขาธิการคนแรกของ สปสช.ในเดือน พ.ค.2546 และได้รับคัดเลือกให้เป็นเลขาธิการสปสช.ต่อเป็นสมัยที่ 2 เมื่อปี 2550
       
       **กองทุนเพื่อมิตรภาพบำบัด ภารกิจสุดท้ายเพื่อสังคม
       
การดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.วาระที่ 2 ก่อนจะเสียชีวิต เรื่องสำคัญที่ นพ.สงวน ผลักดัน คือ การขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ
       “น้องพลอย” ลูกสาว นพ.สงวน เล่าว่า วันที่ 31 ต.ค.2550 วันที่ ครม.พิจารณาเรื่องการขยายสิทธิประโยชน์เรื่องโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ.สงวน ตั้งใจมาก แม้ป่วยก็ยังไปนอนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อที่ว่าจะได้เตรียมตัวได้ทัน
       เมื่อถูกเรียกไปสอบถาม นอกจากนั้น ก่อนเสียชีวิต ปณิธานของ นพ.สงวน คือ การทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ “จิตอาสา” เพื่อให้คนไข้ที่ป่วยและหายแล้วให้กำลังใจที่มีจิตใจความเป็นมนุษย์ช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเจ็บป่วยให้หายจากโรคต่างๆ ได้ ที่ผ่านมา มีเพื่อนช่วยเพื่อนแล้ว เช่น เครือข่ายโรคมะเร็ง ตรงนี้จึงได้กลายเป็นที่มาของการตั้งกองทุน นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน
       
       ในเรื่องนี้ ร.อ.ทพญ.อพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์ ภริยา นพ.สงวน เล่าว่า กองทุนนี้เป็นสิ่งที่หมอสงวนตั้งใจในขณะที่ยังป่วยอยู่ คือ อยากทำให้ประชาชนและคนที่เจ็บป่วยมีโอกาสในการรักษา ยิ่งตัวเองป่วยก็ยิ่งเข้าใจและเห็นใจคนไม่มีโอกาส ขณะที่ครอบครัวของเราถือว่าพร้อม แต่ก็ยังรู้สึกทุกข์มากมายถึงเพียงนี้ จึงเข้าใจว่า คนไข้ที่ไร้โอกาสก็จะยิ่งต้องทุกข์มากกว่าหลายเท่า กองทุนนี้จึงเป็นงานสุดท้ายที่ นพ.สงวน ตั้งใจอยากทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษา และยังดูแลไปถึงเรื่องของจิตใจด้วย กองทุนดังกล่าวมีผู้ใหญ่หลายท่านเห็นความสำคัญและพร้อมสนับสนุน เช่น นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว นพ.มงคล ณ สงขลา ฯลฯ
       
       “การทำงานคือชีวิตและความสุขของคุณหมอเมื่อใดที่ลงมือทำงาน คุณหมอจะไม่รู้สึกว่าป่วยและเจ็บใดๆ เลย และครอบครัวก็พร้อมจะสนับสนุนอุดมการณ์ และสานต่องานของคุณหมอให้สำเร็จ คุณหมอได้สั่งเสียลูกชายและลูกสาวไว้เป็นครั้งสุดท้าย ว่า ให้เป็นคนดีและรักษาความดีไว้ เพราะเป็นสิ่งที่คนรอบข้างจะยอมรับและนับถือ เหมือนกับที่คุณหมอทำให้ลูกเห็นเสมอว่า คนรอบข้างรักคุณหมอจากการที่คุณหมอทำงานเพื่อคนอื่น” ทพญ.อพภิวันท์ กล่าวทิ้งท้าย
       
       สำหรับชาว สปสช.ซึ่ง นพ.สงวน พูดเสมอว่า เป็นบ้านหลังที่สอง ก่อนเสียชีวิต นพ.สงวน ได้ฝากคำพูดถึงทุกคนว่า
       “...วันที่ผมรู้สึกตัววันแรก พวกเขาเฮกันใหญ่ เพราะตอนแรกคิดว่าคงจะหมดสติแล้ว อาจจะไม่มีสติอีก ชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละนะ มันมีขึ้นมีลง ถ้าเราสามารถที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า แล้วก็ทำให้ช่วงชีวิตที่จะลงมีคุณค่าด้วย เราก็คงภาคภูมิใจ ...ขอให้ยืนหยัดต่อสู้ แม้จะหนักจะเหนื่อยก็ตาม ให้ตั้งใจว่า เมื่อเรายังหนุ่มยังแน่นยังสาว ยังทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมาก เพราะฉะนั้นก็อย่าท้อถอย..”
       

       ที่สำคัญคือ ก่อนเสียชีวิต นพ.สงวน ได้เขียนด้วยลายมือตัวเองว่าให้มอบร่างกายของท่านให้คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ซึ่งเป็นการทำประโยชน์ครั้งสุดท้ายในชีวิตที่ทิ้งไว้ให้แก่ประเทศชาติ
ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2008-01-23 22:43:24 IP : 124.121.137.68



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.