ReadyPlanet.com


2 กุมภาพันธ์วันนักประดิษฐ์โลก


กษัตริย์นักประดิษฐ์

 (เนื่องในวันนักประดิษฐ์โลก)

2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวัน นักประดิษฐ์โลก

“….ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญมาก เมื่อตอนปี พ.ศ. 2500 พูดกันว่า เราไปลอกจากต่างประเทศมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิดที่จะจดทะเบียนสิทธิบัตร เราสามารถใช้อะไรจากต่างประเทศได้โดยไม่เสียค่าใช้สิทธิ การพูดอย่างนี้ไม่ถูก เป็นการดูถูกคนไทย...

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในโอกาสที่ นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสิทธิบัตร "เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ" ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม 2544

พระราชดำรัสของพระองค์ท่านในครั้งนั้น แสดงให้ชาวไทยและชาวโลกประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประดิษฐ์คิดค้นด้วยตนเอง และสะท้อนถึงสายพระเนตรอันยาวไกลในการเล็งเห็นถึงประโยชน์จากสิทธิบัตรในภาวะที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงทางเทคโนโลยีในโลกอนาคต

จากสายพระเนตรอันยาวไกล กอปรกับการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์เพื่อนำมาพัฒนาความเจริญสู่ประเทศไทยนี้เอง ทำให้เมื่อวันพุธที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา นายฟรานซิส เกอร์รี่ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization หรือ WIPO) ได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลโกลบอล ลีดเดอร์ อวอร์ด (Global Leader Award) ณ พระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

อาจกล่าวได้ว่า การที่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะพิจารณามอบรางวัลให้ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น เป็นการยากมาก เพราะจะต้องพิจารณาผลงานที่ผู้นั้นสร้างสรรค์ที่ยังประโยชน์ต่อโลก ซึ่งเหตุผลที่ WIPO ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลดังกล่าว เนื่องมาจาก ประการแรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศตนและใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาส่งเสริมและพัฒนาประเทศ รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก ประการที่สอง ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงเป็นนักคิดนักประดิษฐ์อย่างแท้จริง ที่การพัฒนางานต่างๆ ได้นำไปสู่ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งคุณสมบัติทั้งสองประการนั้นอาจกล่าวได้ว่ายากยิ่งนักที่จะรวมอยู่ในบุคคลคนเดียวกัน ด้วยเหตุนี้เองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลนี้เป็นพระองค์แรก

 

รางวัลจากองค์กรนานาชาติที่ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในครั้งนี้ มิใช่รางวัลแรก เพราะมีหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลและประกาศนียบัตรต่างๆ แด่พระองค์มาแล้วอย่างมากมายทั้ง สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (IFIA) ประเทศฮังการี ทูลเกล้าฯ ถวายประกอบด้วย ถ้วยรางวัล (IFIA CUP 2007) จากผลงาน กังหันน้ำชัยพัฒนาเหรียญ Genius Medal จากผลงาน "ทฤษฎีใหม่" และ "เศรษฐกิจพอเพียง" ส่วนสมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์แห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ (Korea Invention Promotion Association : KIPA) ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัล Special Prize พร้อมประกาศนียบัตร ซึ่งถือเป็นรางวัลทรงเกียรติของนักประดิษฐ์ในระดับโลก รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาด้านสิทธิบัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังมีอีกหลายอย่าง ทั้งเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ ฝนหลวง น้ำมันไบโอดีเซล อุปกรณ์ควบคุมผลักดันของเหลวหรือที่เรียกว่าเรือหางกุด รวมถึงผลงานสร้างสรรค์บทเพลงซึ่งพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นจำนวนมาก และยังมีผลงานด้านวรรณกรรมอีกหลายเรื่องที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้น อย่างพระมหาชนก นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นต้น

 

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ ของปวงพสกนิกรไทยในพระอัจฉริยภาพต่อหลากหลายผลงานที่ทรงประดิษฐ์คิดค้นนับร้อยๆ ชิ้น และจากพระราชกรณียกิจอันหาที่สุดมิได้นี้ ทำให้สหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (International Federal of Inventor Association: IFIA) ซึ่งมีสมาชิก 84 ประเทศทั่วโลก มีมติให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ทรงได้รับการจดสิทธิบัตรกังหันน้ำชัยพัฒนา จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นวันนักประดิษฐ์โลก

 

เนื่องในวันนักประดิษฐ์โลกนี้ เมื่อย้อนมองถึงผู้ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแต่ละปีจากข้อมูลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พบว่ารายงานตัวเลขปี พ.ศ. 2550 มีคนยื่นคำขอจดสิทธิบัตร 10,339 คำขอ และยื่นคำขอจดอนุสิทธิบัตรอีก 1,435 คำขอ ด้านประเภทงานลิขสิทธิ์ที่มีการขอจดแจ้งมากที่สุดในปี 2550 คือ งานด้านดนตรีกรรม รองลงมาคือ ศิลปกรรม และวรรณกรรม ซึ่งประเทศไทยได้เห็นถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยทุกปีจะมีการมอบรางวัลนักประดิษฐ์ไทย แก่นักประดิษฐ์ที่คิดค้นผลงานที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะชน เช่นในปี 2550 ได้มีการมอบรางวัล THE WIPO AWARD FOR THE BEST WOMAN INVENTOR ให้แก่นางสาวจรรย์พร พรหมประยูร และคณะ จากผลงานแป้นล็อคกึ่งอัตโนมัติสำหรับแขนเทียม (Quick Change Wrist Unit) ที่เป็นอุปกรณ์เสริมที่ใช้ประกอบกับอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้พิการทางแขน

 

เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยได้ให้ความสำคัญกับคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และการจดลิขสิทธิ์ รวมถึงสิทธิบัตรทางปัญญามากขึ้นในแต่ละปี และอาจกล่าวได้ว่าในหลวงของเรา ทรงเป็นต้นแบบให้ชาวไทยได้รู้จักกับคำว่าทรัพย์สินทางปัญญาอย่างแท้จริง ในการทำให้ประเทศไทยได้มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์มากขึ้น ซึ่งนอกจากเกิดประโยชน์ต่อผลงานประดิษฐ์คิดค้นแล้วยังเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไปอีกด้วย

 

หากแต่ท้ายที่สุดแล้วจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในผลงานประดิษฐ์ของพระองค์ท่าน ที่นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนาเพื่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขกับ พสกนิกรและยังความภาคภูมิใจให้แก่คนไทยทั้งประเทศแล้วนั้น ยังถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับนักประดิษฐ์ นักคิดรุ่นใหม่ๆ ที่มุ่งหวังในการพัฒนาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อประเทศชาติต่อไป หรืออาจกล่าวได้ว่า พระองค์ท่านเป็นแบบอย่างของพ่อแห่งแผ่นดินอย่างแท้จริง เพื่อให้ลูกอันหมายถึงปวงพสกนิกรชาวไทย ดำเนินตามรอยเท้าของพ่อเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืนและก้าวไกลในอนาคต สมดังพระราชสมัญญา พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก

- - - - - - - - - - - - - - - - - -            

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ                

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331            

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

3001521000



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-01-30 10:00:34 IP : 124.121.135.64


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (2970083)

"ครัวเพื่อคนตาบอด"

รับรางวัลจากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 กุมภาพันธ์ 2552

 

ครัวเพื่อคนตาบอด" ออกแบบมาเพื่อผู้พิการทางสายตารับรางวัลจาก "ไวโป" องค์กรทรัพย์สินทางปัญญา เป็นครัวพิเศษ ลบเหลี่ยม-ลบมุมป้องกันอันตรายแก่ผู้พิการทางสายตา มีต้นแบบจริงที่วิทยาลัยราชสุดา มหิดล ศาลายา ผู้ประดิษฐ์เผยทำครัวเพื่อผู้พิการ "วีลแชร์ควบคู่ด้วย แต่ยังขาดงบสร้างครัวจริง
       
       
วันสุดท้ายของการจัดงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2552 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.52 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี มีพิธีมอบรางวัลหลายรางวัล ทั้งรางวัลจาก วช.ที่่มอบให้กับสิ่งประดิษฐ์ที่นำมาจัดแสดงภายในงาน และรางวัลจากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) หรือไวโป (WIPO) ซึ่งได้ร่วมมอบรางวัล "ไวโปอะวอร์ด” (WIPO) ในงานนี้ด้วย
       
       
ทั้งนี้ "ห้องครัวสำหรับคนพิการทางการเห็น" ซึ่งเป็นผลงานพัฒนาร่วมกันระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ได้รับรางวัล "เบสต์ วูเมน อินเวนเตอร์ อะวอร์ด" (Best Woman Inventor Award) จากองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก
       
       
ผศ.ดร.เบญจมาศ กุฏอินทร์ อาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน แขนงวิชาวิจัยสภาพแวดล้อมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า ผลงานนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันกับวิทยาลัยราชสุดา ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2549 โดยจุดเริ่มต้นมาจากทางวิทยาลัยราชสุดาซึ่งมีศูนย์การดำรงชีวิตอิสระสำหรับคนพิการ ที่ฝึกให้คนพิการทำกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง
       
       “
ที่ศูนย์จะฝึกให้ผู้พิการทางสายตาได้ซื้อของเอง ทำอาหารเอง แต่ครัวที่มีอยู่ไม่เหมาะสม จึงเกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาครัวสำหรับผู้พิการทางสายตานี้ขึ้น โดยกลุ่มผู้พิการสายตามีทั้งที่บอดสนิทและสายตาเลือนลาง" ผศ.ดร.บญจมาศกล่าว
       
       
สิ่งที่แตกต่างไปจากครัวทั่วๆ ไปคือ ตู้ภายในครัวเป็นตู้ที่ใช้ประตูบานเลื่อนแทนประตูบานเปิด เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้พิการทางสายตา และแต่ละด้านของตู้ใช้สีตัดกันเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาแบบเลือนลางมองเห็นขอบตู้ได้ ซึ่งจากการทดสอบและถามความเห็นของผู้พิการนั้นสีน้ำเงินและสีขาวตัดกันชัดเจนที่สุด
       
       
รวมทั้งต้องลบขอบและมุมโต๊ะ เพื่อความปลอดภัยด้วย ส่วนมีดและของมีคมซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอันตรายนั้นผู้พิการทางสายตามีความระมัดระวังอยู่แล้ว แต่ต้องเก็บให้เป็นระเบีียบและเป็นที่เป็นทาง
       
       
ผศ.ดร.เบญมาศกล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์อีกว่า นอกจากครัวสำหรับผู้พิการทางสายตาแล้ว ทางทีมพัฒนายังได้ออกแบบครัวสำหรับผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรือผู้พิการที่นั่งเก้าอี้รถเข็น แต่ทำออกมาเป็นแบบจำลองที่ใช้ไม้อัดเท่านั้น ยังไม่ได้สร้างครัวจริงขึ้นมาเหมือนครัวสำหรับผู้พิการทางสายตา เนื่องจากงบประมาณหมด จึงเลือกทำครัวสำหรับผู้พิการทางสายตาก่อน เนื่องจากเป็นผู้พิการที่ต้องฝึกการทำครัว ขณะที่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวยังมองเห็นได้แต่อาจจะไม่สะดวกนัก
       
       
สำหรับครัวเพื่อผู้พิการทางสายตานี้ ยังเคยได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2552 ด้านพัฒนาสังคมและวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาด้วย
       
       
นอกจากนี้องค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกยังได้มอบรางวัล "เอาท์แสตนดิง อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (Outstanding Inventor Award) ให้กับผลงานเรื่อง "โปรแกรมเครื่องฝึกจำลองยุทธ์ NWS 980” ของ นาวาอากาศเอก สุรภักดิ์ ธาราจันทร์ จากสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง และรางวัล "เบสต์ ยัง อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (Best Young Inventor Award) ให้กับผลงานเรื่อง "เครื่องแยกข้าวสารเมล็ดสวย" ของนายอำพล พันธุ์วิเศษ นายสราวุธ อ่อนดี และนายอัครพงษ์ ลอดสุโข นักเรียน ม.ปลาย โรงเรียนพยัคฆภูมิวิทยาคาร จ.มหาสารคาม
       
       
พร้อมกันนี้ วช.ยังได้มอบรางวัล "อินเวนเตอร์ อะวอร์ด” (Inventor Award) ให้กับผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่่นำมาจัดแสดงภายในงานวันนักประดิษฐ์นี้ด้วย ได้แก่ รางวัล "อินเวนเตอร์ อะวอร์ด" (Inventor Award) รางวัลโครงการค่ายนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ รางวัลขวัญใจนักประดิษฐ์ และรางวัลขวัญใจประชาชน รวมทั้งหมด 77 รางวัล     

 

  - - - - - - - - - - - - - - - - - -          

พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ                

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331            

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0902521620               

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-02-09 16:20:39 IP : 124.121.78.207



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.