ReadyPlanet.com


คนพิการ - รู้ว่า อาชีพหมอรักษาคนก็ติดคุกได้


 

รักษาคน..อาจต้องติดคุก อาชีพ"หมอ"ที่แขวนบนเส้นด้าย (สกู๊ปแนวหน้า)

 

การแข่งขันธุรกิจของสถานพยาบาลภาคเอกชน มีการโฆษณาแข่งขันกันมาก และประชาชนคาดหวังจากโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องเสียค่ารักษาสูง ว่า ถ้าราคาแพงจะทำให้โรคหายได้ดีกว่า เมื่อผิดหวัง"การฟ้องร้องแพทย์" จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหา จนพบภาพ"การถูกตัดสินจำคุก"จากการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตแล้วเกิดความผิดพลาด เกิดขึ้นบ่อยครั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ เกิดความหวาดระแวงแพทย์ผู้รักษามากกว่าในอดีต

สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของวงการแพทย์อย่างรุนแรง จากแพทย์ที่เหลือน้อยลง และเต็มใจทำงานรักษาผู้ป่วย ซึ่งเป็นภาระหนักทั้งกาย-ใจ และยังต้อง"เสี่ยงคุก"อีก ส่งผลกระทบต่อประชาชนในชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีความพร้อมในบริการทางการแพทย์ เนื่องจากแพทย์พยายามหนีให้ห่างไกลสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะถูกฟ้องร้อง

จากสถานการณ์ความผิดของแพทย์ที่เข้าสู่การพิจารณาของแพทยสภามากที่สุด ตั้งแต่ปี 2533-2549 ว่า เรื่องที่ถูกร้องเรียน 7 อันดับแรก มีทั้งหมด 2,802 เรื่องแยกเป็นแพทย์ไม่รักษามาตรฐาน 1,500 เรื่องโฆษณาการประกอบวิชาชีพของตน 350 เรื่องการปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล 260 เรื่องไม่คำนึงถึงความปลอดภัย สิ้นเปลือง 238 เรื่อง ดำรงตนไม่เคารพกฎหมาย 191 เรื่องเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพ137 เรื่อง และออกใบรับรองเท็จ 126 เรื่อง ในจำนวนนี้แพทยสภาได้ลงโทษคดีมีมูล แยกตามกรณีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 736 เรื่อง และยกข้อกล่าวหา 534 เรื่อง

การลงโทษคดีมีมูลตามเรื่องร้องเรียนจาก 5 กรณีสูงสุด คือ ไม่รักษามาตรฐาน โฆษณาการประกอบวิชาชีพของตน ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย สิ้นเปลือง การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล และดำรงตนไม่เคารพกฎหมาย แพทยสภาได้เพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากแพทย์ไม่รักษามาตรฐาน จำนวน 5 คดี ดำรงตนไม่เคารพกฎหมาย 1 คดี และนอกเหนือจาก 5 กรณีดังกล่าวอีก 4 คดี รวมเป็น 10 คดี พักใช้ใบอนุญาตทั้งสิ้น 123 คดี โดยเป็นคดีการไม่รักษามาตรฐานมากที่สุด 33 คดี รองลงมาคือ ดำรงตนไม่เคารพกฎหมาย 18 คดี ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย 16 คดี โฆษณาการประกอบวิชาชีพของตน 8 คดี และการปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล 7 คดี

ส่วนการลงโทษภาคทัณฑ์ ลงโทษทั้งสิ้น 183 คดี แยกเป็นการไม่รักษามาตรฐานมากที่สุด 58 คดี ดำรงตนไม่เคารพกฎหมาย 28 คดี และอื่นๆ อีก 97 คดี ลงโทษตักเตือน 420 คดี เป็นคดีการไม่รักษามาตรฐานมากที่สุด 95 คดี โฆษณาการประกอบวิชาชีพของตน 85 คดี การปฏิบัติตนเกี่ยวกับสถานพยาบาล 75 คดี ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย 38 คดี ดำรงตนไม่เคารพกฎหมาย 34 คดี และนอกเหนือจาก 5 กรณี อีก 93 คดี ทั้งนี้ สาขาแพทย์ที่ถูกร้อง เรียนมากที่สุดในปี 2549 ได้แก่ ศัลยแพทย์ 48 คดี อายุรแพทย์ 40 คดี สูติแพทย์ 35 คดี กุมารเวชศาสตร์ 28 คดี ออร์โธปิดิกส์ 18 คดี จักษุแพทย์ 10 คดี โสต นาสิก ลาริงซ์ 5 คดี วิสัญญีแพทย์ 3 คดี สำหรับกลุ่มอายุของแพทย์ที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด อยู่ในกลุ่มอายุระหว่าง 31-40 ปี รองลงมาคือ 41-50 ปี และ 61-60ปีกับ น้อยกว่า 30 ปี มีสัดส่วนการถูกร้องเรียนเท่ากัน อย่างไรก็ดีในจำนวนนี้ยังมีเรื่องร้องเรียนที่ค้างการพิจารณาอีกหลายคดี


รศ.นพ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผู้บริหารมีความเข้าใจ และเห็นใจผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบุคลากรการแพทย์ เป็นวิชาชีพที่มีจิตใจเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่สิ่งที่ถูกฟ้องเกิดขึ้นจากความผิดพลาดที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยที่แพทยืไม่ได้ตั้งใจที่จะให้เกิด หรือมีความประมาทในการปฎิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ปัญหาแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องร้องจากการปฏิบัติงานให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ซึ่งมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเกิดความไม่เข้าใจระหว่างคนป่วย และขั้นตอนการรักษาของแพทย์ และประชาชนไม่ทราบสิทธิที่แท้จริง ส่วนคดีที่แพทย์ส่วนมากกระทำผิด เช่น ไม่รักษามาตรฐานในการวินิจฉัยโรค ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ใช้ยาที่เกินขนาด ตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ที่เกินจำเป็น ออกใบรับรองเท็จ ปลูกถ่ายอวัยวะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การทำแท้ง ไม่รับรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีเงิน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์สุขภาพจิต ในเรื่อง "การออกใบรับรองแพทย์" หรือ "ใบรับรองเท็จ" โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ แต่บุคคลที่ต้องการกลับเป็นคนใกล้ชิดของผู้ป่วย คือ ญาติ พี่ น้อง การออกใบรับรองแพทย์ จะต้องมีการตรวจสอบให้แน่ชัด ว่า เขานำไปทำอะไร ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เป็นเอกสารประกอบการทำนิติกรรม เช่น คนไข้มีทรัพย์สินมาก และคนใกล้ชิดต้องการใบรับรอง เพื่อนำเอาไปอ้างอิงทางนิติกรรมต่างๆ ว่า ผู้ป่วยคนนี้ไร้ความสามารถที่จะช่วยตัวเองได้ หากเราออกไปโดยไม่มีการตรวจสอบ อาจจะเกิดปัญหาตามมาในเรื่องการฟ้องร้องได้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการไม่ตรวจผู้ป่วย เพียงคุยอาการเบื้องต้น และวินิฉัย พร้อมทั้งจ่ายยา ให้รับประทาน ส่วนใหญ่กลุ่มนี้จะตรวจเพื่อขอบัตรรับรองแพทย์ ทั้ง ผู้ป่วยเอง และคนใกล้ชิด ซึ่งอันนี้เกิดปัญหาเป็นจำนวนมาก เพื่อนำไปนิติกรรม หรือทำพินัยกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจจจะเกิดปัญหาตามมาที่หลังอย่างแน่นอน เมื่อเกิดปัญหา แพทยสภา หรือศาล จะยึดเอกสารเป็นหลัก หากแพทย์ไม่ตรวจ แต่ออกใบรับรอง นั้นก็ถือว่าผิดอย่างชัดเจน ในการออกใบรับรองของแพทย์ โดยไม่สุจริตต่อหน้าที่

รศ.นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้แพทย์ที่ทำงานอยู่ในสภาพขาดขวัญกำลังใจ จากปัญหาการถูกฟ้องร้อง จากการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย ในการป้องกันปัญหาคณะกรรมการกลาง แพทยสภา พยายามเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ พร้อม ๆ กับการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์และมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการ ทำให้เรื่องร้องเรียนถึงแพทยสภาและศาลลดน้อยลง จะเร่งหารือกับแพทยสภา ในเรื่องข้อกฎหมายหลังจากที่แพทย์ถูกฟ้องร้อง โดยจะให้พิจารณาเป็นเพียงคดีแพ่งได้หรือไม่ เพื่อให้เรื่องจบเร็วขึ้น เพราะหลังจากที่มีปัญหาแพทย์ถูกตัดสินจำคุกทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็ก ไม่กล้าทำผ่าตัด ผลเสียเกิดขึ้นทั้งตัวผู้ป่วย ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า

นอกจากนี้ต้องให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่แพทย์ เพื่อให้แพทย์มีความรู้ทางกฎหมายติดตัว และทำงานด้วยความมั่นใจและรอบคอบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ต้องหันมาสนใจในเรื่องของกฎหมายมากขึ้น และแพทย์จบใหม่ต้องส่งเสริมความรู้เรื่องกฎหมาย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และนำไปประกอบในการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ และเป็นเกราะป้องกันตัวเอง

ส่วนใหญ่ที่มีการฟ้องร้อง และแพทย์ แพ้คดีบ่อยครั้ง ทั้งที่เป็นความผิดพลาดในการรักษา โดยที่แพทย์ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดขึ้นนั้น เนื่องจากทนายความ ผู้ที่ถูกฟ้อง ไม่มีความเข้าใจหลักการแพทย์ รู้เพียงกฎหมาย จึงไม่รู้ว่าจะไปสอบพยานอย่างไร และจะตามเรื่องด้านการแพทย์ หรือสอบสวนในรูปแบบใด ดังนั้นแพทย์ควรจะมีความรู้เรื่องกฎหมายบ้าง เพื่อที่จะนำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้ดี

การรักษาผู้ป่วยเป็นหน้าที่ของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ยากเกินกว่าจะอธิบาย แต่ความผิดพลาด อาจเป็นจุดเล็กๆ จนเป็นที่มาของการฟ้องร้องแพทย์ที่ ไม่ใช่มีเฉพาะในไทย แต่ในหลายประเทศก็มีอยู่เช่นกัน

SCOOP@NAEWNA.COMวันที่ 21/10/2009

- - - - - - - - - - - - - - - - - -              

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ปี 1  มหาวิทยาลัยปทุมธานี 

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2110521508

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-21 15:07:59 IP : 124.121.139.142


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.