ReadyPlanet.com


คนพิการกับอาเซียน


อาเซียนกับคนพิการ

เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๒ ณ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก องค์การ คนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยการสนับสนุนจากกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องกลไกองค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียนกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการซึ่งกล่าวรายงานโดย นางสาวเสาวลักษณ์ ทองก๊วย หัวหน้าสำนักงานองค์การคนพิการสากลฯ และกล่าวเปิดการสัมมนาโดย นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ

ในการอภิปราย เรื่องภาพรวมของอาเซียน สามเสาหลักและประเด็นความพิการวิทยากร ซึ่งประกอบด้วย นายวิทวัส ศรีวิหค อธิบดีกรมอาเซียน นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชน และ Mr. Daniel Collinge สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(OHCHR) ได้กล่าวว่า

 อาเซียนก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๑๐ ปัจจุบันมีประเทศแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมาชิกรวม ๑๐ ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ไทย และเวียดนาม การดำเนินงานของอาเซียนเป็นไปตามกฎบัตรอาเซียนซึ่งยึดหลักน่าเชื่อถือ สอดคล้องกับความเป็นจริง และวิวัฒนาการทุก ๕ ปี ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับคนพิการ คือการส่งเสริม คุ้มครอง และเคารพสิทธิของคนทุกกลุ่มที่มีปัญหา รวมทั้งคนพิการใน 3 ด้าน หรือ สามเสาหลักได้แก่

๑) การเมืองและความมั่นคง ๒) เศรษฐกิจ และ ๓) สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนรวมทั้งองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วมด้วย

เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปอาเซียน คือ การสถาปนาชุมชนอาเซียนเพื่อดูแลซึ่งกันและกันตามวิถีแห่งอาเซียนและปฏิบัติ ตามฉันทามติของประเทศสมาชิกอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งส่งเสริมการสร้างกลไกภาคประชาชน ดังนั้น คนพิการจึงควรมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของอาเซียนในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน

ในสามเสาหลักของอาเซียน มีการกล่าวถึงคนพิการเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น ประกอบ ด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการเพื่อการมีโอกาสเท่าเทียมกับคน ทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาด้านการศึกษา ศักยภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วม และอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ เรื่องคนพิการมักเป็นประเด็นท้ายสุด ไม่ชัดเจน และเน้นการช่วยเหลือคนพิการในเชิงสงเคราะห์ ไม่มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ไม่ครอบคลุมสิทธิทั้งหมด รวมถึงไม่ระบุว่าคนพิการได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง

อย่างไรก็ตามนางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ชี้แนะว่า ควรใช้กรอบเท่าที่ระบุถึงคนพิการดังกล่าวผลักดันไปสู่การปฏิบัติใน ๓ ประเด็น ได้แก่

๑) การสร้างเจตคติที่ดีและถูกต้องเกี่ยวกับคนพิการต่อสาธารณชนเพื่อสร้างเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และศักยภาพที่พัฒนาได้ของคนพิการ

๒)การสร้างความเข้าใจปัญหา หรือข้อจำกัดของคนพิการแต่ละประเภทซึ่งมีความหลากหลายมาก พร้อมทั้งให้โอกาสคนพิการในทุกด้านอย่างเสมอภาคกับคนทุกกลุ่ม และ

๓) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการอย่างแท้จริงในทุกกระบวนการและขั้นตอน โดยเฉพาะในขั้นการตัดสินใจ ตลอดจนนำเสนอความต้องการของคนพิการ พร้อมทั้งวิธีการปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการนั้นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตัวแทนของคนพิการควรมีส่วนร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนด้วย จะได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้นำประเทศต่างๆ นอกจากนั้น

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มีความเห็นว่า อาเซียนควรมีบทบาทในการหยุดยั้งการเกิดความพิการด้วย

อนึ่ง การจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จะดำเนินการต่อในวันที่ ๑๐ กันยายนนี้ เพื่อ กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการก่อตั้งสภาคนพิการแห่งอาเซียน(ASEAN Disability Forum) ผลักดันประเด็นคนพิการเข้าสู่วาระของอาเซียน และส่งเสริมให้ประชาชนในภูมิภาคอาเซียนเกิดการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบของ อาเซียนที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของคนพิการ

 ( ข่าว - มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ภาพ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ๙ ก.ย. ๒๕๕๒ )

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1209520728

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-09-12 07:28:34 IP : 124.121.137.27


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.