ReadyPlanet.com


คนพิการรู้เรื่อง " พระเมรุมาศ "


 

พระเมรุมาศ

อยากทราบว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร มีประวัติอย่างไร

ตอบ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำ "เมรุ" คือชื่อภูเขากลางจักรวาล มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีพระอินทร์อยู่, ที่เผาศพซึ่งมีหลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบ ราชาศัพท์ใช้ว่าพระเมรุ ส่วน "เมรุมาศ" คือเมรุทอง ราชาศัพท์ใช้ว่าพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศจัดเป็น "กุฎาคาร" คืออาคารมียอดแหลมสูง เรียกว่าเรือนยอด ที่ปรากฏสร้างมี 2 รูปแบบ คือ พระเมรุมาศทรงปราสาท และ ทรงบุษบก โดยที่ทรงปราสาทสร้างขึ้นสำหรับกษัตริย์ตั้งแต่ครั้งอยุธยาเป็นราชธานี และใช้ต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนพระเมรุมาศทรงบุษบก เริ่มปรากฏใช้ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

จากสาส์นสมเด็จ ฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2478 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ "นายช่างใหญ่แห่งสยาม" ทรงเขียนว่า "พระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพ ตามคติของพราหมณ์หรือฮินดู เทพย่อมสถิตอยู่บนเขาสุเมรุล้อมไปด้วยเขาสัตบริภัณฑ์ เมื่อจุติลงมายังมนุษยโลกเป็นสมมติเทพ พระนามของกษัตริย์ฮินดูและไทย เขมร ลาว พม่า ยังใช้พระนามเป็นภาษาสันสกฤต กล่าวนามเป็นสมัญญาของทวยเทพทั้งสิ้น เมื่อสวรรคตจึงตั้งพระบรมศพบนเมรุหรือเมรุมาศ เป็นการส่งพระวิญญาณเสด็จกลับไปสู่เขาสุเมรุดังเดิม"

และจากหนังสือ "พระเมรุมาศ พระเมรุ และเมรุสมัยรัตนโกสินทร์" ของ ศ.น.อ.สมภพ ภิรมย์ รน. ราชบัณฑิต อธิบายศัพท์อันเนื่องด้วยพระเมรุซึ่งมีอยู่ไม่น้อย ดังนี้ "พระเมรุ" เป็นเมรุที่ใช้สำหรับราชวงศ์ที่ทรงฐานานุศักดิ์เมื่อตายใช้ราชาศัพท์ว่าทิวงคต หรือสิ้นพระชนม์ โดยที่ภายในพระเมรุไม่มีพระเมรุทอง "พระเมรุพิมาน" เป็นอาคารถาวรที่สมมติขึ้นว่าเป็นวิมานเพื่อตั้งพระบรมศพหรือพระศพ ครั้นเวลาถวายพระเพลิงจะอัญเชิญจากพระเมรุพิมานไปถวายพระเพลิงที่พระเมรุขนาดน้อยอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก

"
พระเมรุบรรพต" เป็นพระเมรุซึ่งสร้างบนภูเขาสมมติ "เมรุทิศ" คือเมรุประจำ 4 ทิศ หรือ 8 ทิศ หรืออาจลดลงสุดแต่เหตุการณ์ "เมรุประตู" คือเมรุที่ทำเป็นประตูเข้าออก "เมรุแทรก" คือเมรุซึ่งแทรกกลางระหว่างเมรุทิศทั้ง 4 หรือจะแทรกในตำแหน่งที่เหมาะสม "เมรุพระบุพโพ" คือเมรุขนาดน้อยสำหรับถวายพระเพลิงพระบุพโพ (น้ำเหลือง)

ฐานานุศักดิ์สูงสุดคือ "พระเมรุมาศ" ใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพสำหรับการตายที่ใช้ราชาศัพท์ว่าสวรรคต เช่น พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี พระราชชนนี พระบวรราชเจ้า (อุปราชวังหน้า) พระบรมโอรสาธิราช เป็นต้น และ "พระเมรุทอง" คือเมรุทำด้วยทองปิดทองกระดาษทอง หรือทองน้ำตะโก เป็นที่ตั้งพระเบญจาทองคำรองรับพระบรมโกศภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร หากบรมราชวงศ์ที่ฐานานุศักดิ์ลดลงจำนวนชั้นของเศวตฉัตรก็ลดลงเป็น 3-7 ชั้น แต่ถ้าไม่ใช่ฉัตรเก้าชั้นหรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระเบญจาอาจไม่ตั้ง หรือชั้นพระเบญจาลดเล็กลง พระเมรุทองใช้ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งสุดท้ายตามโบราณราชประเพณี

ราชประเพณีนี้มีสืบมาแต่สมัยอยุธยา เป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง มีแบบแผนถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบ ความสำคัญของการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศนั้น เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตล่วงแล้ว โดยพิจารณาพระเดชานุภาพในการสร้างพระเมรุมาศ ต่อมา มีราชประเพณีถวายพระเกียรติด้วยการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระราชทานเพลิงพระศพพระราชินี พระบรมราชชนนี และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่ทรงประกอบคุณงามความดีใหญ่หลวงให้แก่บ้านเมือง ณ ท้องสนามหลวงด้วยเช่นกัน โดยมีลักษณะแตกต่างลดหลั่นตามพระราชอิสริยยศดังกล่าว

* * * * * * * * * * * * *

 

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

Tel. 02-990-0331

2007511621

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2008-07-20 16:21:34 IP : 124.121.140.66


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.