ReadyPlanet.com


คนพิการ รู้หรือไม่


พายุฤดูร้อนมาจากไหน ใครรู้บ้าง?

 

ช่วงนี้อากาศค่อนข้างแปรปรวน กลางวันร้อนตับแลบ เผลอแผล็บเดียวเมฆครึ้มตั้งเค้าทะมึนมาเสียแล้ว เพราะฉะนั้น ถึงจะเป็นฤดูร้อนก็อย่านอนใจว่าฝนจะไม่ตก และไม่แน่ว่าอาจเจอกับพายุฤดูร้อน ลูกเห็บถล่มเอาได้ง่ายๆ

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้เขียนเล่าเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และปรากฏการณ์รอบตัวให้อ่านกันง่ายๆ แต่ได้ความรู้มากมายไว้ในเวบบล็อก  http://gotoknow.org/blog/science/ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับฝนตก ฟ้าผ่า และพายุฤดูร้อนที่กำลังถล่มหลายจังหวัดในภาคอีสานอยู่ระหว่างนี้

 

เจ้าของบล็อก อธิบายความหมายให้ฟังว่า ในขณะที่อากาศบ้านเรากำลังร้อนอบอ้าวอยู่นั้น ถ้าบังเอิญอากาศเย็น หรือตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา เรียกว่า ความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ก็จะมีลมซึ่งแห้งและเย็นพัดจากจีนเข้าสู่ไทย ทำให้ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบนที่อยู่ใกล้กับจีนมากกว่าภาคอื่นๆ รับเอาลมแห้งและเย็นนี้ไปก่อน

แต่เนื่องจาก "อากาศผู้รุกราน" (ซึ่งแห้งและเย็น) มีลักษณะต่างจาก "อากาศเจ้าบ้าน" (ซึ่งร้อนและชื้น) อย่างมาก จึงทำให้อากาศในบริเวณที่ปะทะกันแปรปรวนอย่างรุนแรงและฉับพลัน โดยอากาศเย็น (ผู้รุกราน) ซึ่งหนักกว่าอากาศร้อนและชื้น (เจ้าบ้าน) จะจมลงต่ำและผลักดันให้อากาศร้อนและชื้นพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว

 

ไอความชื้นที่พุ่งสูงขึ้นไปจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ และเมื่อหยดน้ำรวมตัวกันมากเรื่อยๆ ก็จะกลายเป็นเมฆก้อนมหึมาที่เรียกว่า เมฆฝนฟ้าคะนอง

เมื่อเกิดเมฆฝนฟ้าคะนองก็มั่นใจได้เลยว่า จะเกิดทั้งพายุ ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่ากระหน่ำบริเวณนั้นอย่างพร้อมเพรียง และเผลอๆ อาจมีลูกเห็บแถมมาด้วย เพราะเมฆชนิดนี้เป็นเมฆชนิดเดียวที่ทำให้เกิดลูกเห็บได้

 

ส่วนบริเวณใกล้พื้นดินนั้น เนื่องจากอากาศลอยตัวขึ้นอย่างรุนแรง จึงมีอากาศไหลเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วเกิดเป็นพายุ สภาพลมฟ้าอากาศทั้งหมดนี้ คือ อาการของ พายุฤดูร้อน

 

เรื่องที่มักพูดกันอยู่บ่อยๆ อีกเรื่องหนึ่งเวลาเกิดฝนตกฟ้าร้อง ก็คือ ฟ้าผ่า และเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่า ถ้าฟ้าร้องฟ้าผ่าอย่าได้ไปยืนกลางแจ้ง กลางทุ่ง เพราะจะกลายเป็นสายล่อฟ้า

ดร.บัญชา ได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในบล็อกของเขาว่า "...ฟ้าผ่าเกิดจากการที่ประจุไฟฟ้าวิ่งจากก้อนเมฆลงมาที่พื้นดิน (หรือกลับกันก็ได้) ประจุไฟฟ้าอาจจะวิ่งอยู่ในก้อนเมฆ หรือวิ่งจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังเมฆอีกก้อนหนึ่ง ที่เรียกว่า ฟ้าแลบ..."

กรณีฟ้าผ่าจากเมฆสู่พื้นนั้นมีหลักการสำคัญอยู่ว่า สายฟ้ามักจะฟาดเปรี้ยงลงมายังจุดที่สูงที่สุดในบริเวณหนึ่งๆ ความจริงสายฟ้ามีโอกาสที่จะฟาดลงไปยังจุดอื่นๆ ที่ไม่ใช่จุดที่สูงที่สุดด้วยเช่นกัน แต่ยิ่งสูง โอกาสถูกถูกฟ้าผ่ายิ่งมาก

 

ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือ จุดที่สายฟ้าฟาดนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นโลหะ หรือตัวนำไฟฟ้าชั้นดีก็ได้ ฟ้าผ่ายอดต้นไม้สูงก็มีถมไป ในกลางทุ่งโล่งซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ไม่กี่ต้น สายฟ้ามักจะผ่าลงไปที่ต้นไม้ใหญ่ที่สูงที่สุด หรือในที่ที่มีบ้านเรือนอยู่ ฟ้าก็มักจะผ่าจุดที่สูงที่สุดของบ้าน ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้วิศวกรติดตั้งสายล่อฟ้าในส่วนที่สูงที่สุดของอาคาร

 

ยังมีเรื่องราวน่ารู้เชิงวิทยาศาสตร์อีกมาก สามารถติดตามอ่าน หรือร่วมแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ได้ที่ http://gotoknow.org/blog/science/

 

http://www.apdi2002.com/

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ :: วันที่ลงประกาศ 2007-05-07 21:39:59 IP : 124.121.140.156


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.