ReadyPlanet.com


ผู้หญิง - มะเร็งปากมดลูก


วัยสาวกันก่อนสาย ภัย"มะเร็งปากมดลูก"

สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย และสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ร่วมกันรณรงค์ให้สาวไทยเร่งป้องกันตนเองจากภัยเงียบ "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการรณรงค์ "มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้" เพื่อให้สาวแรกรุ่นและผู้ปกครองตื่นตัวพร้อมเปิดใจเรียนรู้ข้อมูลและวิธีป้องกันโรค

น.พ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล รองเลขาธิการสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่ามะเร็งปากมด ลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิงไทย และเป็นปัญหาที่สำคัญของสาธารณสุข ทั้งที่มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ แต่กลับพบผู้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุจากการใช้ชีวิตของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

ผู้หญิงไทยในปัจจุบันมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และมีแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน หรือการเปลี่ยนคู่นอนได้ ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดบางตัวนานเกิน 5 ปีด้วย ที่สำคัญหญิงไทยส่วนใหญ่ยังละเลยต่อการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (แปป สเมียร์) อย่างสม่ำเสมอ กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็อยู่ในขั้นที่ยากต่อการรักษาแล้ว

"มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะการเสียชีวิตจากโรคนี้ในวัยที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว คือ 40-50 ปี สถิติ 7 รายต่อวันในปี 2002 สำหรับในปี 2007 ตัวเลขยังไม่มี แต่คาดว่าจะอยู่ที่ 9 รายต่อวัน โดยคาดการณ์ไปถึงในปี 2010 ว่าจะมีผู้ป่วยโรคนี้ถึงหนึ่งหมื่นคนต่อปี แม้ว่าจะมีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่องแต่หญิงไทยยังตระหนักในเรื่องนี้ไม่เพียงพอ ถ้าได้รับการตรวจและพบว่าป่วยในระยะแรก หากเข้าผ่าตัดมีโอกาสหายถึงร้อยละ 80-90"

รศ.พ.อ.หญิงฤดีวิไล สามโกเศศ เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงจำนวนมากยังเข้าใจผิดคิดว่ามะเร็งปากมดลูก เป็นเรื่องของสาวสูงวัย ทั้งที่มะเร็งปากมดลูกในสตรีสูงวัยคือผลลัพธ์ของพฤติกรรมการไม่ดูแลปกป้องตนเองอย่างถูกต้องในช่วงต้นของชีวิต อาทิ การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น การป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงควรกระทำตั้งแต่ในวัยเด็กก่อนเข้าสู่วัยรุ่น

"มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส หรือเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของเซลล์บริเวณปากมดลูก จากจุดนี้จนเป็นมะเร็งอาจกินเวลาเฉลี่ยประมาณ 10-15 ปี แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ติดเชื้อแล้วจะเกิดเป็นมะเร็ง ส่วนมากผู้หญิงจะสามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีได้เอง จะมีน้อยกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ เชื้ออาจติดฝังแน่นแล้วพัฒนาไปเป็นเซลล์ที่ผิดปกติ วิธีการป้องกันคือการไปตรวจภายในสม่ำเสมอ เพื่อจะได้เห็นความผิดปกติแต่เนิ่นๆ และรักษาได้ทันท่วงที"

รศ.พ.อ.หญิงฤดีวิไลกล่าวอีกว่า มาตรการสำคัญในการป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกก่อนพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งคือการเข้ารับการฉีดวัคซีนเอชพีวีเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีก่อมะเร็งชนิด 16 และ 18 ซึ่งเชื้อทั้งสองชนิดนี้เป็นต้นเหตุกว่าร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 วิธีควรทำร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก

 

สำหรับเรื่องเพศสัมพันธ์ เด็กมีคำถามมากมาย แต่พ่อแม่คนไทยไม่ค่อยมีทักษะในการพูด ซึ่งความเป็นจริงสำคัญมาก แม้จะมีการสอนในโรงเรียน แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามที่เด็กอยากรู้ได้ เด็กจะเรียนรู้ได้มากจากเพื่อน ซึ่งมีถูกและผิด รวมถึงสื่อต่างๆ อีกด้วย และถ้าเด็กมีเพศสัมพันธ์ตอนอายุต่ำกว่าอายุ 16 ปีจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกถึง 4 เท่าของเด็กที่อายุ 16 ปีขึ้นไป สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเด็กไทยมีสถิติเพศสัมพันธ์อายุต่ำลงทุกปี เป็นตัวเลขที่สวนทางกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

ด้านผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก นางวัฒนา นาคธร วัย 63 ปี อดีตพยาบาลโรงพยาบาลมหา ราชนครเชียง ใหม่ แผนกนรีเวชวิทยา เล่าประสบ การณ์ให้ฟังว่า ทราบว่าเป็นมะเร็งเมื่อปี 2541 ทั้งๆ ที่เข้ารับการตรวจมะเร็งทุก 6 เดือน เพราะทำงานอยู่ที่หน่วยมะเร็ง แต่ผลการตรวจ ทุกครั้งปกติ และพยายามตรวจซ้ำจนพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกในขั้นลุกลามแต่รักษาได้

นางวัฒนาเล่าว่า ตอนแรกที่ทราบว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกนึกว่าเป็นระยะแรกเริ่ม เพราะไม่มีอาการใดๆ แต่พอรู้ว่าถึงระยะลุกลามจากที่ไม่กลัวกลับกลัวมาก เหมือนตกเหวและวูบลงไป คิดอย่างเดียวว่าจะมีชีวิตอีกนานเท่าไหร่ เพราะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีลูกกำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอีก 2 คน จากที่เจ็บป่วยทางด้านร่างกายกลายเป็นเจ็บป่วยที่จิตใจ และกระทบไปถึงครอบครัวอีกด้วย แต่เมื่อรักษาไปเรื่อยๆ กลับขอบคุณที่เป็นโรคนี้ เพราะทำให้เปลี่ยนแปลงชีวิตในทางที่ดี จากที่เคยเป็นคนโมโหร้าย กลับกลายเป็นคนที่ควบคุมใจเอาไว้ เพราะความเครียดจะทำให้ป่วยหนัก จึงหันมามองทุกอย่างในแง่บวก รู้จักละวาง ปัจจุบันสุขภาพดีขึ้นมาก รวมทั้งได้ดูแลตัวเองมากขึ้น เข้าตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นระยะ

"
อยากให้ผู้หญิงมองว่าการป้องกันตัวเองเป็นหน้าที่ แต่ผู้หญิงมักมีข้ออ้างว่าไม่มีเวลา กลัว และอาย แต่หากอยากมีชีวิตกับคนที่เรารัก เราต้องรักตัวเองด้วยการให้เวลาไปตรวจ จะทำให้เราป้องกันตัวเองได้ เพราะมีเงินมากก็ไม่สามารถแลกกับสุขภาพที่ดีได้ จงมองว่าปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ ให้มองปัญหาให้เล็กที่สุดแล้วมันจะผ่านไปได้" นางวัฒนากล่าว

สำหรับโครงการรณรงค์ "มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้" ประกอบด้วย ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงที่นอนป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกบนเตียงผู้ป่วย เธอเป็นมะเร็งในขั้นลุกลามแล้ว รวมทั้งสารคดีสั้นให้ความรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูก สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย โทร. 0-2716-6441 หรือดูข้อมูลได้ที่ www.tgcsthai.com

                                                                                                                                 

- - - - - - - - - - - - - - - - - -            

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1906520909       

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-06-19 09:09:10 IP : 124.121.135.26


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.