ReadyPlanet.com


คนพิการขาดโอกาส


คนพิการยังขาดโอกาส ด้านการแพทย์-การศึกษา-อาชีพ

วิจัยพบรัฐขาดรูปธรรมในการตระหนักเรื่องสิทธิและโอกาสคนพิการ ขาดมาตรการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ การศึกษา และการประกอบอาชีพ ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์ได้อย่างเพียงพอ ขาดระเบียบชัดเจนในการยืมใช้สื่อการเรียนการสอน ขาดหน่วยงานหลักเจ้าภาพติดตามการฟื้นฟูอาชีพที่ชัดเจน

 

รศ.ดร.จุไร ทัพวงษ์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "แนวทางการจัดบริการเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุในประเทศไทย" โดยระบุว่า ถึงแม้รัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิทธิและโอกาสของคนพิการ โดยมีการออก พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔ ขึ้น รวมทั้งกฎกระทรวงอีกหลายฉบับ แต่มาตรการของรัฐในเรื่องการนำนโยบายและกฎหมายไปสู่การปฏิบัติ ที่ผ่านมายังไม่เพียงพอ

 

เนื่องจากยังขาดแนวทางที่เป็นรูปธรรม และขาดมาตรการส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้ในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการแพทย์ การศึกษา และการประกอบอาชีพของคนพิการอย่างจริงจัง

ในด้านการแพทย์นั้น การให้บริการอุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์ มีองค์กรหลักเพียง ๒ องค์กร คือ ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยศูนย์สิรินธรฯ กำหนดรายการอุปกรณ์เครื่องช่วย ๕๘ รายการ และการให้บริการมี ๒ ทางเลือก ๑.) ให้อุปกรณ์เครื่องช่วยแก่คนพิการตามสิทธิของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ พ.ศ. ๒๕๓๔ และ ๒.) เป็นไปตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับทางเลือกที่ ๑ แต่ผู้พิการสามารถจะได้อุปกรณ์เครื่องช่วยในรูปแบบที่ผู้พิการพึงพอใจ แต่ต้องจ่ายร่วม หากราคาเกินกว่าราคากลาง ซึ่งทางเลือกที่ ๒ ยังไม่เป็นที่นิยมของผู้พิการ และศูนย์ฯ มีปัญหาเรื่องบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งมีผลกระทบต่อการให้บริการอุปกรณ์เครื่องช่วยอย่างทั่วถึงและครอบคลุมผู้พิการทุกประเภท ส่วน สปสช. กำหนดรายการอุปกรณ์เครื่องช่วย ๑๑๐ รายการ พร้อมราคากลาง หน่วยบริการหรือโรงพยาบาลต่าง ๆ จัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยตามรายการและราคาที่กำหนดให้แก่ผู้พิการ และขอเงินเบิกจ่ายจาก สปสช. แต่ สปสช. เพิ่งจะเริ่มเมื่อปี ๒๕๔๙ ระบบและวิธีการบริหารจัดการยังไม่มีความชัดเจนและล่าช้า ซึ่งต้องหาวิธีการบริหารจัดการให้ชัดเจนต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนพิการ และความเข้าใจของโรงพยาบาลที่มีต่อระบบ ระเบียบ ที่ สปสช.กำหนดไว้

 

สำหรับด้านการศึกษา มีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการทางด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กฎหมายกำหนด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานเดียวที่นำข้อกำหนดตามกฎหมายมาสู่ภาคปฏิบัติ ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการอย่างเป็นรูปธรรม แต่การให้บริการนั้นยังไม่สามารถให้บริการได้ครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย กล่าวคือ มีเพียงการขอรับเงินอุดหนุน เพื่อรับหรือซื้อสิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใด โดยใช้ระบบคูปองเท่านั้นที่เป็นรูปธรรม ส่วนในด้านการขอยืมสิ่งอำนวยความสะดวกและสื่อทางการศึกษานั้น ยังไม่มีระเบียบปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาการจัดสรรงบประมาณและบุคลากรให้เพียงพอต่อการให้บริการ รวมทั้งกำหนดระเบียบที่เอื้อต่อการปฏิบัติแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ด้านอาชีพ ซึ่งปัจจุบันกระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพของคนพิการในประเทศไทย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน ฉะนั้น ควรต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการรับผิดชอบดูแล ประสานงาน และติดตามคนพิการที่*** เพราะคนพิการแต่ละคนมีความต้องการ ความถนัด และปัญหาหรือข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

 

http://www.apdi2002.com/

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ :: วันที่ลงประกาศ 2007-08-06 19:48:53 IP : 124.121.142.249


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.