ReadyPlanet.com


คนพิการ - มะเร็ง


 

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma)

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) เป็นโรคมะเร็งที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟซัยท์ ซึ่งเพิ่มจำนวนและเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตเร็วมาก มักพบบริเวณต่อมน้ำเหลืองที่คอ รักแร้ และขาหนีบ แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดโรคฮ้อดกินส์ และมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกินส์ การแบ่งชนิดว่าเป็นชนิดใด ต้องอาศัยการตรวจเซลล์ทางพยาธิวิทยา ด้วยกล้องจุลทรรศน์ มะเร็งทั้งสองชนิดมีลักษณะการดำเนินโรค ความรุนแรง และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน จากลักษณะและชนิดของเซลล์มะเร็ง สามารถแบ่งออกเป็นเกรดต่ำถึงเกรดสูงตามความรุนแรงของโรค โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในคนไทยพบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 8 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ ส่วนมากพบในเด็กและวัยหนุ่มสาว การแพร่กระจายค่อนข้างช้า และมักจะแพร่กระจายไปตามอวัยวะข้างเคียง หากเป็นระยะแรก อาจให้การรักษาได้ทั้งวิธีฉายแสงและเคมีบำบัด สำหรับระยะที่เป็นมาก ก็ต้องใช้วิธีการให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ 62,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ชายร้อยละ 60 และเป็นผู้หญิงร้อยละ 40 ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮ้อดกิ้นส์ประมาณปีละ 25,000 คน
 

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ มักพบในผู้ใหญ่ ผู้ป่วยโรคเอดส์ และพบในคนไทยมากกว่าชนิดฮ้อดกินส์ แพร่กระจายค่อนข้างเร็ว ดังนั้นจึงต้องใช้เคมีบำบัดเป็นหลักในการรักษาไม่ว่าจะอยู่ในระยะใด และอาจต้องใช้การฉายแสงเข้าช่วยด้วยหากมีก้อนที่ใหญ่มาก ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ 286,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ชายร้อยละ 58 และเป็นผู้หญิงร้อยละ 42

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ แบ่งออกได้เป็น 30 ชนิดย่อย ถ้าอาศัยการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง อาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ชนิดค่อยเป็นค่อยไป มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้จะมีอัตราการแบ่งตัวของมะเร็งค่อนข้างช้า
  2. ชนิดรุนแรงและลุกลาม จะมีอัตราการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 6 เดือน- 2 ปี

การรักษาวิธีมาตราฐาน

  1. รังสีรักษา
  2. เคมีบำบัด
  3. สารชีวภาพ
  4. ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

รังสีรักษา

  1. การรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสี เรียกว่า radiation therapy
  2. รังสีรักษาเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็ง โดยใช้รังสีเอ็กซ์พลังงานสูง หรือรังสีชนิดอื่นๆ ทำลายเซลล์มะเร็ง หยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ปริมาณรังสีที่ใช้รักษาเพื่อมุ่งหวังให้หายขาด จะใช้ปริมาณ 6000-7500 cGy ทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่ง และขนาดของก้อนมะเร็ง โดยปกติจะฉายรังสีแก่ผู้ป่วยวันละ 180-200 cGy โดยฉาย 5 วันต่อสัปดาห์ ใช้เวลาทั้งสิ้น 6-8 อาทิตย์
  3. ปัจจุบัน นิยมใช้ทั้งวิธีรังสีรักษาชนิดภายนอก และวิธีรังสีรักษาชนิดภายใน
  4. รังสีรักษาชนิดภายนอกใช้เครื่องมือซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดรังสีชนิดที่อยู่ภายนอกร่างกาย ทำการฉายรังสีไปยังเซลล์มะเร็งในส่วนต่างๆของร่างกาย เครื่องฉายรังสี Cobalt-60 หรือ linear accelerators ที่มีพลังงาน 4-10 MV เครื่องฉายรังสีที่มีพลังงานสูงจะทำให้บริเวณใต้ผิวหนังได้รับรังสีน้อย จึงต้องระวังโดยเฉพาะเวลาฉายต่อมน้ำเหลือง ส่วนเครื่องฉายรังสีชนิดลำอิเลคตรอน มีประโยชน์มากในการรักษามะเร็งที่อยู่ตื้นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่คอ ปกติใช้ลำอิเลคตรอนในช่วงพลังงาน 6-20 MeV บางครั้งอาจจะใช้ลำอิเลคตรอนร่วมกับการฉายแสงชนิดเมกะโวลท์ เพื่อให้ได้ก้อนมะเร็งได้รับรังสีสม่ำเสมอและทั่วถึงตามที่ต้องการ
  5. ส่วนวิธีรังสีรักษาชนิดภายในเป็นการใช้สารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบของสอดไว้ในเข็ม ผลิตเป็นเม็ด ขดลวด หรือสายสวน แล้วฝังไว้ในก้อนมะเร็ง หรือฝังไว้ตำแหน่งที่ใกล้เคียง การใช้สารกัมมันตรังสีมีประโยชน์อย่างมากในการรักษามะเร็งเฉพาะที่ ทำให้บริเวณนั้นได้รับปริมาณรังสีสูง และอวัยวะใกล้เคียงได้ปริมาณรังสีต่ำ สารกัมมันตรังสีที่ใช้ เช่น Radium-226 หรือ Iridium-192 เป็นต้น
  6. การที่จะเลือกใช้วิธีใด แพทย์จะพิจารณาจากชนิดของมะเร็งและระยะของโรค สำหรับการวางขอบเขตบริเวณที่จะฉายรังสีด้วยเครื่องฉายรังสีจำลองก่อนผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีจริง จะต้องวางขอบเขตที่จะรับการฉายรังสีก่อน ควรจะใช้เครื่องฉายรังสีจำลองช่วย เพื่อให้มีความแม่นยำและขีดแนวเลเซอร์ทั้งด้านบนและด้านข้าง ไม่ให้ลบเลือน เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าเดิมตลอดเวลาการฉายรังสี

เคมีบำบัด

  1. การรักษาด้วยเคมีบำบัด เรียกว่า chemotherapy
  2. การใช้ยาเคมีบำบัดเป็นการรักษาหลักอย่างหนึ่งของโรคมะเร็ง โดยมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันตามชนิดของโรคและข้อบ่งชี้ ยาเคมีบำบัดแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แม้แต่ยาในกลุ่มเดียวกัน ก็มีการศึกษาและวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การใช้ยาเคมีบำบัดจึงควรจะมีความรู้ทางด้านยาโดยละเอียด
  3. วิธีการให้ยาเคมีบำบัดแบ่งเป็น 2 วิธี ได้แก่ ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน และยาเคมีบำบัดชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
  4. สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์บางราย อาจจำเป็นต้องได้รับเคมีบำบัดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเซลลมะเร็งเข้าไปในระบบประสาท
  5. ระยะเวลาของการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งที่ผู้ป่วยเป็นรวมทั้งผลการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วิเคราะห์แนะนำและกำหนดเวลา ตลอดจนเลือกยาที่ได้ผลดีที่สุดต่อผู้ป่วย
  6. ความถี่ของการให้ยาเคมีบำบัดแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสูตรยาที่ใช้และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น ทุกวัน ทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือน บางครั้งอาจต้องหยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ร่างกายมีเวลาพักและซ่อมแซมเซลล์ปกติให้แข็งแรงพอที่จะให้ยาครั้งต่อไปได้
  7. ผู้ป่วยบางรายอาจท้อแท้ เนื่องจากระยะเวลาอันยาวนานของการรักษา ถ้าหากมีความกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล แพทย์อาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแผนการรักษาให้เหมาะสมขึ้น
  8. ควรติดตามผลการรักษาเป็นระยะ โดยมาตรวจตรงตามแพทย์นัด ให้ยาตรงตามแผนการรักษา การได้ยาไม่ครบหรือระยะเวลาไม่ตรงกำหนด จะก่อให้เกิดผลเสียต่อการรักษา ถ้ามีเหตุจำเป็นที่จะต้องเลื่อนระยะเวลาการให้ยาควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนทุกครั้ง

สารชีวภาพ

  1. การรักษาด้วยสารชีวภาพ โดยทั่วไปนิยมเรียกว่า biologic therapy บางครั้งอาจมีผู้เรียกชื่ออื่นๆ ได้แก่ biotherapy และ immunotherapy ปัจจุบันได้รับการนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น Rituximab (Rituxan), Rituximab (Mabthera), Ibritumomab (Zevalin), Tositumomab (Bexxar), Epratuzumab (Lymphocide), Alemtuzumab (MabCampath)
  2. การรักษาด้วยสารชีวภาพเป็นวิธีการรักษาที่ใช้หลักการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของผู้ป่วยกำจัดหรือทำลายเซลล์มะเร็ง
  3. สารชีวภาพที่นำมาใช้อาจเป็นสารที่สร้างขึ้นในร่างกาย หรือเป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นในห้องปฏิบัติการ โดนสารชีวภาพออกฤทธิ์กระตุ้นและส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติ ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง
  4. การรักษาด้วยสารชีวภาพวิธีหนึ่งที่นิยมนำมาใช้รักษาโรคมะเร็ง เรียกว่า การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน (monoclonal antibody therapy) ซึ่งปัจจุบันได้นำมาใช้รักษาโรคมะเร็งตอมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิน โดยเป็นแอนติบอดีชนิดที่สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง
  5. แอนติบอดีชนิดโมโนโคลน มีความสามารถพิเศษในการจับกับเซลล์มะเร็ง หรือจับกับโปรตีนบางชนิดที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ช่วยหยุดยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
  6. แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอยู่ในรูปแบบยาหยดเข้าสู่ร่างกายทางหลอดเลือด
  7. อาจใช้โดยลำพัง หรือนำมาผสมกับสารอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์ ได้แก่ ยาบางชนิด สารพิษบางชนิด รวมทั้งสารกัมมันตรังสี
  8. แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนที่นำมารวมกับสารกัมมันตรังสี เรียกว่า แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนปิดฉลากสารเรืองแสง

ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

  1. วิธีติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เรียกว่า watchful waiting
  2. ถือเป็นวิธีมาตราฐานในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิ้นส์ เนื่องจากโรคนี้มีความหลากหลายของการดำเนินโรคค่อนข้างมาก การติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

การรักษาวิธีใหม่

  1. วัคซีน
  2. เคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการกลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

วัคซีน

  1. การรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีนเรียกว่า vaccine therapy
  2. ถือว่าเป็นแนวทางการรักษาวิธีใหม่ โดยใช้หลักทางชีวภาพกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเซลล์มะเร็ง

เคมีบำบัดขนาดสูงร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

  1. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด เรียกว่า high-dose chemotherapy with stem cell transplant
  2. หลักการของวิธีนี้ เป็นการทดแทนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในร่างกายผู้ป่วยหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เซลล์ต้นกำเนิดที่นำมาใช้อาจเป็นชนิดเซลล์ของผู้ป่วยเอง หรือเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้บริจาค ถ่าเป็นเซลล์ของผู้ป่วยเอง สามารถเก็บได้จากเลือดหรือไขกระดูก แล้วนำมาแช่แข็งเก็บไว้
  3. ภายหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง จึงนำเซลล์ต้นกำเนิดที่เก็บไว้มาให้ผู้ป่วยด้วยวิธีหยดเข้าทางหลอดเลือด
  4. เซลล์ต้นกำเนิดที่ให้กลับเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย สามารถเจริญเติบโตและทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดได้อย่างดี ช่วยให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จมากขึ้น
  5. การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง ร่วมกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ยังไม่ถือเป็นวิธีมาตราฐานในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮ้อดกิน จัดเป็นแนวทางการรักษาใหม่วิธีหนึ่งที่ผลการศึกษาวิจัยออกมาค่อนข้างดี

ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่หนึ่งและสองชนิดไม่รุนแรง

  1. ฉายแสงไปยังตำแหน่งของก้อนมะเร็งโดยตรง
  2. ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
  3. ฉายแสงไปยังตำแหน่งของก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
  4. เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสง

ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่หนึ่งและสองชนิดลุกลาม

  1. เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับรังสีรักษาที่บริเวณก้อนมะเร็ง
  2. การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน ร่วมกับเคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนานและสเตียรอยด์
  3. รังสีรักษาหากมีข้อบ่งชี้พิเศษ

ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่สอง สาม และสี่ ชนิดไม่รุนแรง

  1. ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด
  2. เคมีบำบัดร่วมกับสเตียรอยด์ หรือเคมีบำบัดอย่างเดียว
  3. เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับสเตียรอยด์
  4. การรักษาด้วยแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน ร่วมกับเคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน หรือแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนอย่างเดียว
  5. แอนติบอดีชนิดโมโนโคลนปิดฉลากสารเรืองแสง
  6. รังสีรักษาที่บริเวณก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงสำหรับโรคระยะที่สาม
  7. เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงทั้งตัว หรือแอนติบอดีชนิดโมโนโคลนปิดฉลากสารเรืองแสง ตามด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด
  8. เคมีบำบัดร่วมกับวัคซีน

ทางเลือกวิธีรักษาโรคระยะที่สอง สาม และสี่ ชนิดลุกลาม

  1. เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน
  2. เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับรังสีรักษา หรือแอนติบอดีชนิดโมโนโคลน
  3. เคมีบำบัดมากกว่าหนึ่งขนาน ร่วมกับรังสีรักษาป้องกันการแพร่กระจายไปที่ระบบประสาท
  4. การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในกรณีที่มีโอกาสที่โรคกลับเป็นซ้ำ

 

* * * * * * * * * * * * * * * * *

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1005511150

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ :: วันที่ลงประกาศ 2008-05-10 11:38:44 IP : 124.121.142.45


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.