ReadyPlanet.com


สภาวะโลก...อันตราย


ปรากฏการณ์น้ำท่วม (โลก)

คอลัมน์ จับกระแสโลกร้อน



An Inconvenient Truth ของ อัล กอร์ พูดถึงผลการศึกษาใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2006 การค้นพบปรากฏการณ์เป็นผลจากสภาวะโลกร้อน 2 เรื่อง ที่สร้างความประหลาดใจในหมู่นักวิทยาศาสตร์อย่างมากในการหาคำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประการแรกคือ ปริมาณมวลรวมของชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์กำลังลดลง และมีธารน้ำแข็งราวร้อยละ 85 ไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น

ประการที่สอง อุณหภูมิอากาศที่วัดจากระดับสูงเหนือมวลน้ำแข็งเหล่านี้ อุ่นขึ้นเร็วกว่าอุณหภูมิในส่วนอื่นๆ ของโลก

ที่น่าตระหนกคือ หากชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตก เกิดละลายและไหลลงสู่ทะเล จะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 20 ฟุต



หากชั้นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ซึ่งมีขนาดและมวลเท่ากับชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันตกเกิดละลายและแตกออกจมลงสู่ทะเลก็จะทำให้ระดับน้ำทั่วโลกสูงขึ้นอีก 20 ฟุตเช่นกัน

ระดับน้ำทะเลทั่วโลกที่สูงขึ้น ทำให้เมือง สถานที่ต่างๆ หลายแห่งทั่วโลกจะจมอยู่ใต้น้ำ

เกิดอะไรขึ้น? หรือจะถึงเวลาที่เราต้องร่างแผนที่โลกกันใหม่แล้ว?

ปี 2550 ปัญหาเรื่องโลกร้อน ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดในเวทีการหารือระดับนานาประเทศทั่วโลก ไม่เว้นแม้เวทีเศรษฐกิจ อย่างธนาคารโลกที่ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ซึ่งศึกษาจากชายฝั่งของประเทศกำลังพัฒนา 84 ประเทศ แบ่งการศึกษาเป็น 5 ระดับ คือ กรณีน้ำทะเลสูงขึ้นตั้งแต่ 1-5 เมตร

ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า กรณีระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร จะทำให้ประชาชนประมาณ 60 ล้านคน หรือ 1.28% ในประเทศกำลังพัฒนาต้องอพยพโยกย้ายจากถิ่นที่อยู่ เนื่องจากพื้นที่ริมชายฝั่งจมอยู่ใต้น้ำ บริเวณที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก และแอฟริกาเหนือ โดยรวมจะมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมถึง 194,000 ตารางกิโลเมตร

สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬารประเมินค่าไม่ได้...

ยังมีรายงานทางวิทยาศาสตร์อีกหลายชิ้นประเมินว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หรือ ค.ศ.2100 ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นครึ่งเมตรไปถึง 1.4 เมตร เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกขังอยู่ในโลกมาเป็นเวลา 100 ปี ทำให้ระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าเป็นกรณีน้ำทะเลทะยานสูงถึง 5 เมตร อะไรจะเกิดขึ้น***!

 

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

Tel. 0-2990-0331



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ :: วันที่ลงประกาศ 2007-03-20 20:48:52 IP : 124.121.137.7


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (871274)
เอเอฟพี - น้ำจืดกำลังจะเป็นสิ่งมีค่ามากขึ้น เนื่องจากภาวะโลกร้อนเริ่มคุกคาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญเตือน โดยที่วันที่ 22 มี.ค.ของทุกปีถือเป็น "วันน้ำโลก" ด้วย

ความคิดหลักของการรำลึกถึง "วันน้ำโลก" (World Water Day) ประจำปีนี้ก็คือ "เผชิญกับการขาดแคลนน้ำ" (Coping with Water Scarcity) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง และมลภาวะ

องค์การสหประชาชาติประมาณไว้ว่า ภายในปี 2025 ประชากรโลกถึง 2 ใน 3 จะต้องอยู่ในภาวะขาดน้ำ โดยแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันตก จะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุด

ทั้งนี้ ภาวะโลกร้อนก็มีส่วนทำให้ปัญหาขาดแคลนน้ำย่ำแย่ลงอีก ผู้เชี่ยวชาญระบุ

ในหลายๆ ภูมิภาค ความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้น รูปแบบปริมาณฝนตกที่เปลี่ยนแปลงไป และปริมาณหิมะและน้ำแข็งบนภูเขาที่ลดลง อาจทำให้น้ำในแม่น้ำ ทะเลสาบ และชั้นหิน แห้งเหือดไปได้

บางภูมิภาคจะมีปริมาณน้ำฝนมากขึ้น แต่อาจจะเกิดจากพายุฝนรุนแรงที่จะก่อให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน มากกว่าที่จะเป็นฝนโปรยที่จะซึมซับลงสู่พื้นดินได้

หรือฝนอาจตกในพื้นที่มีประชากรเบาบาง หรือพื้นที่ซึ่งไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับหรือเก็บกักไว้ใช้ยามแห้งแล้ง

นักวิทยาศาสตร์จากคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) ของยูเอ็น มีกำหนดจะเน้นย้ำถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวในรายงานที่จะเผยแพร่ในวันที่ 6 เมษายนนี้ ซึ่งรายงานฉบับนี้เป็นรายงานประเมินภาวะโลกร้อนล่าสุดฉบับที่ 2

ทั้งนี้ เอเอฟพีระบุว่า ตามร่างรายงานของ IPCC ที่ได้มา มีเนื้อหาระบุว่า ในอาณาบริเวณตำแหน่งเส้นละติจูดสูงๆ และเขตเส้นศูนย์สูตรที่มีฝนตกมากบางพื้นที่ ซึ่งรวมถึงบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "เป็นไปได้อย่างมากว่า" ปริมาณน้ำน่าจะเพิ่มขึ้นในศตวรรษนี้ ร่างรายงานที่เอเอฟพีได้มาระบุ

แต่ประเทศในตำแหน่งละติจูดกลางๆ และเขตเส้นศูนย์สูตรที่มีฝนน้อย ซึ่งประสบกับภาวะขาดน้ำไปแล้ว จะยิ่งมีน้ำน้อยลงไปอีก

"พื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งน่าจะมีมากขึ้น และสภาพการณ์รุนแรงจากหยาดน้ำฟ้า (น้ำฝน,หิมะ,ลูกเห็บ) ซึ่งน่าจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น"

นอกจากนี้ รายงานยังเผยด้วยว่า "เป็นไปได้อย่างมากที่ปริมาณน้ำซึ่งสะสมในธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมจะลดลง ซึ่งจะทำให้ปริมาณกระแสน้ำในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีประชากรกว่า 1 ใน 6 ของโลกอาศัยอยู่ ลดลงตามไปด้วย"

ในระดับโลก ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับระดับเมื่อปี 1990 จะทำให้ประชากรมากถึง 2,000 ล้านคนอยู่ใน "ภาวะขาดแคลนน้ำมากขึ้น"

ถ้าอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 4 องศา ก็จะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นไปถึง 3,200 ล้านคน โดยแอฟริกาและเอเชียจะเป็นทวีปที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด ร่างรายงานประมาณไว้

แม้แต่ประเทศร่ำรวย ซึ่งมีเงิน ทรัพยากรและความรู้ความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมากกว่า ก็จะประสบปัญหาขาดน้ำด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหภาพยุโรป เตือนให้รัฐบาลในยุโรป เริ่มวางแผนรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำที่เกิดจากภูมิอากาศเปลี่ยน และระบุชัดว่า ทางตอนใต้ของสเปน ทางตอนใต้ของอิตาลี กรีซ และตุรกี กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ
นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล
www.waddeeja.com
Tel.0-2990-0331
ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-03-24 06:35:32 IP : 124.121.136.79


ความคิดเห็นที่ 2 (871279)
นิทรรศการภาวะโลกร้อน
ต้อนรับปิดเทอมด้วยกิจกรรมดีๆ ที่ อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) กับนิทรรศการและกิจกรรม "Climate Change ... ภูมิอากาศแปรปรวน" ดึงเยาวชนและประชาชนได้เข้าใจถึงความสำคัญของบรรยากาศโลกและตระหนักถึงภาวะโลกร้อน ที่จะนำไปสู่การช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภายในงานนิทรรศการ ได้อธิบายถึงเรื่องราวของบรรยากาศ การเกิดภาวะโลกร้อนหรือผลร้ายจากก๊าซเรือนกระจก พร้อมกิจกรรมมีสาระ ที่ทางทีเค ปาร์ค จัดขึ้น ณ ลานสานฝัน อาทิ กิจกรรมล้วงลึกถึง "พิษภัยใต้ทะเล" เมื่อกระแสน้ำเคลื่อนที่ผิดทิศทาง ปริมาณสารอาหารจากการทิ้งของเสียลงสู่ท้องทะเลมากเกินไป ใครจะเป็นผู้ได้รับอันตราย รวมถึงฐานกิจกรรม "แพลงก์ตอนมีพิษ", "สัตว์ทะเลมีพิษ" และ "สร้างกระดาษเป็นสัตว์ทะเล" ในวันที่ 17-18 มีนาคม 2550
ปิดท้ายงานในวันที่ 24 -25 มีนาคม 2550 กับกิจกรรม "การสร้างสรรค์ขยะ" เรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแยกขยะ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ขยะ เพลิดเพลินไปกับฐานกิจกรรม "แยกขยะอย่างไรให้ถูกต้อง" และ "ประดิษฐ์ขยะให้มีมูลค่า"
สนใจสามารถร่วมกิจกรรมและชมนิทรรศการได้ ณ ลานสานฝัน ทีเค ปาร์ค ชั้น 8 อาคารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แดซเซิลโซน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2257-4300

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ
นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล
www.waddeeja.com
Tel.0-2990-0331

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-03-24 07:12:15 IP : 124.121.136.79


ความคิดเห็นที่ 3 (871281)
หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม...พลังงานจากใต้พิภพที่ไม่สามารถทดแทนได้ถูกนำใช้ปีแล้วปีเล่า ก่อให้เกิดฝุ่นควัน โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซพิษอื่นๆ ลอยสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงจากพื้นโลกไปเพียง 13-15 กิโลเมตร

ก่อนยุคอุตสาหกรรมช่วงปี พ.ศ.1543 ถึง พ.ศ.2343 พบก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นในชั้นบรรยากาศ 278 ส่วนในล้านส่วน ต่อมาในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเฟื่องฟูปี พ.ศ. 2501 เพิ่มขึ้นเป็น 315 ส่วนในล้านส่วน และในปี พ.ศ.2548 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 379 ส่วนในล้านส่วน อันเป็นผลพวงมาจากกิจกรรมการบริโภคของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ เรียกโดยรวมว่า "ก๊าซเรือนกระจก"

ในอดีตก๊าซกลุ่มนี้มีประโยชน์ต่อโลก เพราะช่วยดูดซับรังสีอินฟาเรด ซึ่งเกิดจากแสงอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ตกกระทบมายังพื้นโลก ทำให้โลกอบอุ่น แต่ปัจจุบันชั้นบรรยากาศโลกมีการสะสมก๊าซกลุ่มนี้มากเกินไป ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก แถมยังทำให้สภาพอากาศแปรปรวนผิดฤดูกาลอีกด้วย

"น้ำแข็งขนาดมหึมาหลายล้านลูกบาศก์กิโลเมตรจากขั้วโลกเหนือ กำลังจะละลายจากสภาวะโลกร้อน ถ้าน้ำแข็งขั้วโลกใต้ซีกตะวันตกละลาย น้ำทะเลจะสูง 5 เมตร ก้อนน้ำแข็งที่กรีนแลนด์ละลายน้ำจะสูง 5.5 เมตร ขณะที่ ถ้าน้ำแข็งจากขั้วโลกใต้ฝั่งตะวันออกละลายจะทำให้น้ำสูง 70 เมตร เราก็จะไม่มีที่อยู่แล้วนะ กรุงเทพฯ คงจมอยู่ใต้น้ำ" นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ไปยังภาพน้ำแข็งขนาดมหึมาที่กำลังละลาย

การเผาผลาญวัสดุพลังงานชนิดต่างๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่มีการตรึงคาร์บอนไว้เป็นล้านๆ ปี บวกกับการตัดต้นไม้ แผ้วถางป่า ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนพืชพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทันท่วงที

ประกอบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม เช่น ก๊าซมีเทน หรือการสูญเสียก๊าซมีเทนจากพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นเท่านั้น ยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตต่ออากาศที่แปรปรวน เช่น การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่และลานีญ่า ที่ซ้ำเติมความป่วยไข้ของโลกสีน้ำเงินใบนี้

ฤดูร้อนปีนี้...เราอาจสัมผัสถึงคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะประเทศไทยกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเอลนีโญ่นั่นเอง ***!

เอลนีโญ่ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างการหมุนเวียนของกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทร ทั้งบนพื้นผิวและใต้มหาสมุทร ถ้าปีใดเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ทำให้เกิดฝนตกหนักทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้เมื่อไร เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลียตอนเหนือก็จะเกิดความแห้งแล้ง และนำไปสู่การเกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย

ส่วนปรากฏการณ์ ลานีญ่า จะมีลักษณะตรงข้ามกับเอลนีโญ่ คือ การทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม อย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศ

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมและโคลนถล่มที่ อ.สูงเม่น จ.แพร่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ถูกนำมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนและผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่า

แถมท้ายปลายชั่วโมงมีการพูดถึงเรื่อง ชั้นโอโซน หรือชั้นบรรยากาศที่ช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้ตกกระทบมายังพื้นโลกมากเกินไป กำลังจะหมดพลังต้านทานรังสีก่อมะเร็งผิวหนังได้อีกต่อไป

"โอโซนบริเวณขั้วโลกใต้ กำลังเกิดบาดแผลหรือรูโหว่ขนาดเท่าประเทศแคนาดา ออสเตรเลีย และอเมริการวมกัน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตอันร้อนแรงเล็ดลอดเข้ามาทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะการเกิดมะเร็งที่ผิวหนัง สาวไทยต้องตื่นเช้ากว่าเดิม เพื่อปั้นผมทรงกระบังป้องกันรังสียูวี และสารพัดไวท์เทนนิ่งจะขายดี" ดร.จิรพล แทรกมุกตลก

ส่วนที่มาของการทำลายโอโซนนั้น นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างง่ายๆ และใกล้ตัวว่า แค่การขับรถยนต์ผ่านลูกระนาดก็อาจทำให้ท่อน้ำยาแอร์รั่วโดยไม่รู้ตัว รถคันนี้ก็จะกลายเป็นแหล่งปลดปล่อยสารซีเอฟซีเคลื่อนที่ ซึ่งในเมืองไทยมีรถยนต์ลักษณะนี้อยู่เป็นแสนคัน และการขับรถประมาทจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วตำรวจนำสีสเปรย์มาพ่นลงบนถนน ก็มีส่วนในการปล่อยสารซีเอฟซีเช่นกัน

"ซีเอฟซี" หรือสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนเป็นสารสังเคราะห์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทำความเย็น อุตสาหกรรมผลิตเม็ดโฟม โดยสารซีเอฟซีใช้เวลาเดินทาง 15 ปี สู่ชั้นบรรยากาศที่สูงจากพื้นโลก 45 กิโลเมตร ระหว่างเดินทางสารซีเอฟซีจะไม่แตกตัวง่าย แต่ถ้าเจอแสงอัลตราไวโอเลตที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง จะทำให้สารซีเอฟซีแตกตัวเป็นสารคลอรีน ศัตรูตัวฉกาจของโอโซนนั่นเอง ***!

หมดชั่วโมงเรียนภาคทฤษฎีเรื่องโลกร้อนแล้ว...การเรียนรู้ภาคปฏิบัติเริ่มต้นขึ้นในช่วงบ่ายแก่ๆ ณ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยสะด่อง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ฝั่งตรงข้ามศูนย์รวมตะวัน ด้วยการติดตามดูร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคในเมืองส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในป่าอย่างไรบ้าง ?

- คนเมืองต้องการใช้ไฟฟ้ามากเท่าที่ต้องการ พื้นที่ป่ารอบๆ สายส่งกระแสไฟฟ้าจะถูกทำลายมากขึ้น

- คนเมืองอยากกินผักหวานป่า เกิดไฟป่ามากขึ้น

- คนเมืองอยากกินเนื้อสัตว์ป่า หรืออยากเลี้ยงลูกสัตว์ป่า ต้องฆ่าสัตว์ที่ถือเป็นนักปลูกป่าฝีมือดีมากขึ้น

- คนเมืองอยากได้พรรณไม้สวยงามและแปลกตาจากพงไพร ทำให้มีการลักลอบนำพรรณไม้ออกจากป่ามากขึ้น ทั้งที่พืชพรรณเหล่านั้นอาจมีความสำคัญในแง่อาหารและยารักษาโรคของสัตว์ป่า

นั่นเป็นเพียงบทสรุปคร่าวๆ ของการเดินป่าเขาสลักพระเพียง 1 กิโลเมตร ซึ่งพบร่องรอยการบริโภคของสังคมเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในป่าได้ไม่ยากนัก เป็นเสาไฟฟ้าแรงสูงยืนตระหง่านอยู่ตรงหน้าไล่เรียงเป็นแนวยาวสุดลูกหูลูกตา แล้วถ้านับรวมผืนป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศไทย กำลังถูกลัทธิบริโภคนิยมจากสังคมเมืองรุมโทรมผืนป่าบริสุทธิ์อยู่ทุกวี่วัน ผลกระทบจากความบอบช้ำของธรรมชาติจะตกอยู่กับใคร ?

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ
นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล
www.waddeeja.com
Tel.0-2990-0331

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-03-24 07:19:09 IP : 124.121.136.79


ความคิดเห็นที่ 4 (874409)

นิตยสาร "สารคดี" ฉบับเดือนเม.ย.นำเสนอเรื่องภาวะโลกร้อน ให้ข้อมูลน่าสนใจหลายด้าน

ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งจะหยิบยกมาพูดถึงกันหรือเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เป็นปัญหาที่เริ่มขึ้นเมื่อประมาณร้อยปีมาแล้ว นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มใช้เครื่องจักรไอน้ำและนำเอาเชื้อเพลิงฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน และน้ำมันขึ้นมาใช้ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมาตั้งแต่นั้น

ปีค.ศ.1890 Svante Arrhenius นักวิทยาศาสตร์ชาวสวีเดน ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศกับอุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลก

พบว่า หากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกลดลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกลดลงถึง 5 องศาเซลเซียส

ช่วงนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรม มีการปล่อยก๊าซต่างๆ ขึ้นสู่อากาศมากขึ้น Svante ทำนายว่าในอนาคตโลกจะร้อนขึ้น จากการเผาไหม้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาลลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

กลายเป็นปรากฏการณ์ ภาวะเรือนกระจก ส่งผลให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ

เราจะช่วยกันลดภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

1.ต้องยอมรับก่อนว่า เราทุกคนในโลกนี้มีส่วนทำให้โลกร้อนจากการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การใช้ไฟฟ้า การเดินทาง ขนส่ง การบริโภค การทำกิจกรรมต่างๆ มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

2.ประหยัดพลังงานทุกชนิด โดยเฉพาะไฟฟ้า ควรใช้หลอดประหยัดพลังงาน และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเลิกใช้งาน

3.เลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัวและเครื่องบิน รายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศรายงานว่า ควรใช้บริการรถไฟในระยะทางไม่เกิน 640 ก.ม.จะช่วยลดจำนวนเที่ยวบินได้ถึงร้อยละ 45

4.คิดก่อนซื้อของ หรือซื้อในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น ถ้าซ่อมได้ก็ควรซ่อม เพราะการผลิตและการขนส่งสินค้าเกือบทุกชนิดล้วนใช้พลังงาน

5.เลิกกินทิ้งกินขว้าง เศษอาหารจะกลายเป็นแหล่งผลิตก๊าซมีเทน ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

6.บริโภคสิ่งของในประเทศ กินอาหารท้องถิ่น นอกจากราคาถูก ยังทำให้เงินทองไม่รั่วไหลออกนอกและลดภาวะโลกร้อนด้วย

7.พกขวดน้ำติดตัวไปด้วยระหว่างเดินทาง เพราะขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตมหาศาล แถมยังทำให้เกิดขยะล้นโลก สิ้นเปลืองพลังงานในการกำจัด

8.เลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก เพราะการผลิตถุงพลาสติกใช้พลังงานมหาศาล

9.ประหยัดการใช้กระดาษ เพราะอุตสาหกรรมผลิตกระดาษใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 4 ทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และต้นเหตุของการทำลายป่าไม้ซึ่งเป็นตัวดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

10.สนับสนุนการซื้อสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตที่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตที่ต้องการมีส่วนปกป้องโลก

เป็น 10 วิธีช่วยลดภาวะโลกร้อน ที่แนะนำไว้ในสารคดีเล่มนี้

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล www.waddeeja.com Tel.0-2990-0331

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-03-26 21:45:00 IP : 124.121.142.240


ความคิดเห็นที่ 5 (880827)

ภาวะเรือนกระจก......

นักวิชาการคาดอากาศหนาวเกิดจากการเคลื่อนตัวผิดปกติของบรรยากาศโลก ชี้กระบวนการเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรมก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวน พร้อมเรียกร้องรัฐต้องจัดการเรื่องพลังงานให้ดีก่อนมีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่ม หวั่นซ้ำเติมอากาศทรุดหนัก

รศ.ดร.สิรินทรเทพ เต้าประยูร ประธานสายสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุที่ปีนี้ประเทศไทยต้องเผชิญกับความหนาวเย็นและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยนั้น เพราะว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกระบวนการเคลื่อนตัวของบรรยากาศโลกที่มีการเคลื่อนตัวผิดปกติ จึงทำให้มีอากาศที่หนาวเย็นเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประเด็นใหญ่ที่ทำให้อากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องพึงตระหนักให้มากก็คือ “ภาวะเรือนกระจก” หรือการที่บนชั้นบรรยากาศโลกมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลมาจากการเผาไหม้ในโรงไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง และในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในระหว่างกระบวนการผลิตการเผาไหม้เชื้อเพลิงก็จะปล่อยก๊าซชนิดนี้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ทั้งนี้เมื่อ 100 ปีก่อนที่จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โลกมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพียง 280 ppm แต่หลังจากที่มีการผลิตอุตสาหกรรมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มขึ้น ถึง 360 ppm และปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าทุกประเทศไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องของพลังงาน โลกจะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.6 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้การระเหยของกระแสน้ำในมหาสมุทรมีความเปลี่ยนแปลง คือน้ำในมหาสมุทรจะมีการระเหยเพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดความชื้นและทำให้เกิดฝนตกหนักได้ในบางพื้นที่ หรือบางปีอาจจะต้องประสบกับความแห้งแล้ง และอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ”รศ.ดร.สิรินทรเทพ กล่าว

ด้านนายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะกล่าวว่าภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงหรือ Climate Change ได้เริ่มตั้งเค้าว่าจะมีปัญหาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วและเพิ่งมาปรากฏผลให้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้อากาศมีความเปลี่ยนแปลงได้เกิดมาจาก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไปสะสมอยู่ในอากาศ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติของโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมจึงประสบกับปัญหานี้มากที่สุดถ้าเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม

สิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ เมื่อปี พ.ศ.2548 ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาเอลนิโญ่ คือประสบกับความแห้งแล้งตลอดทั้งปี และในปี พ.ศ.2549 ก็ได้มีผลสรุปว่าสาเหตุที่เกิดฝนตกมีน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่นั้นเกิดปรากฏการณ์ ลานิญ่า และในปีนี้ประเทศไทยก็จะประสบกับปรากฏการณ์เอลนิโญ่อีกรอบ คือตลอดทั้งปีจะประสบกับความแห้งแล้ง

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการขยายอุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง โดยที่ไม้ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาว่าจะส่งผลอย่างไรโดยเฉพาะรัฐบาลก่อนที่จะมีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมหรือการไฟฟ้านั้นควรที่จะศึกษาถึงผลกระทบต่างๆ ให้รอบด้านไม่ควรให้ค่าความสำคัญของพลังงานมากจนเกินไป

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ
นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล
www.waddeeja.com
Tel.0-2990-0331

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-03-31 23:12:14 IP : 124.121.138.233


ความคิดเห็นที่ 6 (881093)

ยูเอ็นออกรายงานเตือนรับมือโลกร้อน จี้ทุกประเทศร่วมมือ

31 มีนาคม พ.ศ. 2550 11:18:00

ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติเตรียมออกรายงานเตือนว่า สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจะก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลอย่างต่อเนื่อง หากไม่หาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประเทศต่าง ๆ ยังไม่เร่งเตรียมการเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : คณะทำงานระหว่างประเทศว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ ไอพีซีซี เตรียมเผยแพร่รายงานหนา 1,400 หน้า ที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมในวันศุกร์หน้า เป็นรายงานฉบับที่ 2 จากทั้งหมด 3 ฉบับของการปรับปรุงข้อมูลครั้งใหญ่เกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

รายงานจะย้ำว่า ความเสียหายในศตวรรษนี้ที่เกิดจากปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค พายุฤดูร้อน น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง โรคภัยไข้เจ็บ พืชและสัตว์สูญพันธุ์ ล้วนเป็นผลจากภาวะโลกร้อน คณะทำงานจะหารือกันเป็นเวลา 4 วัน ก่อนเผยแพร่รายงานดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขความสูญเสียเป็นตัวเงินได้เพราะต้องคำนวณปัจจัยหลากหลายอย่าง นอกจากนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงยังอาจส่งผลอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่และเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว เพราะการขาดความรู้ความเข้าใจ

ประเด็นสำคัญในรายงานฉบับนี้ เช่น ประเด็นต้นทุนทางสังคมหรือค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจโดยรวมจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2-4 ต่อปีขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้จำนวนผู้อดอยากจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2-7 ล้านคนต่อปี

ประเด็นสภาพอากาศแปรปรวนสุดขีดจะเป็นสาเหตุที่สร้างความสูญเสียร้ายแรงที่สุด มีตั้งแต่ร้อยละ 7 ของจีดีพีในภูมิภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงร้อยละ 25 ของภูมิภาคเศรษฐกิจขนาดเล็ก ประเด็นระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทุก 1 เมตร จะสร้างความเสียหายราว 944,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33 ล้านล้านบาท) เกือบครึ่งเกิดขึ้นในเอเชีย และประเด็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะช่วยชะลอภาวะโลกร้อน และการเตรียมการรับมือผลกระทบเพื่อลดความสูญเสีย

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ
นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล
www.waddeeja.com
Tel.0-2990-0331

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-04-01 06:33:26 IP : 124.121.135.45


ความคิดเห็นที่ 7 (886286)

ช่วงต้นปี 2550 ทุกภูมิภาคทั่วโลกส่อเค้าสัญญาณอันตรายจากปัญหาโลกร้อนแบบสาหัสสากรรจ์ จนต้องระดมแนวคิดหาทางรับมือภาวะเช่นนี้จ้าละหวั่น

สำนักข่าวในและต่างประเทศนำเสนอผลกระทบจากโลกร้อน แบบภัยรายวันทั้งในรูปแบบของสภาพอากาศแปรปรวน แผ่นดินไหว ไฟป่า ภัยแล้ง อุทกภัย พายุถล่ม มลภาวะเป็นพิษ คุกคามไปถึงเศรษฐกิจโลก ล้วนแต่เป็นวิบากกรรมลูกโซ่ทั้งสิ้น

เฉพาะปัญหาไฟป่า เกิดในหลายพื้นที่ทั่วโลก สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างทั้งป่าไม้ ที่พักอาศัย

ที่ผ่านมา ไฟป่าลุกไหม้ครั้งใหญ่หลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ไฟป่าที่เกิดขึ้นในออเรนจ์ เคาน์ตี้ ทางภาคใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เผาผลาญพื้นที่กว่า 2,000 เอเคอร์ รวมถึงบ้านเรือนประชาชน ทั้งเกิดกลุ่มควันดำลอยคลุ้งสู่ท้องฟ้า เห็นได้ชัดแม้อยู่ไกลไปหลายไมล์



ด้านฝั่งออสเตรเลียเจอไฟป่าโหมขึ้นทางภาคตะวันตกของประเทศ ส่งผลป่าไม้ พื้นที่การเกษตรถูกเผาทำลายไปแล้ว 13,000 เฮกเตอร์

จีน ไฟป่าจากเหตุชาวบ้านเผาวัชพืชลุกไม้ 2 จุดบริเวณตอนกลางของประเทศ ระหว่างเมืองโลวตี้กับฉางชา จนลุกลามทำลายพื้นที่ป่าเป็นบริเวณกว้าง

เมืองไทยเฉกเช่นกัน ไฟป่าเผาไหม้พื้นที่จังหวัดตอนบนเรื่อยมาถึงตอนล่าง ล่าสุดมีรายงานจากส่วนควบคุมไฟป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดูจากภาพถ่ายดาวเทียม ตรวจพบจุดไฟตั้งแต่วันที่ 3-13 มีนาคมที่ผ่านมา รวม 6,800 จุด อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ 2,612 จุด และนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4,188 จุด เขตภาคเหนือพื้นที่ถูกไฟไหม้เสียหาย 31,445 ไร่ รวมทุกภาคกว่า 80,327 ไร่ ค่อนข้างรุนแรงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2549

ปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นพิษ เกิดฝุ่น ควัน หมอก ละออง ปกคลุมเป็นอาณาบริเวณกว้าง จากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยสู่ชั้นบรรยากาศตามมาติดๆ

นี่ไม่ใช่เพียง "สถานการณ์" แต่เป็น "วิกฤตการณ์" จาก "โลกร้อน"

ถึงขนาดสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (ไอพีซีซี) ขึ้น เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์กว่า 1,000 คนจากทั่วโลก ช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูลและหามาตรการแก้วิกฤตโลกร้อนอย่างจริงจังขึ้น

ถึงเวลาแล้ว..ที่เราต้องตระหนกกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเตรียมทางรอดไว้

เช่นที่อัล กอร์ บอกไว้ใน AN INCONVENIENT TRUTH ว่า ทุกคนต่างเป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ทว่าเราแต่ละคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในทางออกของปัญหานี้ได้ หากเราเลือกที่จะเปลี่ยนแปลง

 

พันตรีศิริ  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

Tel.0-2990-0331

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-04-04 21:53:48 IP : 124.121.140.158


ความคิดเห็นที่ 8 (894091)
ผู้เชี่ยวชาญเฮอริเคน ระบุเฮอริเคนเกิดจากกระแสน้ำแปรปรวนไม่ใช่โลกร้อน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 เมษายน 2550 10:39 น.
       นายวิลเลียม เกรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพยากรณ์เฮอริเคนสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยในที่ประชุมเฮอริเคนแห่งชาติ ที่เมืองนิวออร์ลีน เมื่อวานนี้ว่า การแปรปรวนของกระแสน้ำในมหาสมุทร เป็นสาเหตุให้เกิดพายุเฮอริเคนรุนแรง ในช่วงปลายปีนี้ ไม่ใช่เพราะสภาวะโลกร้อนจากฝีมือมนุษย์ ตามที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกระแสน้ำในมหาสมุทรยังเป็นสาเหตุให้สภาพอากาศโลกอบอุ่นขึ้น ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาด้วย
        อย่างไรก็ตาม นายเกรย์ คาดว่า ยุคอากาศเย็นจะเริ่มขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรอีกครั้ง

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

Tel. 0-2990-0331

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-04-07 10:59:07 IP : 124.121.135.25


ความคิดเห็นที่ 9 (930533)

พูดถึงเรื่อง“โลกร้อน”  ซึ่งเป็นปรากฏ การณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและเริ่มที่จะ   เห็นผลกระทบได้ชัดเจนขึ้นในช่วงศตวรรษต่อจากนี้ไปตอนนี้เราต้องเริ่มตระหนักกันแล้วว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและคงต้องร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้นเพื่อโลกใบนี้ของเรา
 
อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า “คาร์บอนไดออกไซด์”ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ร้อยปีมานี้ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากฝีมือของมนุษย์เองจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันซึ่งกลายมาเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เราต้องมาตามแก้กันในทุกวันนี้
 
ในแวดวงวิทยาศาสตร์เองนั้นก็ไม่ได้เพิกเฉยกับการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยเห็นว่าการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายแล้ว คงไม่เพียงพอ เพราะว่าประชากรบนโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน อีกทั้งป่าไม้ที่จะมาช่วยดูดซับคาร์บอนไดออก    ไซด์จากบรรยากาศก็ลดน้อยลงทุกที
 
ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อที่จะมาช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออก  ไซด์ในบรรยากาศด้วยอีกแรงหนึ่ง ซึ่งหากทำสำเร็จก็น่าจะเป็นหนทางที่จะบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมาก และน่าจะเป็นวิธีที่สามารถรับมือกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นได้
 
ล่าสุดนักเคมีจาก Max Planck Institute for Colloids and Interfaces ประเทศเยอรมนี นำ เสนอเทคนิควิธีการใหม่เพื่อการกำจัดคาร์บอนไดออก   ไซด์ด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการเลียน*** ซึ่งก็คือกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชนั่นเอง
 
หลายคนเคยเรียนมาว่ากระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศกับน้ำ และใช้แสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานในการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในรูปสารประกอบอย่างเช่นแป้ง น้ำตาล และโปรตีน
 
นั่นเป็นสมการอย่างง่ายของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่ในรายละเอียด ยังมีกระบวนการที่แยกย่อยลงไปมากกว่านั้น ซึ่งก็คือกระบวนการที่โมเลกุลของคาร์บอนไดออกไซด์จับตัวกับอะตอมของ “ไนโตร    เจน” กลายเป็นสารประกอบที่เรียกว่า      “คาร์บาเมต” (Carbamate) ซึ่งมีความเสถียรน้อยกว่าทำให้พืชสามารถนำคาร์บอนในสารประกอบดังกล่าวไปใช้ผลิตเป็นน้ำตาลหรือโปรตีนได้ง่ายกว่า
 
นักเคมีจากสถาบันดังกล่าวได้พัฒนาเทคนิควิธีโดยการเลียนแบบกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ของพืชโดยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบหลักซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยานี้เองที่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสารประกอบคาร์บาเมตเช่นเดียวกับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช
 
คาร์บอนไดออกไซด์ เบนซีน (benzene) และตัวเร่งปฏิกิริยาถูกนำมาผสมกันที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ภายใต้ความดัน3เท่าของความดันบรรยากาศ (ที่ระดับน้ำทะเล) โดยตัวเร่งปฏิกิริยาจะทำหน้าที่ดึงเอาออกซิเจนจากคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)ทำให้ท้ายที่สุดแล้วได้ผลิตภัณฑ์เป็น“ฟีนอล” และคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
 
นักวิจัยสามารถสังเคราะห์เชื้อเพลิงได้อีกครั้งหนึ่งจากการใช้ CO ที่ได้จากกระบวนการดังกล่าว ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนจากฟอสซิล (ปิโตรเลียมที่เรารู้จักกันนั่นเอง) ลงได้    พร้อม ๆ กับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศได้ในเวลาเดียวกัน
 
นอกจากนั้นแล้ว“ฟีนอล”ที่ได้ยังสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมการผลิตยาและยาปราบศัตรูพืชได้อีกด้วยเข้าทำนอง “ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว”แต่ท้ายที่สุดนี้ก็คงต้องฝากไว้ว่าเทคนิควิธีการดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ   วิจัยและยังต้องอาศัยระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่จะมีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้น อย่างไรเสีย“จิตสำนึก”ที่ดียังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องปลูกฝัง เพื่อที่โลกใบนี้จะน่าอยู่ต่อไปอีก อย่างน้อยก็ในชั่วลูกชั่วหลานของเรา. 

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com  Tel. 0-2990-0331

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-04-28 17:40:09 IP : 124.121.140.48


ความคิดเห็นที่ 10 (1018365)

อังกฤษออกกฎคุมสร้างบ้านลด "โลกร้อน" แล้วไทยล่ะ?

อังกฤษออกกฎหมายควบคุมการสร้างบ้าน โดยกำหนดให้สร้างสร้างบานกระจก 2 ชั้นเพื่อกักเก็บความอบอุ่นไว้ในตัวบ้าน ซึ่งจะช่วยลดการมใช้พลังงาน อันเป็นปัจจัยหนึ่งของปัญหาโลกร้อน

 

ลำพังคนๆ เดียวปั่นจักรยานไปทำงาน ปิดน้ำ-ปิดไฟ ลดใช้พลังงาน จะช่วยลดต้นตอของปัญหา "โลกร้อน" ได้มากแค่ไหน แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าวิถีชีวิตของเรานี่แหละที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม คงมีหลายคนตั้งคำถามทำนองนี้ แต่สำหรับ "ทิม ฟอร์ซิธ" อาจารย์สิ่งแวดล้อมจากอังกฤษแจงว่าแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือต้องเริ่มจากนโยบาย
       
       "
แสงสว่างจากหลอดไฟนี่มาจากไหน มาจากพลังงานที่ผลิตจากถ่านหิน แล้วเรามีทางเลือกอื่นไหม...ไม่"
       
       
คำพูดของ ดร.ทิม ฟอร์ซิธ (Dr.Tim Forsyth) จากสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองลอนดอน (London Schools of Economics and Political Science) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) สะกิดให้เรารู้ว่าบางสาเหตุของภาวะโลกร้อนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกำลังเล็กๆ ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่การแก้ไขต้องเริ่มมาจากการวางนโยบายว่าจะให้อะไรเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับประเทศ
       

       
ทั้งนี้ ดร.ฟอร์ซิธเป็นอาจารย์อาวุโสของภาควิชาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองลอนดอน ได้เดินทางมาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ บาร์ บริติชเคาน์ซิล สยามแควร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็มีโอกาสพูดคุยกับเขาในวาระนี้ด้วย
       
       
อดีตนักข่าวเอพีประจำประเทศไทยและนักข่าวหนังสือพิมพ์ "เอเชีย อิงค์" (Asia Inc.) เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผู้นี้ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจโตเร็ว จึงจำเป็นต้องมีนโยบายด้านพลังงานออกมา แต่ปัญหาสำคัญของไทยคือสังคมในเมืองหลวงกับต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันมากซึ่งจะมีผลต่อการออกนโยบายที่ครอบคลุม
       
       
อย่างไรก็ดีหากไทยมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนออกมาจริงๆ ทางสหประชาชาติประเมินว่าไทยจะช่วยลดการใช้พลังงานของทั้งโลกได้ถึง 0.5% แต่ทั้งนี้ทุกประเทศต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหาบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครทำอะไรเลย
       
       
ในส่วนของสหราชอาณาจักรได้มีกฎหมายหรือนโยบายใดออกมารองรับต่อปัญหาภาวะโลกร้อนหรือไม่นั้น ดร.ฟอร์ซิธกล่าวว่าขณะนี้มีกฎหมายด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการก่อสร้างอาคาร เช่น การสร้างบ้านใหม่ที่ใช้บานกระจกเป็นผนังหรือหน้าต่างต้องใช้ระจก 2 ชั้นเพื่อกักเก็บความอบอุ่นไว้ในตัวบ้าน เป็นต้น
       
       
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย และอนาคตอาจมีกฎหมายที่เฉพาะบุคคลมากขึ้นโดยอาจกำหนดให้แต่ละคนลดการใช้พลังงานด้วย
       
       
อย่างไรก็ดีตาม ดร.ฟอร์ซิธอาจารย์สิ่งแวดล้อมผู้ทำงานเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาดและเคยทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เป็นเวลา 6 ปี กล่าวว่าสิ่งสำคัญสำหรับประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกคือการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด
       
       
ทั้งนี้หากแต่ละประเทศมีนโยบายตั้งรับกับปัญหาโลกร้อนจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

http://www.apdi2002.com/

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-06-24 23:00:56 IP : 124.121.135.108


ความคิดเห็นที่ 11 (1025760)

โลกร้อนกับโรคร้าย : มหันตภัยของคนกรุงเทพฯ

       เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนก็จะมักจะได้ยินบทสนทนาที่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนอยู่บ่อยๆจากที่เมื่อก่อนเป็นเรื่องไกลตัว เอ่ยถึงกันแต่ในแวดวงนักวิชาการ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เว้นแม้แต่แม่ค้าในตลาดสดก็ยังพูดถึง

 

       ปัญหาโลกร้อนได้ถูกหยิบยกเป็นประเด็นสำคัญจนเกิดคำขวัญรณรงค์ “MELTING ICE- A HOT TOPIC ?” ขณะที่เมืองไทยให้ประโยคที่เข้ากับกระแสเพื่อปลุกจิตสำนึกแก่สังคมว่า “หยุดโลกร้อนด้วยชีวิตพอเพียง” นี่เป็นเครื่องมือสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาโลกร้อนกำลังขยายอาณาเขตลุกลามไปทั่วโลก
       
       ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ อากาศร้อนอบอ้าวนอกจากจะทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเต็มไปด้วยความหงุดหงิดจิตตกแล้ว ยังนำพาซึ่งโรคร้ายตามมาด้วย
       
       
**น้ำท่วม แผ่นดินไหว สิ่งที่ต้องระวัง
       ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมภัยพิบัติแห่งเอเชีย และอดีตผู้ว่าฯกทม. เอ่ยถึงการทำงานของกทม.ต่อการรับมือภาวะโลกร้อนที่ผ่านมาว่า มาตรการที่กทม.ดำเนินการสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ในอีกทางหนึ่ง ในฐานะเป็นผู้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 18 % อย่างไรก็ตาม แม้กทม.จะสามารถลดปัญหาโลกร้อนในพื้นที่ได้แต่โลกก็ยังร้อนอยู่ดีเพราะอีก 98 % มาจากที่อื่น
       
       ทั้งนี้ จากการคาดการณ์อุณหภูมิในพื้นที่กทม.จะสูงขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพราะอาคารในกทม.มีลักษณะเหมือนภูเขาโอบล้อมซึ่งไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้ เช่น ย่านสีลม ที่ไปทางไหนก็มีแต่ตึกสูง ดังนั้น จึงทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นเสมือนกระทะน้อย ขณะที่กระทะใหญ่ก็คือโลก
       
       สำหรับผลทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นกับกทม.นั้น มีทั้งระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจากการละลายของหิมะซึ่งน่าเป็นห่วงว่าพื้นที่กทม.ซึ่งมีค่าเฉลี่ยโดยเฉพาะฝั่งพระนครที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 35-37 เซนติเมตร จากที่สูงสุด 40 เซนติเมตร จะต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตจากที่เดินบนถนนก็จะต้องมีเดินบนถนนที่เต็มไปด้วยน้ำ ส่วนฝั่งธนบุรีนั้นจะมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าฝั่งพระนครจึงไม่ต้องประสบกับปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกทม. อาทิ เขตมีนบุรี หนองจอก ประเวศ ก็น่าเป็นห่วงเช่นกันเพราะพื้นที่เขตนั้นจะมีลักษณะเป็นทุ่งซึ่งต่ำกว่า 37 เซนติเมตร
       
       แต่ที่น่าเป็นห่วงไปยิ่งกว่านี้คือช่วงที่มีน้ำทะเลหนุนในเดือนกันยายน-ธันวาคม ผนวกกับน้ำเหนือและน้ำฝนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นในกทม.ที่มีผลพวงจากภาวะโลกร้อนแล้วจะทำให้ระบายน้ำออกไม่ทันและเมื่อไม่ทันปริมาณน้ำในพื้นที่ก็จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ หมู่บ้านจัดสรรอยู่ในภาวะอันตรายสามารถจมน้ำได้โดยโดยเฉพาะที่อยู่ฝั่งตะวันออก
       
       “ต่อไปฝนตกในกทม.จะมีปริมาณ 1,500 ลบ.ม..ต่อปี คาดการณ์แล้วเขตเมืองที่ลุ่มจะมีฝนตกมากถึง 1,700 ลบ.ม.ต่อปี ดังนั้น อนาคตคนกทม.จะเดินบนถนนที่มีแต่น้ำ อาศัยอยู่ในเตาอบ อยู่ในพื้นที่ต้องรับปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ประชาชนที่อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำต้องระวังโดยเฉพาะผู้ที่อาศัยริมคลองเปรมประชากรที่ยังไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ ดังนั้นกทม.และกรมอุตุนิยมวิทยาจะต้องมีเครื่องมือคาดการณ์ได้ดีกว่านี้ การสร้างเขื่อน ประตูกั้นน้ำ บ้านเมืองต้องคำนึงถึงเหตุเล่านี้ ต้องคิดก่อนเตรียมการก่อน การทำท่อระบายน้ำก็ต้องคิดว่าจะใช้ท่อขนาดเท่าไหร่จึงจะสามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว”

 

       “หนองจอก ลาดกระบัง คงไม่ลำบากแต่จะประสบปัญหาโรคที่เกิดกับพืชผลทางการเกษตรจนส่งผลให้เป็นเหยื่อของบริษัทขายยาฆ่าแมลง รวมทั้งกทม.จะต้องบอกให้ประชาชนรู้ว่าสภาพอากาศในกทม.จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน รวมทั้งจะเผชิญกับพายุที่รุนแรงมากขึ้น บ้านเรือนที่มุงด้วยสังกะสีควรระวังให้ดี”
       
       อดีตผู้ว่าฯ กทม. อธิบายต่อว่า อีกปัญหาหนึ่งของ กทม.ที่ต้องระวังคือ เรื่องแผ่นดินไหว ด้วยเหตุดังกล่าว กทม.จะต้องมีมาตรการหากจะมีการขออนุญาตสร้างตึกใหม่จะต้องให้ออกแบบสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ เช่น ออกกฎหมายให้สร้างตึกรับแรงขนาด 3 ริกเตอร์ก็จะสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากรอยแยกที่กาญจนบุรีซึ่งมีรอยเลื่อนที่ใกล้กทม.มากที่สุดได้
       
       ขณะเดียวกัน กทม.จะต้องสร้างระบบเตือนภัยให้ประชาชนได้รับรู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว ตลอดจนควรที่จะมีการซักซ้อมกับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยง ควรที่จะมีการวางแผนแบบครัวเรือน หรือแผนประจำเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นด้วย
       
       “กทม.ต้องมีคอมพิวเตอร์ โมเดล หรือแบบ Simulation เพื่อคาดการณ์ว่าหากหน้าดินอ่อนขนาดนี้จะก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่เพื่อจะได้เตรียมการรับมือได้ทันไม่ใช่ให้เกิดเหตุก่อนแล้วมาแก้ไขปัญหา”
       
       ดร.พิจิตตสรุปเอาไว้ในตอนท้ายอย่างน่าสนใจว่า ต่อไปจะเกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งน้ำ ดินที่ การบุกรุกป่า รัฐบาลกลางต้องเริ่มบอกประชาชนในชนบท เช่น ให้เก็บกักน้ำ สร้างฝายชะลอน้ำ แก้มลิง หาพื้นที่รับน้ำรอบกทม.เพื่อ การบริโภค นอกจากนี้ควรปฏิรูประบบรถเมล์ใหม่ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพ ต้องยอมตัดทิ้งบริษัทรถร่วม 100 กว่าแห่งที่ปล่อยรถควันดำออกมา พร้อมให้อำนาจท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการจะสามารถแก้ไขปัญหาดีมากทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้คนเมืองมาใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้นเพราะปัจจุบันนี้คนกรุงใช้นำมันรถครึ่งถังเพื่อเดินทางอีกครึ่งถังเพื่อทำความเย็นให้ตัวเอง

 

       **วิกฤตการณ์โลกร้อนสู่มหันตภัยโรคร้าย
       
       
ศ.ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสถาน อธิบาย

สถานการณ์โรคที่มากับหน้าร้อนว่า

สาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิร้อนขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากความศิวิไลซ์อันทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สุขสบายมากขึ้น แต่กระบวนการที่มนุษย์ก่อขึ้นมีผลข้างเคียงต่อสภาพแวดล้อม แล้วก็ย้อนกลับมาสู่ตัวมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปรากฏการณ์เรือนกระจก
       
       และอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ถูกค้นพบจากนวัตกรรมของมนุษย์นั่นคือ อัตราการเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากการสูดก๊าซเรดอน (Radon) ซึ่งเป็นภาวะก๊าซที่เกิดขึ้นในพื้นดิน แทรกซึมผ่านรอยแตกของตึก อาคาร บ้านเรือนที่ก่อสร้างพื้นบ้านติดดินซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไป หากเทียบอัตราส่วนกับบ้านเรือนสมัยก่อนที่นิยมสร้างบ้านลักษณะยกพื้นสูง ดังนั้น คนสมัยก่อนจึงมีความเสี่ยงต่ำในการเป็นมะเร็งปอดที่เป็นสาเหตุจากก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่าปัจจุบันมีคนเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นถึงวันละ 5 ราย
       
       ศ.ดร.นพ.สมชัย อธิบายต่อว่าจะเห็นได้ว่าภาวะพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อมนุษย์ผ่านทางระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อสารเหล่านั้นจะมีผลให้มีอาการของโรคทางหายใจและที่เป็นอยู่แล้วจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ในผู้ที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจจะมีความอึดต่อการออกกำลังลดลง สำหรับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาสำคัญของชุมชนเมืองใหญ่และเมืองอุตสาหกรรม เนื่องจากอากาศที่มนุษย์หายใจเข้าออกจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อบรรยากาศมีสารมลพิษปนเปื้อนก็ย่อมก่อผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งสารปนเปื้อนในบรรยากาศนั้นเกิดขึ้นเองในสิ่งแวดล้อมธรรมชาติหรือโดยการกระทำของมนุษย์
       
       อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษหลังๆ นี้ อุบัติภัยธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ของสภาพอากาศแปรปรวน ได้ทวีความถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น อุทกภัย วาตภัยและภัยแล้งในหลายประเทศในทวีปเอเชีย เกิดจากฝีมือมนุษย์ในการตัดต้นไม้ทำลายป่า เกิดความแห้งแล้งและฤดูร้อนยาวนานขึ้น เป็นสาเหตุให้โลกร้อนขึ้น สิ่งที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งโรคที่ว่านี้เกิดจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผละกระทบทางตรง ได้แก่ โรคลมแดด โรคผิวหนังเหตุจากความร้อน เช่น ผด, ผื่นคัน โรคมะเร็งผิวหนัง โรคต้อกระจก โรคจิต
     

 

 
       
“อากาศร้อนทำให้พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงง่าย หงุดหงิดอารมณ์เสียบ่อย คนบ้าเพิ่มขึ้น อุบัติการณ์คนฆ่าตัวตายสูงเพราะอากาศร้อน อีกทั้งแสงยูวียังทำให้แก่เร็ว ผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดโรคเหตุแสงอาทิตย์ ซึ่งเกิดจากรังสีอุลตราไวโอเล็ต ได้แก่ สภาพชราเหตุแสง ผิวไหม้แดด โรคต้อเนื้อและต้อกระจกซึ่งโรคนี้จะเกิดกับชาวนาชาวสวนมากกว่าคนในเมืองเพราะต้องเจอแสงแดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งโรคภูมิแพ้ที่ปัจจุบันเป็นกันมาก เริ่มมีอาการตั้งแต่เด็กซึ่งต่างจากสมัยก่อนมาก”
       
       อีกทั้งโรคบางโรคยังได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคเขตร้อน ทำให้เกิดความชุกเพิ่มขึ้นในประเทศและแพร่ขยายออกไปสู่ประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไปที่ไม่เคยมีระบาดมาก่อน ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของพาหะนำโรค เช่น โรคมาลาเรีย โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคสมองอักเสบติดเชื้ออาร์บอไวรัส ที่มีพาหะนำโรคคือยุง เพราะยิ่งอุณหภูมิโลกสูงขึ้นก็ยิ่งเหมาะแก่การนำพาโรคและออกหากินบ่อยขึ้น
       
       ศ.ดร.นพ.สมชัยยังได้เสนอแนะทางเลือกแก่สังคมที่เต็มไปด้วยโรคที่มาจากความร้อนระอุไว้ว่าคุณภาพของสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ ประมาณว่า ร้อยละ 25-30 ของการเจ็บป่วยทั่วโลกเกิดจากปัจจัยคุกคามในสิ่งแวดล้อม ประชากรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันเนื่องจากคุณภาพของที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ทำให้ประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปี มีอัตราป่วยด้วยโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคระบบการหายใจสูงขึ้น
       
       
ดังนั้น มาตรการสำคัญในการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็คือการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระบวนการเฝ้าสังเกตอุบัติการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งคุกคาม เพื่อสามารถป้องกันควบคุมสถานการณ์ได้ทันการณ์

 

http://www.apdi2002.com/

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-06-29 08:03:12 IP : 124.121.138.98


ความคิดเห็นที่ 12 (1028448)

วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 17 ฉบับที่ 6058


"คิมหันต์มรณะ" คลื่นร้อน-พายุฝนซัดโลก


คอลัมน์ ข่าวเด็ด7วัน



เพียงสัปดาห์เดียว ผู้คนในแถบเอเชียใต้เสียชีวิตในเหตุการณ์พายุฝนฟ้าคะนองไปแล้วเกือบ 500 ราย

ในประเทศจีน ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าที่มาพร้อมกับพายุฝน คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่าครึ่งร้อย

พม่าเจอกับพายุหมุนขนาดรุนแรงเทียบเท่าทอร์นาโดที่แทบจะไม่เคยเจอมาก่อน จนบ้านเรือนใกล้กรุงย่างกุ้งเสียหายไป 500 หลัง และที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย ชาวบ้านหลายร้อยต้องอพยพหนีน้ำท่วมที่สูงกว่า 2 เมตร

ส่วนยุโรปเผชิญกับหน้าร้อนใน 2 รูปแบบ คือร้อนจัด กรีซ อิตาลี ชาติในแถบบอลข่าน ตุรกี โรมาเนีย เหงื่อแตกกับอุณหภูมิที่สูงเกิน 45 องศาเซลเซียส

ขณะที่อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรียและสวีเดน ประสบภัยน้ำท่วม

ออสเตรเลีย พื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากประสบภัยแล้งมาแล้วก็เจอกับภาวะน้ำท่วมฉับพลันต่อ

รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา มีสภาพแห้งแล้งยิ่งกว่าปีที่แล้ว เป็นข่าวร้ายสำหรับเกษตรกรในเมืองเบเกอร์สฟิลด์

สหประชาชาติสรุปความเป็นไปที่เกิดขึ้นนี้ว่า ภาวะโลกร้อนกำลังแสดงฤทธิ์เดชหายนะทางธรรมชาติมากขึ้นและถี่ขึ้น



ปากีสถานเป็นตัวอย่างของชาติที่เผชิญสถานการณ์ "ไม่ทันรับมือ" กับภัยพิบัติทางธรรมชาติ

หลังจากกลุ่มผู้ประสบภัยพายุไซโคลนทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้กว่าพันคน ชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ไม่ให้ความช่วยเหลือเต็มที่ จนปะทะกับตำรวจปราบจลาจลเป็นเหตุการณ์วุ่นวายซ้ำ



พายุฤดูร้อนที่พัดผ่านปากีสถานก่อผลกระทบต่อประชาชนแล้วกว่า 1.1 ล้านคน

มีผู้เสียชีวิตเพราะพายุไซโคลนไปแล้วเกิน 250 ราย โดยสัปดาห์นี้ ปากีสถานถูกพายุไซโคลนลูกใหม่ชื่อเยมยิน ซัดถล่มเข้ามายังชายฝั่งทะเลบริเวณจังหวัดบาลูชิสถาน

ยังดีที่ทางการสั่งอพยพประชาชนกว่า 120,000 คนขึ้นไปอยู่บนที่สูง ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตยังอยู่ที่หลักสิบ

แต่เขตที่เดือดร้อนหนัก คือเขตที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัย ติดกับอัฟกานิสถาน ซึ่งเกิดเหตุโคลนถล่มและน้ำท่วมหนัก ทำลายพื้นที่ไร่นา

วิถีชีวิตของผู้ประสบภัยเหล่านี้ล้วนต้องเผชิญความยากลำบากยิ่งขึ้น



สำหรับยุโรป กรีซเจอกับคลื่นความร้อนติดต่อกัน 8 วัน กินเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์

อุณหภูมิ 46.2 องศาเซลเซียสที่กรุงเอเธนส์ เมื่อวันอังคารที่ 26 มิ.ย. ทำสถิติสูงสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมาตั้งแต่ปี 2498 มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10 ราย

ความร้อนยังทำให้เกิดไฟป่าลุกลามในหลายพื้นที่ของประเทศ หน่วยดับเพลิงต้องระดมกำลังพิเศษป้องกันไฟลุกลามเข้าเมืองหลวง

ส่วนที่โรมาเนีย มีผู้เสียชีวิตเพราะคลื่นร้อนไปไม่ต่ำกว่า 30 ราย อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียสที่กรุงบูคาเรสต์ ทำสถิติเป็นวันที่ร้อนที่สุด

ประเทศข้างๆ กัน ที่บัลแกเรีย อุณหภูมิ 43 องศาเซลเซียส เป็นสถิติสูงที่สุดในรอบศตวรรษของประเทศ ในวันอังคารวันเดียว พลเมืองใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่สูงถึงร้อยละ 70 จากที่เคยใช้ในช่วงฤดูหนาว



ด้านอังกฤษเผชิญกับฝนตกหนักติดต่อกันจนเกิดน้ำท่วมสูงทางภาคเหนือ สนามฟุตบอลในเมืองเชฟฟิลด์จมอยู่ใต้บาดาล ส่วนชาวบ้านในแถบยอร์กเชียร์ต้องอพยพจากบ้านเรือนกว่า 700 คน

กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า เดือนมิถุนายนของปีนี้เป็นช่วงเวลาเปียกเร็วที่สุดกว่าทุกๆ ปี



นายซัลวาโน บริเซโร ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นานาชาติเพื่อลดหายนะแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในเอเชียและยุโรป รวมถึงคลื่นความร้อนทางเขตตอนใต้ของยุโรป ล้วนตอกย้ำว่า ประชาคมโลกต้องรีบหาทางรับมือจากผลกระทบของความแปรปรวนทางอากาศ

"ฝนตกหนักรุนแรงในปากีสถานและอินเดีย รวมถึงภาคเหนือของอังกฤษ คลื่นร้อนที่ประเทศกรีซ อิตาลี และโรมาเนีย เป็นดัชนีที่บอกว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดถี่ขึ้นและแรงขึ้นทั่วโลก อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน เราไม่มีเวลามามัวตกตะลึงอีก เพราะรู้แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นต้องเร่งหาทางรับมือจะดีกว่า"

หน่วยงานของสหประชาชาติพยายามกระตุ้นให้รัฐบาลชาติต่างๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นในนโยบายลดความเสี่ยงหายนะทางธรรมชาติ และเพิ่มบุคลากรที่จะรับมือกับภัยพายุมรณะ อุทกภัยและคลื่นความร้อนมากขึ้น

มาตรการที่ควรมีไว้รองรับ ได้แก่ การตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า สร้างสถานที่พักพิงชั่วคราวเมื่อเกิดน้ำท่วม คุ้มกันความปลอดภัยของอาคารสำคัญ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ระบบไฟฟ้า ประปา และเส้นทางขนส่ง

"เราไม่ได้จะทำให้ผู้คนหวาดกลัว แต่ต้องการกระตุ้นให้รีบป้องกันความเสี่ยง จะได้ลดเหตุการณ์หายนะลง ซึ่งนี่ควรจะเป็นภารกิจทางการเมืองระดับต้น" นายบริเซโน กล่าว



มาถึงนาทีนี้ ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ประเด็นธรรมชาติโดดๆ แต่ยังแฝงการเมืองในระดับเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

ในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกว่าด้วยสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ที่สิงคโปร์ นายนอร์ โมฮัมเหม็ด ยาคอป ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังมาเลเซียกล่าวว่า ชาติอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ว่า กำลังทำตัวเป็น "จักรวรรดินิยมเขียว"

โดยชาติเหล่านี้จะหยิบยกประเด็นโลกร้อนขึ้นมาโจมตีประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ว่าเป็นตัวการก่อปัญหาโลกร้อน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

ทั้งที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในจีนและอินเดียส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นกิจการของนายทุนจากสหรัฐ ญี่ปุ่น และชาติกลุ่มยุโรปที่แห่กันไปตั้งโรงงานปล่อยมลพิษ แล้วย้อนกล่าวหาชาติเอเชียว่าเป็นตัวการทำให้โลกร้อน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังมาเลเซียกล่าวเตือนว่าชาติอุตสาหกรรมต้องเลิกพฤติกรรมมือถือสากปากถือศีลเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน

เพราะถึงอย่างไรการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันในระดับนานาชาติ

 

www.waddeeja.com

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

หวัดดีจ้า.

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-07-01 11:16:49 IP : 124.121.139.25


ความคิดเห็นที่ 13 (1043913)

เฝ้าระวังโลกร้อนกระทบ "พันธุกรรมเชื้อโรค" เปลี่ยน


สุจิณณา กรรณสูต sujinna.k@ku.ac.th



ความวิตกเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนนอกเหนือจากการคาดการณ์ถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นทำให้พื้นที่ชายฝั่งและเกาะต่างๆ ในหลายประเทศอาจมีพื้นที่บางส่วนหายไป ยังมีความวิตกหนึ่งที่สำคัญเช่นกันคือ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของเชื้อโรคที่แพร่ระบาดทั้งในคนและสัตว์ โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ทนทานและไวต่อการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น เชื้อไวรัส จึงเป็นหนึ่งในเชื้อโรคที่ควรเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะไวรัสเป็นจุลชีพขนาดเล็กที่ไม่ใช่เซลล์ จึงมีโครงสร้างพื้นฐานไม่ซับซ้อน ประกอบด้วย สารพันธุกรรม 2 แบบ ซึ่งอาจเป็น DNA หรือ RNA และโปรตีนที่ห่อหุ้มสารพันธุกรรม พบว่า ไวรัสบางสายพันธุ์มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และความร้อนสูง อาทิ ไวรัส กลุ่มพ็อกไวรัส (Poxvirus) ซึ่งมีหลายชนิดที่ก่อโรคทั้งในสัตว์ปีก สัตว์มีกระดูกสันหลังหลายชนิด รวมทั้งคน เช่น วาริโอลา ไวรัส (Variola virus) ซึ่งมีสารพันธุกรรม เป็น DNA เป็นเชื้อก่อโรคฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) ที่ระบาดในอดีต

จากข้อมูลการวิจัยใน ปี 2007 โดย ภาควิชา Molecular Genetics and Microbiology มหาวิทยาลัยฟลอริดา เกี่ยวกับไวรัส กลุ่ม Poxvirus อีกชนิดหนึ่ง คือ วัคซิเนีย ไวรัส (Vaccinia virus) สายพันธุ์ Cts9 ซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์ ที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ทำให้เบสบน DNA ถูกตัดออก 2 ตัว (ในตำแหน่งยีน A28 ที่เกี่ยวกับการสร้างโปรตีน A28 ของไวรัส) ทำให้เกิดการย้ายกรดอะมิโน cysteine ไปอยู่ใกล้ C-terminus (carboxyl-terminus) ของโครงสร้างของโปรตีนดังกล่าว ทำให้ไวรัส vaccinia virus สายพันธุ์กลายพันธุ์ Cts9 มีลักษณะที่ไม่สามารถติดต่อเข้าสู่เซลล์สิ่งมีชีวิตได้ แต่ไวรัสดังกล่าวสามารถรวมกับเซลล์สิ่งมีชีวิตได้ที่ อุณหภูมิ 31 องศาเซลเซียส ในสภาพ pH ที่ไม่ต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพอากาศที่แปรปรวนจากภาวะโลกร้อน ทำให้บางบริเวณมีสภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำ และแห้ง รวมทั้งมีความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจเป็นเหตุให้เชื้อไวรัสบางชนิดอาจปรับโครงสร้างทางพันธุกรรมใหม่ หรือกลายพันธุ์ (mutation) ได้ด้วยตนเอง เพื่อปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศดังกล่าวได้

ประกอบกับความอ่อนแอของร่างกายสิ่งมีชีวิตที่ไวรัสเข้าไปอาศัย จนอาจมีปริมาณและความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น และการแพร่ระบาดอาจยาวนานขึ้นและเชื้อโรคบางชนิดอาจกลับมาแพร่ระบาดได้อีก

สำหรับประเทศไทย มีการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งมีสารพันธุกรรม เป็น RNA โดยจากการสัมมนาวิชาการไข้หวัดนก (AI Symposium) ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนด้านการวิจัย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าผลการตรวจวิเคราะห์ในปี 2007 พบ ไวรัส H5N1 สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นที่ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งต่างจากสายพันธุ์เดิมที่พบที่จังหวัดพิษณุโลก

จากความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกและการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคเป็นสิ่งใกล้ตัวที่มนุษยชาติต้องมีการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อการรับมือกับโรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นและรุนแรงมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

www.waddeeja.com

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-07-10 13:00:58 IP : 124.121.138.26


ความคิดเห็นที่ 14 (1047223)

ผวจ.เมืองกรุงเก่าเข้ม 2 มาตรการลดโลกร้อน



นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผวจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น หรือ ภาวะโลกร้อน ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งโลก จ.พระนครศรีอยุธยา ตระหนักถึงสภาวะดังกล่าวและเพื่อเป็นการสนองกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะนี้กำชับไปยังหน่วยงานต่างๆ ในภาคราชการเพิ่มความเข้มออกรณรงค์ สร้างจิตสำนึกให้องค์กรและประชาชน ช่วยกันประหยัดพลังงานสาเหตุใหญ่ที่ทำให้โลกร้อน เนื่องจากในกระบวนการผลิตพลังงาน อย่างไฟฟ้า ก่อให้เกิดความร้อนเพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล การประหยัดน้ำมัน ลดการใช้รถยนต์ หยุดการเผาผลาญน้ำมัน นอกจากจะเป็นการประหยัดพลังาน ประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นการลดความร้อนด้วย ขณะนี้รณรงค์ให้ภาคราชการและภาคเอกชนปลูกไม้ยืนต้นให้เพิ่มมากขึ้น

นายเชิดพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการที่สอง ที่กำลังดำเนินการคือการเก็บกักน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอ หรือหาพื้นที่เก็บกักน้ำในช่วงฤดูกาลน้ำไหลหลาก ซึ่งจ.พระนครศรีอยุธยาไม่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่จะเก็บกักน้ำ ต้องนำโครงการแก้มลิงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปรับใช้ โดยจะให้องค์กรท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณจัดแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วไปทำโครงการแก้มลิงที่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง และสามารถเป็นแหล่งน้ำไว้รองรับน้ำกรณีน้ำเหนือไหลหลาก

 

www.waddeeja.com

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ


ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-07-12 23:03:47 IP : 124.121.138.91


ความคิดเห็นที่ 15 (1053556)

ภาวะโลกร้อน

-

ภาวะโลกร้อนภายในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 มานี้ ได้มีการบันทึกถึงปีที่มีอากาศร้อนที่สุดถึง 3 ปีคือ ปี พ.ศ. 2533, พ.ศ.2538 และปี พ.ศ. 2540 แม้ว่าพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีความไม่แน่นอนหลายประการ แต่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้เปลี่ยนหัวข้อจากคำถามที่ว่า "โลกกำลังร้อนขึ้นจริงหรือ" เป็น "ผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้นจะส่งผลร้ายแรง และต่อเนื่องต่อสิ่งที่มีชีวิตในโลกอย่างไร" ดังนั้น ยิ่งเราประวิงเวลาลงมือกระทำการแก้ไขออกไปเพียงใด ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะยิ่งร้ายแรงมากขึ้นเท่านั้น และบุคคลที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ ลูกหลานของพวกเราเอง

 

จากการทำงานของคณะกรรมการของรัฐบาลนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีองค์การวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เฝ้าสังเกตผลกระทบต่างๆ และได้พบหลักฐานใหม่ที่แน่ชัดว่า จากการที่ภาวะโลกร้อนขึ้นในช่วง 50 กว่าปีมานี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในทุกหนทุกแห่ง ประมาณ 1.4-5.8 องศาเซลเซียส.

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ ความแห้งแล้งอย่างรุนแรง วาตภัย อุทกภัย พายุฝนฟ้าคะนอง พายุทอร์นาโด แผ่นดินถล่ม และการเกิดพายุรุนแรงฉับพลัน จากภาวะอันตรายเหล่านี้พบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ที่เสี่ยงกับการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่าพื้นที่ส่วนอื่นๆ ยังไม่ได้รับการเอาใจใส่และช่วยเหลือเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่า การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น เป็นเหตุให้ปริมาณผลผลิตเพื่อการบริโภคโดยรวมลดลง ซึ่งทำให้จำนวนผู้อดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นอีก 60-350 ล้านคน

 

ในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ มีโครงการพลังงานต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น และการดำเนินงานของโครงการเหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์วิทยาอย่างเห็นได้ชัด ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละช่วงได้เปลี่ยนแปลงไป การบุกรุกและทำลายป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ การสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิของน้ำทะเล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศน์วิทยาตามแนวชายฝั่ง และจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนสีของน้ำทะเล ดังนั้น แนวปะการังต่างๆ จึงได้รับผลกระทบและถูกทำลายเช่นกัน

 

ประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีชายฝั่งทะเล ที่มีความยาวประมาณ 2,490 กิโลเมตร และเป็นแหล่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และความไม่แน่นอนของฤดูการที่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม มีการคาดการณ์ว่า หากระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 1 เมตรภายในทศวรรษหน้า หาดทรายและพื้นที่ชายฝั่งในประเทศไทยจะลดน้อยลง สถานที่ตากอากาศชายทะเล รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พัทยา และ ระยองจะได้รับผลกระทบโดยตรง แม้แต่กรุงเทพมหานคร ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากผลกระทบของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนี้เช่นกัน

 

ปัญหาด้านสุขภาพ ก็เป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เนื่องจากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของยุ่งมากขึ้น ซึ่งนำมาสู่การแพร่ระบาดของไข้มาเลเรียและไข้ส่า นอกจากนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับน้ำ เช่น อหิวาห์ตกโรค ซึ่งจัดว่าเป็นโรคที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโรคหนึ่งในภูมิภาคนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง จากอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น คนยากจนเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงนี้ ประกอบกับการให้ความรู้ในด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ดี ยังมีไม่เพียงพอ

 

ปัจจุบันนี้สัญญาณเบื้องต้นของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ได้ปรากฏขึ้นอย่างแจ้งชัด ดังนั้น สมควรหรือไม่ที่จะรอจนกว่าจะค้นพบข้อมูลมากขึ้น หรือ มีความรู้ในการแก้ไขมากขึ้น ซึ่ง ณ เวลานั้นก็อาจสายเกินไปแล้วที่จะแก้ไขได้

 

www.waddeeja.com

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-07-16 19:18:23 IP : 124.121.141.130


ความคิดเห็นที่ 16 (1069294)
ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2007-07-20 12:21:29 IP : 124.121.138.170


ความคิดเห็นที่ 17 (1182105)
ผู้แสดงความคิดเห็น _ ›ำ^๖ฝขถ จ วันที่ตอบ 2007-09-26 12:51:33 IP : 203.146.127.172


ความคิดเห็นที่ 18 (1182410)

นายกฯเรียกร้องเวทียูเอ็น ร่วมต่อจิ๊กซอว์แก้โลกร้อน

นายกฯเรียกร้อง ปท.ที่ปลูกข้าวร่วมกันทำวิจัยพัฒนาก๊าซมีเทน สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้านที่ประชุมยูเอ็นให้ร่วมกันหาทางแก้โลกร้อนเป็นรูปธรรม ตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นจริง


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การประชุมระดับสูงว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ที่สำนักงานองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนให้ผู้นำชาติต่างๆ ของโลกร่วมกันมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรับมือกับภาวะโลกร้อนโดยนายบัน คี มุน เลขาธิการยูเอ็น ระบุว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้นและแรงกดดันทางการเมืองก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสนธิสัญญาสภาพอากาศประจำปี ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งประเทศต่างๆ จะมีการเจรจากันเพื่อบรรลุข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ที่จะนำมาใช้แทนพิธีสารเกียวโต ซึ่งจะหมดอายุลงในปี 2555

พิธีสารเกียวโตซึ่งลงนามโดย 175 ประเทศ กำหนดให้ประเทศอุตสาหกรรม 36 ชาติ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง เฉลี่ย 5% จากระดับที่เคยปล่อยเมื่อปี 2533 ให้ได้ภายในปี 2555 ซึ่งสหรัฐปฏิเสธที่จะลงนาม โดยอ้างว่าจะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐพัง และระบุว่าควรบังคับใช้กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดียด้วย นอกจากนี้สหรัฐยังเห็นด้วยกับวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจมากกว่า

การประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากประเทศต่างๆ มากกว่า 150 ชาติเข้าร่วม โดยในจำนวนนี้กว่า 80 ราย เป็นระดับผู้นำประเทศ แต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช แห่งสหรัฐ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแต่อย่างใด โดยบุชวางแผนที่จะจัดการประชุมเรื่องโลกร้อน ที่กรุงวอชิงตัน ในวันที่ 27 และ 28 กันยายนนี้ โดยจะเชิญเฉพาะ 16 ชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ซึ่งรวมทั้งจีนและอินเดีย ขณะที่ตัวแทนของบุชที่เข้าร่วมประชุมยูเอ็น คือนางคอนโดลีซซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวในที่ประชุมว่าการประชุมโลกร้อนที่สหรัฐจะจัดขึ้นนั้นเป็นการแสดงจุดยืนของสหรัฐที่ต้องการช่วยเหลือยูเอ็นในการทำให้แนวทางดังกล่าวคืบหน้าต่อไป

ประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี่ แห่งฝรั่งเศส ในฐานะตัวแทนของอียูกล่าวต่อที่ประชุมว่า "ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่จะต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 50% ภายในปี 2593"

ก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 8% ตามข้อกำหนดในพิธีสารเกียวโตได้ยินยอมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีกอย่างน้อย 20% ภายในปี 2563 เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้ทั่วโลกหันมาร่วมมือกัน

ขณะที่อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า หลายๆ รัฐของสหรัฐยินดีที่จะจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่ารัฐบาลของบุชจะไม่เห็นดีเห็นงามด้วย โดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้มีการผ่านร่างกฎหมายที่บังคับให้ภาคอุตสาหกรรมของรัฐต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ประมาณ 25% ภายในปี 2563

ด้านอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐและนักเคลื่อนไหวต่อสู้กับโลกร้อนคนสำคัญได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ผู้นำชาติต่างๆ ทั่วโลกมีการประชุมกันในเรื่องโลกร้อนทุกๆ 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่ปีหน้าจนกว่าจะได้แนวทางที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาโลกร้อน

ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมในหัวข้อ "อนาคตในมือเรา : ความท้าทายของผู้นำต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" มีใจความสำคัญว่า ไม่มีใครปฏิเสธว่าทุกวันนี้เราต่างดิ้นรนต่อสู้กับความแปรปรวนของสภาวะอากาศ และภัยธรรมชาติที่โหดร้าย ภัยพิบัติที่เกิดจากอากาศและปรากฏการณ์ธรรมชาติในส่วนต่างๆ ของโลก เป็นสัญญาณจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ในการเผชิญหน้าของความท้าทายดังกล่าว สหประชาชาติมีอนุสัญญากรอบการดำเนินการของสหประชาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งได้บรรจุหัวข้อ "ร่วมกัน แต่รับผิดชอบที่ต่างกัน" ความพยายามของแต่ละประเทศเป็นเหมือนภาพจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งของโลก ซึ่งถ้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งหายไป ภาพก็จะไม่สมบูรณ์

พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย กำลังดำเนินการกับปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการกัดเซาะตามชายฝั่ง ด้วยการสร้างแนวรั้วบริเวณชายฝั่ง และฟื้นฟูป่าชายเลน นอกจากนี้ ยังต้องแก้ปัญหาวงจรอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ด้วยการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมภูมิคุ้มกันตนเองและการสร้างความเข้มแข็งเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายนั้น ด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาด้วย และในปี 2550 ไทยได้เริ่มแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยครอบคลุมทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การบรรเทาปัญหาก๊าซเรือนกระจก การวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกันไทยยังส่งเสริมการใช้พลังงานใหม่ๆ และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นว่าเชื้อเพลิงธรรมชาติยังคงมีบทบาทสำคัญในการผสมผสานพลังงานของประเทศกำลังพัฒนาในสองทศวรรษหน้า ดังนั้น ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จำเป็นต้องรักษาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยเปลี่ยนการใช้คาร์บอนเทคโนโลยีราคาต่ำ ไปใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและทันสมัยขึ้น

"ในฐานะผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ ไทยจึงเรียกร้องให้ประเทศผู้ปลูกข้าวและสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลายได้เน้นกิจกรรมการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีการลดก๊าซมีเทน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตและมีเมล็ดข้าว เพื่อรองรับประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและสร้างเสริมความมั่นคงของอาหารโลก" พล.อ.สุรยุทธ์กล่าว

www.waddeeja.com

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย วันที่ตอบ 2007-09-26 17:09:55 IP : 124.121.138.233


ความคิดเห็นที่ 19 (1187356)

เอแบคโพลล์ เผยคนไทยตื่นตัวต่อสภาวะโลกร้อน

ชี้สาเหตุสำคัญมาจากการตัดไม้ทำลายป่า

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “สำรวจความตื่นตัวของประชาชนต่อสภาวะโลกร้อน และผลกระทบต่อประเทศไทย” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกระดับชั้นของสังคม ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ 4 จังหวัด จำนวน 2,191 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่   21-29 กันยายน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตื่นตัวกับภาวะโลกร้อน โดยร้อยละ 97.1 เคยได้ยินหรือรับทราบเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นการรับทราบผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาโลกร้อน พบว่าอันดับแรก คือ การตัดไม้ทำลายป่า คิดเป็นร้อยละ 98.4 รองลงมา ไอควันเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน คิดเป็นร้อยละ 97.6 ไอควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 96.5 ท่อไอเสียจากรถยนต์ คิดเป็นร้อยละ 91.0 และการใช้ไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลือง คิดเป็นร้อยละ 89.9 ตามลำดับ

ส่วนผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน และส่งผลต่อประเทศไทยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 97.8 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรง รองลงมาคือ มีผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคได้รับความเสียหาย เช่น ไฟฟ้า เส้นทางคมนาคม สุขภาพประชาชน สัตว์และพืชตามป่าชายเลนล้มตาย รวมทั้งกระทบต่อการทำมาหากินของประชาชนลำบากขึ้น กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 รู้สึกวิตกกังวลต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงจนที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย และผลผลิต คุณภาพทางการเกษตรลดลง นอกจากนี้ อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการลดภาวะโลกร้อนเพิ่มเติม

 

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย วันที่ตอบ 2007-09-30 20:57:09 IP : 124.121.136.105


ความคิดเห็นที่ 20 (1205608)
ภาวะโลกร้อน

ภาวะโลกร้อน
 
ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์อังกฤษพบว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ กำลังทำให้ระดับความชื้นในอากาศสูงขึ้น เสี่ยงทำให้ฤดูฝนเคลื่อนหรือรุนแรงขึ้น รวมทั้งพายุโซนร้อนรุนแรงขึ้นและผู้คนไม่สบายเพราะสภาพอากาศร้อน ผลการศึกษาของหน่วยวิจัยสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย ระบุว่า ระหว่างปี 2519-2547 ผิวโลกมี   อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.49 องศาเซลเซียส ระดับไอน้ำในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มร้อยละ 2.2 ผลการศึกษาคาดว่า ระดับความชื้นของโลกอาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ภายในปี 2643

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย วันที่ตอบ 2007-10-15 19:40:59 IP : 124.121.138.81


ความคิดเห็นที่ 21 (1249549)

ชาวกทม.ผู้สร้างภาวะโลกร้อนอันดับต้นของโลก

ทุกวันนี้ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศปีละ 172 ล้านตัน ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน

กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุดในประเทศนี้ มากกว่ามหานครใหญ่ๆ ของโลกเสียอีก

ตามสถิติของทางกรุงเทพมหานครได้บอกว่า ชาว กทม.ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงปีละ 7.3 ตัน/คน/ปี มากกว่าชาวนิวยอร์กที่ปล่อย 7.1 ตัน/คน/ปี ชาวลอนดอน 5.9 ตัน/คน/ปี และชาวโตเกียว 5.7 ตัน/คน/ปี

จะเรียกว่าแต่ละปีคนกรุงเทพฯ เป็นคนสร้างปัญหาให้เกิดภาวะโลกร้อนอันดับต้นๆ ของโลก ก็ไม่ผิดนัก

ตัวเลขล่าสุดบอกว่า ร้อยละ 50 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ชาว กทม.ปลดปล่อยออกมานั้น มาจากการคมนาคมซึ่งพึ่งพาอาศัยรถยนต์ส่วนตัวมากกว่าการขนส่งมวลชน และร้อยละ 30 มาจากการใช้เครื่องไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยมีเครื่องปรับอากาศมาอันดับหนึ่ง

ขณะที่คนตามชนบทที่ไม่ค่อยสร้างปัญหาโลกร้อน ไม่ค่อยใช้รถยนต์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้ามากนัก กลับมีส่วนในการลดภาวะโลกร้อนมากกว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ว่าการใช้ชีวิตที่พอเพียง ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าคนเมือง ช่วยกันปลูกต้นไม้ ดูแลป่าในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้นไม้เป็นตัวการในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะโลกร้อนได้อย่างดีที่สุด

การประชุมของคณะกรรมการนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ IPPC ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์กว่า 2,500 จากทั่วโลก เพื่อทำงานสืบหาข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้รายงานว่า หากภายในปี 2020 มนุษย์ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้ประมาณร้อยละ 40 หายนะของทั้งโลกอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ

ทุกวันนี้อนุสัญญาพิธีสารเกียวโต ที่ประเทศสมาชิก 186 ประเทศ ร่วมลงนามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 5 ตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว ปัจจุบันก็ยังทำไม่สำเร็จเลย


การเปลี่ยนแปลงในภูมิอากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกๆ ปี ไม่ว่าการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก ฝนตกชุก พายุหมุนที่ถี่และรุนแรงขึ้น จนนักวิทยาศาสตร์ไม่อาจคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้อง จากข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย วันที่ตอบ 2007-11-11 18:18:01 IP : 124.121.142.210


ความคิดเห็นที่ 22 (1304259)

การประชุมภายใต้กรอบอนุสัญญาแม่บทของยูเอ็นว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เริ่มขึ้นแล้วที่บาหลี และหวังว่าเสร็จสิ้นการประชุมในวันที่ 14 ธ.ค.จะมีอะไรดีๆ ออกมาเพื่อช่วยพิทักษ์โลกเราไว้

 

 

เอเอฟพี / เอพี – เหล่าผู้แทนและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกร่วมการประชุมโลกร้อนครั้งใหญ่ที่สุด โดยยูเอ็นโต้โผใหญ่หวังเกิดกระบวนการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว และสร้างสนธิสัญญาสากลใหม่เพื่อต่อสู้กับภัยสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศให้ได้ภายในปี 2552
       
       
ผู้ร่วมประชุมจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก บวกกับนักรณรงค์และผู้สื่อข่าว รวมแล้วกว่า 10,000 คนตอนนี้ กำลังรวมตัวอยู่บนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และพวกเขาจะตั้งหลักอยู่นั่นถึง 11 วัน เพื่อร่วมการประชุมสหประชาชาติภายใต้กรอบอนุสัญญาแม่บทว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ระหว่างวันที่ 3-14 ธ.ค.50
       
       
การประชุมที่บาหลีในครั้งนี้ นับเป็นสุดยอดแห่งความร่วมมือในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่กำลังเข้าขั้นวิกฤติ โดยรายงานฉบับสุดท้ายอันเป็นสรุปสุดยอดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ก็จะมีการเปิดเผยกันในที่ประชุมแห่งนี้ พร้อมกับผลสรุปที่ว่าโลกเรามีเทคโนโลยีดีพอที่จะชะลอสภาวะโลกร้อน (global warming) แต่ต้องเดินหน้าอย่างเร่งด่วน
       
       
จุดหมายที่เร่งด่วนจากการประชุมครั้งนี้ ก็คือการเจรจาต่อรอเพื่อตั้งสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้นแทนที่พีธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ที่กำลังจะหมดอายุลงในปี 2555 โดยจะต้องกำหนดวาระและเส้นตาย ซึ่งสหประชาชาติเห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวจะต้องสรุปให้ได้ภายในปี 2552 จึงจะใช้งานต่อเนื่องจากพิธีสารเกียวโตได้ทันการณ์
       
       
อย่างไรก็ดี สหรัฐอเมริกาก็เป็นชาติที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษเช่นเคย และการปฏิเสธเข้าร่วมพิธีสารเกียวโตของพญาอินทรี อาจทำให้ถูกตัดออกจากการเจรจาสัญญาต่อจากนี้ ซึ่งอเมริกายังคงอ้างเช่นเดิมว่าการลดปริมาณการปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกตามข้อตกลงในพิธีสารนั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งยังตั้งคำถามต่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอปรากฏการณ์โลกร้อน
       
       
ทั้งนี้ หัวข้อถกเถียงส่วนใหญ่คือประเด็นการลดการปล่อยก๊าซก่อเรือนกระจกจะมากน้อยเท่าใดนั้นควรมีมาตรการบังคับ (อย่างในพิธีสาร) หรือตามความสมัครใจ (อย่างที่สหรัฐฯ ต้องการ) และควรจะหมายรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างจีน อินเดีย และบราซิล รวมเข้าไปด้วย อีกทั้งจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือประเทศยากจนให้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศที่เลวร้ายอย่างทุกวันนี้
       
       
ข้อมูลจากรายงานของไอพีพีซี ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก แนะนำว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ ที่เก็บกักความร้อนจนก่อสภาวะเรือนกระจกจะต้องมีการปลดปล่อยในปริมาณที่เสถียรภายในปี 2558 และจากนั้นหากลดลงไม่ได้ก็จะเกิดภาวะที่ร้ายแรง
       
       
การแก้ปัญหาที่ทำได้ในขณะนี้ตามข้อแนะนำของไอพีซีซีคือ ลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และถ้าไม่ทำอะไรเลย อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ (ซึ่งมากถึง 1 ใน 3) และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
       
       
ทว่าทั้งหมดนี้ต้องอาศัยนโยบายทางการเมืองของแต่ละประเทศเข้าช่วย
       
       
ตลอดระยะเวลาแห่งการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน รัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐฯ ส่งสัญญาณที่จะต่อรองความร่วมมือต่างๆ ตรงกันข้ามกับพิธีสารตลอดมา ทั้งๆ ที่ยูเอ็นต้องการให้พญาอินทรีให้ความร่วมมือ และการเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ เป็นวงใหญ่เมื่อดำเนินไปพร้อมกับรัฐบาลของออสเตรเลียที่มีนายจอห์น โฮเวิร์ดเป็นนายกรัฐมนตรี
       
       
แต่ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐฯ ต้องโดดเดี่ยว เพราะเควิน รัดด์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย ที่เพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งไปไม่กี่วัน นอกจากจะประกาศแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมพิธีสารเกียวโตแล้ว ในวันแรกของการประชุมที่บาหลี ผู้แทนของออสเตรเลียได้ลงนามในพิธีสารเป็นที่เรียบร้อย
       
       
พิธีสารเกียวโตเป็นข้อตกลงร่วมกันในประเทศที่ลงนามมากว่า 10 ปี โดยเรียกร้องให้ประเทศอุตสาหกรรม 36 ชาติลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซก่อเรือนกระจกอื่นๆ ที่มาจากโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมทั้งเกษตรกรรมและการคมนาคมให้ได้ภายในปี 2555 โดยเฉลี่ย 5% จากระดับในปี 2533

 

www.waddeeja.com

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย วันที่ตอบ 2007-12-07 12:16:23 IP : 124.121.137.147


ความคิดเห็นที่ 23 (1822404)

WGMS เผยธารน้ำแข็งละลายเร็วขึ้น 2 เท่า          16 มีนาคม 2551        

 

ผลการศึกษาโดยสำนักงานติดตามธารน้ำแข็งโลก (WGMS) ซึ่งสนับสนุนโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า จากการสำรวจธารน้ำแข็งกว่า 30 แห่งระหว่างปี 2547-2548 และ 2548-2546 พบว่า อัตราการละลายของธารน้ำแข็งโดยเฉลี่ยสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากสถิติประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปีเมื่อปี 2541
        ผลสำรวจระบุว่า การละลายของธารน้ำแข็งหลายแห่งเริ่มน่าวิตก โดยเฉพาะธารน้ำแข็งที่นอร์เวย์ซึ่งละลายไปถึง 3.1 เมตรในปี 2549 เทียบกับที่วัดได้ 0.3 เมตรเมื่อปี 2548 ขณะเดียวกันพบธารน้ำแข็งในทวีปยุโรปหลายประเทศที่เริ่มละลายเร็วอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ อย่างไรก็ดี พบด้วยว่าธารน้ำแข็งร้อยละ 4 ก่อตัวหนาขึ้น
        อีกด้านหนึ่ง นายอาชิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการ UNEP ระบุว่า ธารน้ำแข็งเป็นแหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อประชาชนหลายล้านคนทั่วโลก จึงเรียกร้องให้นานาประเทศหามาตรการลดก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโดยด่วนก่อนจะสายเกินไป

 

 * * * * * * * * * * * * * * * * *

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1603511617

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2008-03-16 16:06:01 IP : 124.121.137.171


ความคิดเห็นที่ 24 (2042678)

แงงงงงงงงงงงงงงง

ผู้แสดงความคิดเห็น poppy วันที่ตอบ 2008-04-05 20:04:47 IP : 222.123.225.167


ความคิดเห็นที่ 25 (2375277)

 

เจจีซีตั้งหอคอยตรวจก๊าซดูศักยภาพผืนป่าดูดซับก๊าซ........โลกร้อน

 

บัณฑิตพลังงานตั้งหอตรวจวัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหนือป่าราชบุรีวัดความสามารถของผืนป่าในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งพยากรณ์ความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่ม 1 องศาเซลเซียส

ผศ.ดร.อำนาจชิดไธสง หัวหน้าโครงการศึกษาการตั้งหอคอย เพื่อวัดธรรมชาติการแลกเปลี่ยนก๊าซเรือนกระจก เหนือระบบนิเวศป่าไม้ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (เจจีซี) กล่าวว่า โครงการต้องการศึกษาวงจรการปลดปล่อยและดูดกลับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก สำหรับการติดตามเฝ้าระวังภาวะโลกร้อน และหาวิธีการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

หอคอยที่ตั้งขึ้นนี้มีลักษณะเป็นเสาสูงขึ้นไปจากพื้นดิน10 เมตร ยอดหอคอยติดตั้งอุปกรณ์วัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเก็บข้อมูลการแลกเปลี่ยนก๊าซวินาทีละ 10 ครั้ง ครอบคลุมตั้งแต่การสังเคราะห์แสงของต้นไม้ (การดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ) การหายใจของต้นไม้ (การปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศ) รวมไปถึงการดึงก๊าซไปใช้สำหรับการหายใจของจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ 

โครงการหอคอยฯรับการสนับสนุนจาก 3 หน่วยงานคือ เจจีซี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโครงการเสริมสร้างความรู้ระบบโลก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) โดยศึกษาในพื้นที่ป่าเต็งรังประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร ภายใน มจธ. วิทยาเขตราชบุรี 

ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาคำนวณเพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของป่าไม้ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกหากต้นไม้สังเคราะห์แสงมากและกักเก็บก๊าซไว้ในรูปของเนื้อไม้มาก แสดงว่าต้นไม้ในป่าช่วยลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก นอกจากนี้ยังทำให้ทราบถึงความอ่อนไหวของระบบนิเวศเมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

"ยกตัวอย่างเมื่อภูมิอากาศหรือความชื้นเปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตจะหายใจดูดคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้มากเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร ข้อมูลที่ได้ยังนำไปใช้ทำนายความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งใช้ในแบบจำลองพยากรณ์ ซึ่งจะทำให้ทราบได้ทันทีว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 องศาเซลเซียส ป่าไม้จะดูด/ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร" ผศ.ดร.อำนาจกล่าว 

ทางโครงการเปิดกว้างรับความร่วมมือจากนักวิจัยที่ต้องการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดอื่นๆไว้บนหอคอย เช่น เครื่องวัดการสะสมของซัลเฟอร์ ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจนำไปใช้เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ และเป็นการเติมเต็มข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมไทยให้ครบถ้วน

 

* * * * * * * * * * * * * * * * *

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0305512026

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2008-05-03 20:14:54 IP : 124.121.141.63


ความคิดเห็นที่ 26 (2679241)

 

"คาร์บอน" จับเปลี่ยนเป็น "คาร์บอเนต"

ไซน์เดลี-นักวิทย์อังกฤษพบเทคโนโลยีใหม่สู้ "โลกร้อน" เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น "คาร์บอเนต" สารเคมีที่มีความต้องการสูงในอุตสาหกรรม โดยสามารถพัฒนากระบวนการที่ใช้พลังงาน ความร้อนและความดันน้อยกว่ากระบวนการที่เคยใช้
       
       
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (Newcastle University) สหราชอาณาจักร ซึ่งนำโดยไมเคิล นอร์ธ (Michael North) ศาสตราจารย์ทางด้านเคมีอินทรีย์บุกเบิกเทคโนโลยีใหม่เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก โดยได้พัฒนาวิธีที่ลดการใช้พลังงานสูงเพื่อเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในรูปคาร์บอเนต (carbonate)
       
       
ทีมวิจัยประมาณว่าเทคโนโลยีดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 48 ล้านตัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอังกฤษได้ประมาณ 4%
       
       
ทั้งนี้คาร์บอเนตถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมเคมีหลายๆ อย่าง อาทิ ผลิตเป็นตัวทำละลาย ใช้ในอุตสาหกรรมสี บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ นอกจากนี้คาร์บอนเนตยังใช้เป็นส่วนผสมของสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันปิโตรเลียมอีกด้วย โดยสารเพิ่มค่าออกเทนในน้ำมัน ช่วยให้การเผาไหม้น้ำมันได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เชื้อเพลิงและลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
       
       
เทคนิคการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอเนตนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา ระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์และอีพอกไซด์ (epoxide) ซึ่งเป็นสารอีเธอร์ (ether) ประเภทหนึ่ง เพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอเนต อันเป็นสารเคมีที่มีความต้องการสูงในเชิงพาณิชย์
       
       
ปฏิกิริยาระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับอีพอกไซด์เป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว และสิ่งที่รู้กันดีอีกอย่างหนึ่งคือ จำเป็นต้องใช้พลังงานปริมาณมากในปฏิกิริยานี้ อีกทั้งสภาวะในการเกิดปฏิกิริยายังต้องการอุณหภูมิและความดันที่สูงมาก โดยกระบวนการผลิตที่ใช้ในปัจจุบันต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงมาก อันเป็นต้นทุนในการผลิตที่สูงด้วย
       
       
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์นิวคาสเซิลประสบความสำเร็จในการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาที่มีความไวเป็นเยี่ยมจากอลูมิเนียม ซึ่งสามารถกระตุ้นปัจจัยที่จำเป็นในการทำปฏิกิริยาเพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นคาร์บอนเนต ได้ที่อุณหภูมิห้องและในความดันบรรยากาศปกติ รวมถึงลดอุณหภูมิที่ต้องใช้ในการทำปฏิกิริยาลงด้วย
       
       
ศ.นอร์ธกล่าวว่าหนึ่งในความท้าทายหลักทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 คือการควบคุมภาวะโลกร้อน ที่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ และหนึ่งในแก้ปัญหานี้คือการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ซึ่งหมายถึงการเพิ่มความเข้มข้นและบีบอัดคาร์บอนไดออกไซด์ลงในภาชนะกักเก็บ อย่างไรก็ดีการกักเก็บในระยะยาวจะได้รับการทดลองให้เห็นจริง
       
       
ปัจจุบันทางเลือกในการแก้ปัญหาเพื่อเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซ ด์ที่ถูกปลดปล่อยออกมาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้นั้น ต้องการพลังงานสูงมาก กลายเป็นว่ากระบวนการดังกล่าวก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่นำไปใช้ผลิตเป็นสารเคมีที่ต้องการ
       
       "
เพื่อให้เกิดความพอใจต่อคาร์บอเนตในการตลาดปัจจุบัน เราประมาณว่าเทคโนโลยีของเราสามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 18 ล้านตันต่อปี และอีก 30 ล้านตันหากนำไปใช้เป็นสารเพิ่มค่าออกเทน ซึ่งการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการนี้ 48 ล้านตันนั้นเทียบเท่ากับการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของอังกฤษประมาณ 4% ซึ่งค่อนข้างน่าพอใจสำหรับการมีส่วนร่วมของเทคโนโลยีหนึ่ง" ศ.นอร์ธกล่าว
       
       
พร้อมกันนี้ ศ.นอร์ธและทีมเตรียมที่จะเพิ่มศักยภาพประสิทธิภาพของเทคโนโลยี โดยการขยายขนาดของโรงงานต้นแบบ พร้อมกันนี้ทีมวิจัยยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยลงวารสาร "ยูโรเปียน เจอร์นัล ออฟ อินออร์แกนิค เคมิสทรี" (E***pean Journal of Inorganic Chemistry) ด้วย.

1705511042

 

* * * * * * * * * * * * * * * * *

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ วันที่ตอบ 2008-05-17 10:30:58 IP : 124.121.135.203


ความคิดเห็นที่ 27 (2904288)

 

UN ชวน ลดบริโภคเนื้อเพื่อลดโลกร้อน

 เอเอฟพี - ประชาชนควรลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เพื่อช่วยต่อสู้ภาวะโลกร้อน ผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสของยูเอ็นให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์อังกฤษในฉบับวันอาทิตย์ (7)
       
       
ราเชนทรา ปาเชารี ประธานคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) แห่งสหประชาชาติ กล่าวกับหนังสือพิมพ์ดิ ออบเซอร์เวอร์ว่า พลโลกควรเริ่มต้นด้วยการงดบริโภคเนื้อสัตว์ 1 วันในสัปดาห์ จากนั้นจึงค่อยลดลงเรื่อย ๆ
       
       
นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียวัย 68 ปี ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติบอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงอาหารที่คนเรารับประทานเข้าไป มีความสำคัญต่อการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่พอกพูนขึ้นจากการเลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์ชนิดอื่น
       
       
นอกจากนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างอื่น ๆ ที่แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ ก็จะช่วยต่อสู้ภาวะโลกร้อนเช่นกัน ปาเชารีกล่าว

* * * * * * * * * * * * * * * * *

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0809510949

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2008-09-08 09:49:56 IP : 124.121.139.117


ความคิดเห็นที่ 28 (3205830)
fake handbag for sale in addition composition the collection in retail how is the choice of hope you are charming handbag design and durability men"s gucci hats designer handbag replica louis vuitton ensure material
ผู้แสดงความคิดเห็น 1 (qaelav-at-ovi-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-25 00:13:43 IP : 125.121.215.19


ความคิดเห็นที่ 29 (3221150)
GHD MK4 curly hair straightener Permit your head of hair to angle for fifteen accounts and once more attain abiding your head of hair is absolutely dry You can dry your curly hair by itself or with curly hair dryer Accomplish abiding the hairdryer pointing straight down which can accept the aftereffect on hair follicles that would acquiesce them to point down and complete abiding your hair shine Research is an absolution or even a curse Of advance it is definitely an alloyed absolution on this break too for people with affection for look aided by the accession of ghd MK4 GHD MK4 hair adamant is absorbing and no agnosticism may be the absolution of research With the entire added role that has been an absolution to acclimatized the asparagus waves It truly is artlessly absurd and can"t be carried out unless of course you get one for you With numerous advantageous appearances has develop into the aboriginal very best for appearance aficionados The brand new larger technology is suggested to align your locks afterwards damage What is GHD MK4 curly hair adamant is success Able-bodied looking at the chump critiques which could admeasurements the acceptance of it What could be the affidavit for this kind of reputation In accordance to chump acknowledgment showed that humans achieved acclaim on your DVD MK4 ghd ghd straighteners be acutely advantageous to customers who"re accomplished together with the actual approach to attain an precise model Too the votes of barter for above superior articles or blog posts that motion GHD Hair Straighteners affliction head of hair additional safely afore and afterwards software the straightener All that is precise advantageous for those who carry out your head of hair extra commonly or you are able to say frequently
ผู้แสดงความคิดเห็น 1 (baxvos-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-11-01 16:28:24 IP : 125.122.102.4


ความคิดเห็นที่ 30 (3221161)
A history of GHD locks straighteners Do you would like the accomplished journey abaft ghd The grownup secrets of how an all-around super brand name was born Nicely aboriginal issues aboriginal afore we get agitated away let"s get a handful of details straight GHD is really a British corporation as well as additional as that itกฏs a Yorkshire corporation "Flippin" eck" we apprehend you say and you"d be correct Becoming a correct Yorkshire company the journey of ghd (or Jemella Ltd are they"re accepted on a Sunday) is according to harder strategy at t"forefront of all-around curly hair care All of it began if the blow of us were just accepting around our millennium celebrations Because the aggregate hangovers cleared several people have been acquainted that a anarchy was just demography place an insurgence inside the head of hair affliction apple that was to banish bad hair canicule for suitable and actualize a movement that will go on to become in time a new adoration for head of hair! When the aboriginal bowl locks straightening adamant was accustomed inside UK cipher obtained anytime obvious annihilation like ghd ghd straighteners it Being an ex-hairdresser to get a prime salon Robert Powls the guy who happened up this expense possession knew a lot if it came to head of hair Convinced he was assimilating a winner he and two business enterprise ally acquired the rights to your item alleged it the appropriate hair day locks straightener ("GHD") and started trading To activate with loads of hairdressers anticipation they had been badinage if they reply the GHD curly hair straightener with a retail amount of about $100! It really is genuinely could have an attempt!
ผู้แสดงความคิดเห็น 1 (nyntrs-at-163-dot-com)วันที่ตอบ 2010-11-01 16:35:22 IP : 125.122.102.4



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.