ReadyPlanet.com


วันขึ้นปีใหม่ไทย วันี้ 18 พ.ย.เดือนอ้าย ไทย-สุวรรณภูมิ


วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11575 มติชนรายวัน


ขึ้นปีใหม่ไทย-สุวรรณภูมิ วันนี้ เดือนอ้าย 18 พฤศจิกายน52

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปีหนึ่งมี 12 เดือน เริ่มจากเดือนที่หนึ่งเรียกเดือนอ้าย เดือนที่สองเรียกเดือนยี่ เดือนที่สามเรียกเดือนสาม เรื่อยไปจนถึงเดือนสิบสองเป็นสิ้นปี

เมื่อถึงสิ้นปีเดือนสิบสองจึงมีประเพณีลอยกระทง แม่พระคงคา ขอขมาธรรมชาติที่ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเลี้ยงชีวิตมาตลอดปี ช่วงเวลานี้ถือเป็นส่งท้ายปี เก่าก็ได้

ต่อจากนั้นเริ่มต้นปีใหม่ เรียกเดือนที่หนึ่งว่าเดือนอ้าย ถือเป็นขึ้นปีใหม่ โดยเฉลี่ยตามปฏิทินสากลอยู่ในราวปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เฉพาะปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน 2552 (คือวันนี้)

ปีใหม่ เป็นสำนึกเกิดขึ้นภายหลังรับวัฒนธรรมตะวันตก แต่สำนึกในวัฒนธรรมดั้งเดิมหมายถึงช่วงเวลาอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เช่น ข้าวออกรวงแก่เต็มที่ ถึงเวลาลงมือเก็บเกี่ยวมาเก็บไว้กินเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตไปจนกว่าจะถึงฤดูเก็บเกี่ยวใหม่ในอีก 12 เดือน หรือ 365 วันข้างหน้า อันเป็นวิถีชีวิตปกติของสังคมดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้วทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ที่ล้วน"ทำนาทางฟ้า" คือนาน้ำฝนที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นสำคัญ และทำได้ปีละครั้งเท่านั้น



ช่วงเวลานี้เอง ชุมชนที่อยู่ระนาบเส้นรุ้งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน มีสภาพ แวดล้อมทางธรรมชาติเหมือนกัน และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมพร้อมกัน จึงยกเป็นระยะเริ่มต้นของฤดูกาลใหม่ คือ วันใหม่ เดือนใหม่ ปีใหม่ เรียกกันทั่วไปว่า วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย คือวันและเดือนลำดับที่หนึ่งของปีใหม่

แล้วเปลี่ยน"ปีนักษัตร"ตอนนี้ว่าปีอะไร เช่น ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ ปฏิทินหลวงปัจจุบันก็ถือตามแบบดั้งเดิมอย่างนี้

เดือนอ้ายมีพิธีชักว่าว เพื่อขอลมมาไล่น้ำให้น้ำลดแห้งหายจากท้องนา ชาวนาจะได้เก็บเกี่ยวสะดวก ขณะเดียวกันก็ขอลมพัดให้พืชผลสุกเต็มที่จะได้เก็บเกี่ยวมาเก็บไว้กินเลี้ยงชีพ

เขมรแต่ก่อนมีระบุว่าพระราชพิธีเดือนอ้าย "บังเหินแขลง" หมายถึงชักว่าว (คำว่าแขลง เป็นภาษาเขมร แปลว่า ว่าว ไทยรับมาใช้ว่า แขลง, แคลง) ตรงกับกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ดังนี้

๏ เดือนอ้ายผายกรุงท้าว พิธีว่าวกล่าวกลแสดง

เดือนนี้พิธีแคลง กลุ้มท้องฟ้าคลาอรไกล ฯ

๏ มฤคเศียรดลมาศกล้า ลมแรง

ว่าวง่าวพิธีแสดง แหล่งหล้า

เรียกชื่อพิธีแขลง โดยที่

สาวส่งขึ้นลอยฟ้า ร่ายร้องคนึงสาว ฯ

โล้ชิงช้า เป็นการละเล่นในพิธีกรรมขอลมอย่างหนึ่ง(เหมือนชักว่าว) ของกลุ่มชาติพันธุ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

ชิงช้ามีใช้ในภาษากะเหรี่ยงว่า "ลา ชิงช้า" แปลว่า เดือนอ้าย หมายถึง มีการละเล่นโล้ชิงช้าเดือนอ้ายฉลองขึ้นฤดูกาลใหม่มีทั่วไปทุกชาติพันธุ์ อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ (แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) ศึกษาวิจัยพบว่า พิธีโล้ชิงช้า ของพราหมณ์กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เคยมีในชมพูทวีป(อินเดีย) แต่มีในสุวรรณภูมิ แสดงว่าปรับใช้พิธีกรรมโล้ชิงช้าขอลมของพื้นเมืองให้เข้ากับพิธีกรรมชมพูทวีป

พิธีกรรมชักว่าว, โล้ชิงช้า, ฯลฯ เดือนอ้ายของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์น่าจะมีความหมายอย่างอื่นอีก แต่ผมรู้แค่นี้เอง

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

www.waddeeja.com

Tel.02-990-0331

1811522020

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-18 20:20:23 IP : 124.121.140.224


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.