ReadyPlanet.com


สามี ข่มขืน ภรรยาตัวเอง ผิดหรือไม่...อ่านดู


"การข่มขืนระหว่างสามี + ภรรยา"

 

 

Edited - ระหว่างการถูกคนแปลกหน้าขมขื่น กับถูกคนรักข่มขืน..สิ่งไหนเจ็บปวดกว่ากัน??
       

       
การหลับนอนระหว่างคนที่เป็นสามี-ภรรยากันดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องผิดแปลกหรือเป็นปัญหาแต่อย่างใด หากทั้งสองฝ่ายต่างพร้อมใจกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ฝ่ายภรรยาไม่ยอมร่วมหลับนอนด้วย แต่กลับถูกสามีบังคับ จนกลายเป็นความรู้สึกที่คิดว่า "ถูกขืนใจ หรือ ข่มขืน"นั้น ต่อให้เป็นสามี-ภรรยากันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า สำหรับบ้านเมืองของเรานี้พอจะมีข้อกฎหมายหรือสิ่งใดที่จะสามารถคุ้มครองสิทธิ์ของคนๆนั้นได้บ้างหรือไม่
       
       
และเมื่อกล่าวถึง "การข่มขืนระหว่างสามีภรรยา" นั้น สังคมโดยทั่วไปไม่เข้าใจว่าการข่มขืนระหว่างสามีภรรยาว่าคืออะไร ไม่เชื่อว่ามีจริง และไม่เห็นความจำเป็นในการมีกฎหมายคุ้มครองหญิงซึ่งมีฐานะเป็นภรรยามิให้ถูกสามีข่มขืน ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก ความไม่เข้าใจ ความไม่ตระหนักในปัญหา การมีอคติทางเพศ รวมถึงอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ สิทธิและอำนาจในเนื้อตัว ร่างกายของผู้หญิง

 

  และไม่เพียงสิ่งเหล่านี้จะปรากฎอยู่ในระดับบุคคลและครอบครัว แม้ในระบบกฎหมายเองก็อาจมีอคติทางเพศและอุดมการณ์ชายครอบงำอยู่เช่นกัน ดังนั้นการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยาจึงยังคงอยู่ในครอบครัวและสังคมโดยกระบวนการยุติธรรมรวมถึงกฎหมายยังไม่สามารถให้การคุ้มครองต่อภรรยาซึ่งเป็นผู้ถูกระทำได้
       
       
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๖ ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท
       
       
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
       
       
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
       
       
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรสและคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้
       (1)

 

       เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก
       
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2607521756

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-07-26 17:56:27 IP : 124.121.143.141


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3034249)

การข่มขืนระหว่างสามีภรรยา  

 ในการศึกษาเกี่ยวกับการข่มขืนซึ่งถือว่าเป็นความรุนแรงทางเพศ (sexual violence) นั้นได้มีการแบ่งประเภทการข่มขืนไว้หลายรูปแบบอาทิ

-         การข่มขืนโดยคนแปลกหน้า (stranger rape)

-         การข่มขืนระหว่างสายโลหิต (incest rape)

-         การข่มขืนระหว่างคู่รัก (date rape)

-         การข่มขืนโดยผู้ใกล้ชิดหรือคนรู้จักคุ้นเคย (intimate rape)

-         การรุมโทรม (gang rape) และ

-         การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา (marital rape or wife rape) เป็นต้น

 

 นิยามโดยทั่วไปของ "การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา" (marital rape or wife rape) คือ การที่สามีใช้กำลังบังคับขู่เข็ญ หรือกระทำการใดเพื่อบังคับหรือทำให้ภรรยาอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืน เพื่อให้มีการร่วมเพศหรือร่วมประเวณีโดยมีการสอดใส่อวัยวะเพศชายในช่องคลอด ทวารหนัก ปาก และรวมถึงกรณีสามีภรรยาที่มิได้สมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย แยกกันอยู่ หย่าร้าง หรืออยู่กินด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่ง (Bergen,1999)
       

       
ทั้งนี้ การข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยานี้ถือเป็นการกระทำรูปแบบหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ในบางประเทศก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางกฎหมายและมีการบังคับใช้กฎหมายเอาผิดกรณีสามีข่มขืนภรรยาเช่นกัน อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา อิสราเอล อิตาลี เนเธอแลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
       
       
ส่วนประเทศอื่นๆที่ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้ได้แก่ อาเจนตินา บราซิล โคลัมเบีย อียิปต์ เยอรมัน ไนจีเรีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น (Net and Levine, 1998 อ้างใน Burn, 2000)

              (2)

                                        

       เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก         
       
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2707520706

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-27 07:06:43 IP : 124.121.138.31


ความคิดเห็นที่ 2 (3034596)

       ประเภทหรือชนิดของการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยา
       
       Mahoney & Williams
ได้รวบรวมประเภทหรือชนิดของการข่มขืนจากงานวิจัย 2 เรื่องไว้ 4 ประเภท
       
       
ประเภทแรก คือการใช้กำลังบังคับเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา ในกรณีนี้สามีจะใช้อำนาจในรูปแบบต่างๆบังคับให้เกิดการร่วมเพศโดยฝ่ายหญิงไม่ยินยอม

ประเภทที่สอง คือการทำร้ายร่างกายร่วมกับการข่มขืน สามีจะทั้งทำร้ายร่างกายและข่มขืนภรรยาของตน การทำร้ายร่างกายนี้อาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังการร่วมเพศก็ได้ จากงานวิจัย
       
       
ประเภทที่สาม ทารุณเพื่อการตอบสนองทางเพศ สามีจะใช้วิธีการทรมานหรือการร่วมเพศในลักษณะวิปริตต่างๆ กับภรรยาของตนโดยฝ่ายหญิงไม่ยินยอม และ
       
       
ประเภทสุดท้าย เป็นแบบผสม***
       
       
ส่วนรูปแบบหรือวิธีการร่วมเพศ ในการข่มขืนที่สามีกระทำต่อภรรยานั้น ตามกฎหมายไทยเกี่ยวกับ "การข่มขืนกระทำชำเรา" ได้บัญญัติไว้ว่า รูปแบบหรือวิธีการจะต้องเป็นการร่วมเพศโดยอวัยวะเพศชายทางช่องคลอดของฝ่ายหญิง และอวัยวะเพศชายต้องสอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการข่มขืนกระทำชำเราทางกฎหมายนั้น อาศัยการตีความจากความหมายของการร่วมประเวณีตามความหมายทางการแพทย์คือ การสอดใส่อวัยวะเพศชายในช่องคลอดของอวัยวะเพศหญิง
       
       
จึงเป็นการตีความซึ่งขาดความเป็นธรรมและไม่คำนึงถึงความรู้สึกและจิตใจของผู้หญิง กฎหมายและการแพทย์ได้ให้ความหมายแก่ร่างกายและอวัยวะเพศของหญิงในฐานะเป็นก้อนเนื้อไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีความรู้สึก ทั้งๆ ที่การข่มขืนนั้นเป็นการกระทำล่วงล้ำทั้งทางจิตใจและร่างกาย และมีผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้หญิงมากกว่าทางด้านร่างกายเสียอีก
       
       
ดังนั้นในการตรากฎหมาย แก้ไขกฎหมายและพิจารณาคดีความเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความหมายหรือความรู้สึกของผู้หญิงที่มีต่ออวัยวะเพศของตนด้วยว่า อวัยวะเพศหญิงหมายถึงอะไร บริเวณตั้งแต่ส่วนใดคืออวัยวะเพศ ส่วนใดที่หญิงถือว่าเป็นการล่วงล้ำ ต้องถึงกับสอดใส่หรือไม่ การพยายามล่วงล้ำสอดใส่ถึงบริเวณปากช่องสังวาส (vulva) หรือ แคมเนื้อบริเวณสองข้างปากช่องสังวาส (labia) โดยหญิงไม่ยินยอมถือเป็นการแสดงเจตนาของชายในการต้องการข่มขืนร่วมเพศหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นมิติที่กฎหมายจะต้องคำนึงถึงด้วย

 

 นอกจากนี้ "วิธีการร่วมเพศ" นั้นมิได้หมายเพียงการร่วมเพศทางช่องคลอดเพียงอย่างเดียว เนื่องจากงานวิจัยต่างๆพบว่ามีวิธีการร่วมเพศในหลากรูปแบบทั้งทางปาก ทวารหนัก หรือแม้แต่การใช้วัตถุแทนอวัยวะเพศ หรือบังคับให้ร่วมเพศกับสัตว์ วิธีการเหล่านี้ถือเป็นการข่มขืนทั้งสิ้น
       

       
อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยจำนวน 4 เรื่องเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงทางเพศที่ชายกระทำต่อภรรยาหรือคู่ครองนั้นมีรูปแบบต่างกันเช่น ร่วมเพศทางปาก ทวารหนัก การใช้วัตถุ นิ้วมือ การทุบตี การบังคับร่วมเพศมากกว่าหนึ่งครั้ง
       
       
Mahoney & Williams
ได้เปิดเผยข้อมูลว่าเหยื่อส่วนใหญ่รายงานว่าถูกบังคับร่วมเพศทางช่องคลอด เกือบร้อยละ 50 ถูกทำร้ายหรือทุบตีระหว่างการร่วมเพศ และหนึ่งในสามเคยถูกบังคับให้ร่วมเพศทางปากและทวารหนัก ส่วนการใช้วัตถุนั้นไม่ค่อยมีข้อมูล และงานวิจัยของ Campbell & Alford (1989) ยังรายงานอีกว่า เหยื่อบางคนถูกบังคับให้ร่วมเพศกับหญิงอื่น ร่วมเพศกับสัตว์ หญิงอาชีพบริการทางเพศ และร่วมเพศในที่สาธารณะ
       

              (3)        

                                                       

       เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก         
       
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2807520735

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-28 07:35:34 IP : 124.121.138.20


ความคิดเห็นที่ 3 (3034996)

       ทำไมภรรยาจึงนิ่งเงียบไม่กล้าบอกใคร
       
       Mahoney & Williams
สรุปรวบรวมจากงานวิจัยต่างๆ ว่าปัจจัยที่ทำให้ภรรยานิ่งเงียบไม่กล้าบอกเล่าปัญหาแก่บุคคลอื่นหรือสังคมคือ
       
       (1)
ความซื่อสัตย์จงรักภักดีและความรู้สึกว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่ควรเปิดเผยให้บุคคลภายนอกรับรู้
       
       (2)
ผู้หญิงหรือภรรยาไม่ต้องการยอมรับภาวะที่ตนเองตกเป็นเหยื่อของการข่มขืน
       
       (3)
การไม่ต้องการถูกตีตราจากสังคมว่าเคยมีประสบการณ์ในการถูกข่มขืน
       
       (4)
การมีมายาคติหรือความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิงในชีวิตแต่งงาน และการใช้ชีวิตคู่ว่าภรรยามีหน้าที่ปรนนิบัติตามใจสามีในเรื่องเพศทุกประการไม่ว่าเธอจะต้องการหรือเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
       
       (5)
ไม่สามารถบอกหรือรู้ความแตกต่างระหว่างการมีเพศสัมพันธ์อย่างปกติหรือการถูกบังคับโดยใช้กำลังเนื่องจากไม่เคยมีประสบการทางเพศสัมพันธ์มาก่อน

                                                                         

ผลกระทบจากการที่ภรรยาถูกข่มขืน
       ในด้านผลกระทบจากการที่ภรรยาหรือคู่ครองถูกข่มขืนนั้นยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มากในสังคมไทย กล่าวคือสังคมมักจะหวาดกลัว และตระหนักต่อผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนแปลกหน้ามากกว่าการถูกข่มขืนจากสามีหรือคู่ครองของตนเอง โดยครอบครัวจะให้ความเห็นอกเห็นใจ สนับสนุนทางด้านจิตใจอย่างเต็มที่ ตำรวจหรือกระบวนการยุติธรรมก็พยายามหาทางจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษเนื่องจากเป็นเรื่องสะเทือนขวัญในสังคม
       
       
แต่ในกรณีที่ภรรยาถูกสามีข่มขืนนั้น สังคมส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเหยื่อ แต่แท้จริงแล้วมีผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ งานวิจัยจากต่างประเทศยืนยันว่าการข่มขืนระหว่างสามีภรรยานั้นสร้างผลกระทบรุนแรงเนื่องจากเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เหยื่อจะถูกทำร้ายร่างกายและข่มขืน แต่ต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม นิ่งเฉย ไม่สามารถหาทางออกหรือหลีกเลี่ยงต่อการกระทำรุนแรงทางเพศนั้นเพราะอับอาย และจำนนต่ออำนาจของผู้กระทำซึ่งมีผลกระทบทางด้านจิตใจรุนแรงกว่าการข่มขืนจากคนแปลกหน้า เช่นFinkelhor และ Yllo ได้กล่าวไว้อย่างน่าสะเทือนใจว่า

 

"ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจากคนแปลกหน้านั้น มีชีวิตอยู่กับความทรงจำของการถูกทำร้ายที่น่าหวาดกลัว แต่ผู้หญิงที่ถูกสามีข่มขืนนั้นต้องดำเนินชีวิตอยู่กับคนที่ข่มขืนเธอ" (Finkelhor and Yllo, 1983 อ้างใน Mahoney & Williams)
       
       
ที่สำคัญที่สุดก็คือผู้หญิงเหล่านี้ไม่สามารถร้องขอการคุ้มครองจากสังคมและกฎหมายแม้ว่าการข่มขืนนี้จะเป็นการกระทำของสามีต่อภรรยา แต่ผลกระทบมิได้เกิดกับเฉพาะกับภรรยาเท่านั้น เด็กหรือลูกๆ ก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วย เพราะเด็กๆ อาจได้ยินเสียงร้อง เห็นการทำร้ายร่างกาย หรือทราบได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ของเขากำลังมีปัญหาและยังพบด้วยว่ามีบางครั้งที่เด็กถูกบังคับให้มีส่วนร่วมในการบังคับร่วมเพศนั้นๆ ด้วย (Campbell&Alford, 1989 อ้างใน Mahoney & Williams)
       
       
ดังนั้นปัญหาการขัดแย้ง ทะเลาะหรือความแตกแยกของครอบครัวจึงมิได้เริ่มต้นเมื่อผู้หญิงต้องการฟ้องร้องให้กฎหมายคุ้มครองเธอ หากแต่การฟ้องร้องจะเป็นการหยุดยั้งปัญหาหรือระงับความรุนแรงที่เธอได้รับ เพราะปัญหาต่างๆได้เกิดก่อนหน้านี้และส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจต่อเธอและสมาชิกครอบครัวในลักษณะเรื้อรัง การที่ผู้หญิงหรือภรรยาไม่ได้แจ้งความดำเนินคดีจึงไม่ได้หมายความว่าสภาพชีวิตในบ้านเป็นปกติสุข ไม่มีความแตกแยก นี่คือสิ่งที่สังคมควรทำความเข้าใจกันอีกครั้งหนึ่ง
       

              (จบ)       

                                        

       เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก         
       
มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2907520759

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-07-29 07:58:58 IP : 124.121.137.35



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.