ReadyPlanet.com


สมัชชาประชาชน - รัฐบาลโครงการไทยเข็มแข็ง


เรื่อง  ให้รัฐบาลยกเลิกโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์  5  สาย  และเร่งสร้างระบบรถไฟรางคู่  และระบบรถไฟความเร็วสูง  มาตรฐานรางกว้าง  1.435 เมตร  โดยเร็วที่สุด

            ตามที่รัฐบาลจะทำการทุ่มเทงบประมาณจากการกู้หนี้ยืมสิน  ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง  จำนวนวงเงินรวมทั้งหมด  1.43  ล้านล้านบาท  เพื่อก่อสร้างถนนมอเตอร์-เวย์  จำนวนทั้งสิ้น  5  สาย  เพื่อพัฒนาระบบขนส่งทางบกโดยเน้นถนนเป็นหลักต่อไป  ได้แก่  ถนนสายบางปะอิน โคราช ถนนสายบางปะอิน นครสวรรค์ถนนสายกรุงเทพฯ แม่กลองถนนสายกรุงเทพฯ กาญจนบุรี และถนนสายชลบุรี มาบตาพุด  โดยจะใช้วงเงินค่าก่อสร้างถนนรวม  5  สาย  เป็นจำนวน  156,000  ล้านบาท  นั้น

            สมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย  ได้ติดตามและศึกษาปัญหาการพัฒนาระบบการขนส่งทางบกของประเทศไทย  ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลแล้ว  มีข้อสรุป  และข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องแถลงและเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย  ให้กับพี่น้องประชาชนไทย  ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยและเจ้าของภาษี  ซึ่งมีหน้าที่และสิทธิตามรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.  2550  มาตรา  87  ที่มีหน้าที่และสิทธิการมีส่วนร่วม  ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ  และสังคมทั้งในระดับชาติ  และระดับท้องถิ่น  รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมือง  การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ  สังคม  และจัดทำบริการสาธารณะ  ดังต่อไปนี้

 

            1.  เมื่อวันที่  9  มีนาคม  2434    พื้นดินบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ล้นเกล้ารัชกาลที่ ได้เสด็จมาเพื่อประกอบพระราชพิธีขุดดินทางรถไฟกระทำพระฤกษ์  และทรงมีพระราชดำรัส  ไว้ดังนี้  

“...เรามีความยินดีไม่น้อยเลย  ที่ได้มาอยู่    ที่นี้  อันเป็นที่จะได้เริ่มลงมือก่อสร้างรถไฟ  ซึ่งเราได้คิดอ่านจะทำให้สำเร็จมาช้านานแล้ว

เรารู้สึกสำนึกแน่อยู่ว่า  ธรรมดาความเจริญ  รุ่งเรือง  ของประชาชนย่อมอาศัยถนน  หนทาง  ไปมากันเป็นใหญ่  เป็นสำคัญ  เมื่อมีหนทาง คนจะไปมาได้ง่าย  ได้ไกล  ได้เร็วขึ้นเพียงใด  ก็เป็นการขยายชุมชนให้ไพศาลยิ่งขึ้นเพียงนั้น

เราจึงได้อุตสาห์คิดจะทำทางรถไฟ   ให้สมกำลังบ้านเมือง  ก็ได้คิด  ทำทางรถไฟไปเมืองนครราชสีมานี้ก่อน...




2.  ต่อมาได้เปิดให้มีการเดินขบวนรถไฟไทยเป็นครั้งแรกจากกรุงเทพฯ(หัวลำโพง) พระนครศรีอยุธยา  เมื่อวันที่  26  มีนาคม  2439  และมาถึงเมืองนครราชสีมา  เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2443  ด้วยพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่  5  ได้สถาปนากรมรถไฟขึ้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ  และประชาชน  มิได้มุ่งหวังผลกำไร


3.  พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า  ได้ทรงกำหนดยุทธศาสตร์การคมนาคมทางบกให้ใช้รถไฟเป็นหลัก  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439  หรือ  114  ปีที่แล้ว  เพื่อให้การคมนาคมทั่วประเทศเชื่อมโยงถึงกัน  และประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด  อันจะทำให้ค่าเดินทาง  ค่าขนส่งสินค้าต่าง ๆ ถูกลง  และไม่เป็นภาระด้านพลังงาน  แก่ประเทศในวันหน้า

แต่แล้วแทบทุกรัฐบาล  หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ ปี พ.ศ. 2475  ได้ทำผิดใหญ่หลวง  ในการกำหนดยุทธศาสตร์การคมนาคมทางบกที่กำหนดให้ใช้ถนน  รถยนต์  เป็นหลัก  จึงมีการขยายถนนมากขึ้นและทำให้ปริมาณรถยนต์มากขึ้น  ประเทศจึงเพิ่มภาระอย่างไม่จำเป็น  โดยมีรายจ่ายจากพลังงานที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากที่สุด  คือ ปีละกว่า  1  ล้านล้านบาท  ในขณะที่คนไทยก็เป็นหนี้จากค่าผ่อนซื้อรถยนต์มากที่สุด

              ปัจจุบันแนวโน้มราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่กิจกรรมการขนส่งสินค้าของไทยร้อยละ 88  ใช้รถบรรทุก  ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีต้นทุนการใช้พลังงานสูง  ทำให้เป็นราคาต้นทุนกับภาคธุรกิจ และภาคการคลังกับภาครัฐ  เกิดความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องเร่งทบทวนรูปแบบการขนส่งที่พึ่งถนนเป็นหลักของประเทศโดยเร็วที่สุด

ลองนึกดูเถิด  หากประเทศไทยพัฒนายุทธศาสตร์รถไฟตามแนวทางที่พระองค์ท่านได้ทรงวางไว้เมื่อ  114  ปีที่แล้ว  บัดนี้ประเทศไทยก็จะมีรถไฟรางคู่  มาตรฐานสากล (รางกว้าง 1.435 เมตร) เชื่อมโยงทั่วราชอาณาจักรให้ทั่วถึงกันได้อย่างรวดเร็วกว่าปัจจุบันที่ต้อง พึ่งถนนเป็นหลัก  ค่าใช้จ่ายพลังงานของประเทศก็จะไม่สูงเท่าที่เป็นอยู่  เพราะรถไฟใช้พลังงานน้อยกว่ารถยนต์ประมาณ  4 – 5  เท่า  ประชาชนก็ไม่ต้องวิ่งไล่ซื้อรถยนต์มาใช้จนเป็นหนี้เป็นสินดังเช่นทุกวันนี้

            4.  ผลจากการที่แทบทุกรัฐบาลได้ลงทุนทำถนนเป็นหลัก  ละทิ้งการพัฒนารถไฟ  ด้วยการทุ่งงบประมาณพัฒนาถนนมากกว่าการจัดงบประมาณพัฒนารถไฟถึง  10  เท่าในแต่ละปี   กล่าวคือ  ตั้งงบประมาณให้ถนนปีละ  50,000 – 70,000  ล้านบาท  ขณะที่รถไฟได้งบประมาณเพียง  5,000 – 6,000  ล้านบาทต่อปี  เพียงเพราะนักการเมือง  พ่อค้า  ข้าราชการบางคนที่ตกที่ดินจากที่ข้างถนนที่ก่อสร้างทำให้ร่ำรวยกันมาตลอด  50 – 60 ปี  จึงเป็นผลให้ปัจจุบันนี้เรามีถนนทั่วประเทศคิดเป็นความยาว  200,000  กิโลเมตร  เข้าถึงทั้ง  76  จังหวัดขณะที่มีทางรถไฟเพียงแค่  4,440  กิโลเมตร  เข้าถึงเพียง  47  จังหวัด เท่านั้น

            รถไฟไทยเคยวิ่งได้ความเร็วถึง  90  กม./ ชม.  ลดเหลือเพียงความเร็วเฉลี่ย  54  กม. / ชม.  ในปัจจุบัน  ในขณะที่รถยนต์วิ่งบนถนนไปได้ด้วยความเร็ว 100 – 120  กม. / ชม.  แต่ก็ผลาญน้ำมันไปอย่างมากมาย

            ขณะที่รถไฟญี่ปุ่น  ซึ่งเปิดบริการพร้อมกับของไทยในสมัยรัชกาลที่  5  วิ่งด้วยความเร็วถึง  300 – 400  กม. / ชม.  ไปแล้วในปัจจุบัน

            หลังสิ้นยุคสมัยของพระองค์ท่านเกือบร้อยปี  เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน  ที่นำโดยเหมาเจ๋อตง  ประกาศสถาปนาประเทศจีนใหม่แล้ว  เหมาเจ๋อตงประกาศว่า  “ การคมนาคมเป็นลักษณะชนชั้นเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนส่วนใหญ่  ต้องกำหนดให้รถไฟเป็นหลักของการคมนาคมทางบก  เพื่อเชื่อมโยงมาตุภูมิทุกแห่งหน  เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เพื่อให้ประชาชนทุกแห่งหนไปมาหาสู่กัน  และทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนต่ำสุด

            เหมาเจ๋อตง  ประกาศแนวทางตรงกับพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  5  ของเราและรัฐบาลจีนได้ยึดถือปฏิบัติเป็นผลให้  บัดนี้จีนได้กลายเป็นประเทศที่มีเส้นทางรถไฟยาวมากที่สุดในโลก  มีขบวนรถไฟมากที่สุดในโลก  มีประเภทบริการของรถไฟมากที่สุดในโลก  และได้พัฒนารถไฟถึงระยะที่  7  แล้ว  โดยกำหนดให้ความเร็วเฉลี่ยของรถไฟอยู่ที่ระดับ  250 กม. / ชม.  ซึ่งกำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ  ในขณะที่บางแห่งก็เริ่มนำร่องรถไฟความเร็วสูงถึงระดับความเร็ว  450 กม. / ชม.

            ตลอดเส้นทางของรถไฟจีน  มีคลังสินค้า  สถานีถ่ายสินค้า  ระบบขนถ่ายเฉพาะของรถไฟ  โรงแรม  ศูนย์การค้า  และการบริการท่องเที่ยว  โดยเฉพาะสถานีรถไฟกำลังถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์การพาณิชย์ใหญ่ของทุก ๆ เมือง  เพื่อแสดงสินค้าของเมืองนั้นและเป็นแหล่งส่งออก  และค้าขายสินค้าเมืองนั้น

            5.  ประเทศเวียดนาม  ซึ่งคณะสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทยพร้อมกับสื่อมวลชนไทย  ได้ไปศึกษาดูงานการพัฒนารถไฟเวียดนามระหว่างวันที่  11 – 16  ธันวาคม  พ.ศ.  2552  ที่ผ่านมา  พบว่า  สภาพปัจจุบันรถไฟเวียดนามสภาพใกล้เคียงกับรถไฟไทย  ระบบรางมีความกว้างเพียง  1.00  เมตร มีทั้งรถผู้โดยสารและรถสินค้า  สภาพสถานีรถไฟก็ไม่ต่างจากของเรา  แต่รถไฟเวียดนามกำลังจะเป็นวันพรุ่งนี้ของไทยเพราะรัฐบาลเวียดนามได้วางแผน แม่บทในการพัฒนารถไฟเวียดนามเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ถึงปี พ.ศ.  2593  ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า  1.7  ล้านล้านบาท  หรือประมาณ  40,000 – 50,000  ล้านบาททุกปี  ด้วยเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก  เพื่อสร้างประเทศเวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมใน ปี พ.ศ.  2563  โดยจะพัฒนาเป็นระบบรถไฟรางคู่มาตรฐานสากล คือรางกว้าง 1.435 เมตร  พร้อมด้วยระบบรถไฟความเร็วสูงด้วยความเร็ว  350  กม. / ชม.

            ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีแผนแม่บทในระยะ  10 ปี  15 ปี  หรือ  25  ปี  ข้างหน้าจึงไม่มีทิศทางการพัฒนาแต่ประการใด  มีเพียงแผนเร่งด่วนตามความคิดความเห็นของนักการเมืองเป็นรายวันเท่านั้น  แล้วยังมีหน้าออกมาแถลงว่าจะลงทุนพัฒนารถไฟโดยใช้เงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท  เพื่อทำรถไฟรางคู่  และรถไฟความเร็วสูง  แต่ยังยืนยันจะทำรางรถไฟความกว้างเพียง  1  เมตร  เหมือนปัจจุบัน  ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างพากันพัฒนารถไฟเป็นรางรถไฟที่มีความกว้าง  1.435 เมตร  หมดแล้ว

              คำถามก็มีว่า  ถ้าเราปล่อยให้มีการลงทุนพัฒนาถนนเป็นหลักและถ้าจะการลงทุนพัฒนารถไฟ  ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลด้วยงบประมาณกว่าแสนล้าน ก็จะเป็นระบบรางรถไฟกว้างเพียง  1  เมตร ต่อไป  ระบบรถไฟไทยจะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านไทยได้อย่างไร  เพราะระบบของเขาทุกประเทศเป็นระบบรางกว้าง  1.435 เมตร  และที่รัฐบาลลงทุนงบประมาณกว่าแสนล้านไปแล้วจะมิต้องมารื้อทำใหม่ในอนาคตอัน ใกล้หรือ.

            จากข้อสรุปและข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น  สมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย  จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนไทย  ร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1)  ให้รัฐบาลทบทวนโดยหยุดโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์-เวย์  ทั้ง  5  สาย  ในวงเงินงบประมาณกู้ประมาณ  156,000  ล้านบาท  และโยกวงเงินดังกล่าวมาใช้เพื่อพัฒนาระบบรถไฟให้ทันสมัยเทียบสากลในทันที เพื่อจะได้ปรับโครงสร้างการขนส่งทางบกลดใช้ถนนเป็นหลักมาใช้ทางรถไฟเป็นหลัก แทน

2)      ให้รัฐบาลเร่งรัดวางแผนแม่บทของการพัฒนาระบบการขนส่งทั้งหมด  เพื่อลดต้นทุนการขนส่งจากระดับ  18 % ของ GDP  ให้เหลือประมาณ  8 % ของ GDP  ภายในระยะเวลาไม่เกิน  25  ปี  เพื่อลดต้นทุนการขนส่งให้เหลือ 8% GDP หรือคิดเป็นวงเงินต้นทุนที่ลดลงได้ประมาณ  800,000 – 900,000 บาท/ปี  และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนาระบบรถไฟไทยเป็นระบบรถไฟรางคู่ มาตรฐานสากล โดยมีรางกว้าง  1.435 เมตร  และระบบรถไฟความเร็วสูงด้วยความเร็ว  250 กม. / ชม. ขึ้นไป  โดยเริ่มที่  กรุงเทพฯ โคราชกรุงเทพฯ นครสวรรค์กรุงเทพฯ หัวหินกรุงเทพฯ กาญจนบุรี และกรุงเทพฯ ระยอง  เพื่อให้รัศมี  200 กม. จากกรุงเทพฯ สามารถเดินทางถึงกันได้ภายในเวลา  1  ชั่วโมง

3)      เร่งวางแผนแม่บทรถไฟ  ในระยะเวลา  25  ปี  โดยสามารถจัดงบประมาณที่เคยใช้ก่อสร้างถนนปีละ  50,000 – 60,000  ล้านบาท  มาพัฒนารถไฟไทยแทน  ก็จะสามารถจัดระบบรถไฟให้ก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางทางการขนส่งของอินโดจีน  เชื่อมจีน  อินเดีย  มาเลเซีย  ต่อไป

4)      ตามแผนเร่งด่วนที่รัฐบาลแถลงในการพัฒนารถไฟขอให้ทบทวน  หยุดการก่อสร้างรางคู่  ระบบรางกว้าง  1.00  เมตร ไว้ก่อน  รอให้แผนแม่บทรถไฟเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงกำหนดเป็นระยะ ๆ การก่อสร้างเหมือนรถไฟจีน  เพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบบรางกว้าง  1.00  เมตร  เป็นระบบรางกว้าง  1.435  เมตร  เพื่อมิต้องผลาญงบประมาณโดยมิจำเป็นอีกต่อไป


สมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย

12   มกราคม  2553

 

นาย / นาง / นางสาว .......................................................................................

บัตรประจำตัวประชาชนเลขที่ .......................................................................

ที่อยู่ปัจจุบัน...................................................................................................

…………………………………………………………………………….


เห็นด้วย..................                         ไม่เห็นด้วย................

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

สมาคมคนพิการ

1401531010

*********************

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-01-14 10:10:02 IP : 124.121.135.247


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.