ReadyPlanet.com


100 ปี พระปิยมหาราช


 

รำลึก 100 ปี " พระปิยมหาราช "

 

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับแต่มีการสถาปนาอาณาจักรไทยขึ้นบนสุวรรณภูมิแห่งนี้ ประเทศไทยได้มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองอยู่ที่พระมหา กษัตริย์ ซึ่งทุกพระองค์ล้วนแต่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับแผ่นดินมากมาย ทรงปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม ทรงดูแลทุกข์สุขของประชาชน ทั้งในยามสงบและสงคราม โดย เฉพาะเมื่อถูกรุกรานราวีจากต่างชาติ พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้พระสติปัญญาความสามารถปกป้องแผ่นดินและประชาชน และแม้ว่าวันนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม แต่พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงดำรงตำแหน่งประมุขของชาติ เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งประเทศ

หนึ่งใน 7 มหาราชแห่งชาติไทย ที่ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์ให้กับแผ่นดินสยามมากที่สุดพระองค์หนึ่งคือ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระปิยมหาราช" เหนือหัวรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรีของปวงชนชาวไทย และในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสวรรคต เราขอหยิบยกพระราชกรณียกิจ บางช่วงบางตอน และพระปรีชาสามารถของพระองค์ที่ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก

ในรัชสมัยของพระองค์ ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 แม้ว่าต้องเสียดินแดนบ้างบางส่วน แต่พระองค์ท่านทำเพื่อรักษาเอกราชของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นนำความเสียพระทัย มาสู่พระองค์อย่างมากมายมหาศาล และหนึ่งในวิธีการที่ท่านเลือกใช้ในการรักษาอธิปไตยของชาติไทย คือการใช้ศาสนา มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว โดยได้เชิญพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เสนาบดี ข้าราชการทุกฝ่ายมาประชุมที่วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม (วัดพระแก้ว) เพื่อหารือกันว่าทำอย่างไรจึงจะช่วยกันปกปักรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ได้

การหารือครานั้นนำไปสู่การตัดสินพระทัยพิมพ์ พระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธรรมิกมหา ราช พ.ศ. 2436 (รศ.112) ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาบาลี อักษรสยาม เทียบเสียงเป็นอักษรโรมันพิมพ์เป็นชุดแรกของโลก พระราชทานแก่สถาบันสำคัญในต่างประเทศกว่า 260 แห่งทั่วโลก ถือเป็นพระไตรปิฎก ชุดหายาก มีคุณค่าสูงยิ่ง

ในกาลต่อมา พระไตรปิฎกชุดนี้ ถูกค้นพบโดย หอพระไตรปิฎกนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้ทางหอพระไตรปิฎกฯ เองก็ได้รวบรวมพระไตรปิฎกฉบับต่าง ๆ ที่เก่าแก่หายาก เช่น พระไตรปิฎกสุวรรณภูมิ ไทยเขิน ล้านนา เชียงตุง และของใหม่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ถึงรัชกาลที่ 5 ที่ได้มาจากผู้มีจิตศรัทธา มามอบให้ และค้นคว้าเพิ่มเติมที่หอสมุดแห่งชาติ กระทั่งได้พบพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าบรมธรรมมิกมหาราช พ.ศ.2436 (รศ.112) รัชกาลที่ 5

ห้วงเวลากว่าร้อยปีแห่งการเดินทางของพระไตรปิฎก ก่อนที่จะเป็นฉบับสมบูรณ์พร้อมเผยแผ่ในปัจจุบัน ปรากฏเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่เพียงเฉพาะชาวสยามเท่านั้นที่มีส่วนร่วม เพราะพระไตรปิฎกฉบับนี้มีการ สังคายนา โดยประเทศพม่าเมื่อปี 2500 แต่ยังคงมีคำผิดอีกหลายแห่ง ต่อมาในปี 2530 รัฐบาลไทยได้ทุ่มงบประมาณ 200 ล้านบาท จัดทำเป็นภาษาบาลี อักษรสยาม โดยในครั้งนั้นจัดพิมพ์เป็นพระไตรปิฎก เพื่อเฉลิมพระเกียรติ แต่ฉบับสากลอักษรโรมันยังมิได้จัดทำ

ต่อมาในปี 2542 มีผู้บอกบุญมายังท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ให้เป็นผู้อุปถัมภ์ การพิมพ์พระ ไตรปิฎกภาษาปาฬิ ด้วยอักษรโรมัน ครั้งนั้นได้มีผู้จิตศรัทธา รวมกันก่อตั้งเป็น "กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข" ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยได้ดำเนินงานตรวจทานปรับปรุงต้นฉบับอักษรต่างๆ ในอดีต และจัดพิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ที่เป็นอักษรสากล ใช้เวลา 6 ปี จึงสำเร็จในปี พ.ศ. 2548

นับเป็นพระไตรปิฎกภาษาปาฬิ ฉบับสังคายนาสากลฉบับสมบูรณ์ ที่พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ชุด 40 เล่ม ชุดแรกของโลก

6
ปี แห่งการจัดทำพระไตรปิฎก ฉบับนี้ เป็นห้วงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ มาทำงานมากมาย นิสิต นักศึกษา จากสถาบันต่าง ๆ ตลอดจนถึงบุคคลต่าง ๆ ที่มีจิตอาสาเพื่อสังคมและเพื่อประเทศชาติ ร่วมมือร่วมใจกันตรวจทานพระไตร ปิฎกที่มีคำผิดหลายหมื่นคำให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

การเผยแผ่พระไตรปิฎกสากลเป็นปฐมฤกษ์ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับพระเมตตา จาก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชทานเป็นพระธรรมทาน แก่สถาบันระดับนานาชาติที่สำคัญของโลก ทำให้ชาวโลก ร่วมสนับสนุนให้ประเทศไทย เผยแผ่พระไตรปิฎกสากลต่อไปอย่างกว้างขวาง เช่น ในพ.ศ. 2552-2553 สมาชิก Royal Orchid Plus ทั่วโลกของการบินไทย ได้บริจาคไมล์สะสมให้โครงการพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน เพื่อสนับสนุนการอัญเชิญพระไตรปิฎกสากลประดิษฐานในนานาประเทศตามรอย พระไตรปิฎก จปร. อักษรสยาม

ซึ่งภายในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา กองทุนสนทนาธัมม์ นำสุขฯ ได้จัดการมอบพระไตรปิฎกสากลเป็นพระธรรมทานไปแล้วไม่น้อยกว่า 40 สถาบัน ใน 20 ประเทศ นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2552 พระไตรปิฎกอิเล็กทรอนิกส์ในเครือข่าย อินเตอร์เน็ท มีผู้รับบริการข้อมูลเป็นประจำ ทุกเดือน ไม่น้อยกว่า 200-500 คน จาก 50-100 ประเทศทั่วโลก

สำหรับการเผยแผ่ที่สำคัญในประเทศไทย พ.ศ. 2550-2552 ได้รับความสนับสนุนจากมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ อันเป็นการต่อยอดให้การศึกษาพระไตรปิฎกสากลแก่สังคมไทย เช่น การจัดงานต่างๆ ในระหว่าง พ.ศ. 2550-2552 ทำให้มีนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมพระไตรปิฎกอย่างไม่เคยมีมาก่อน อาทิ...

การอ่านสังวัธยายที่ริเริ่มโดยโครงการพระไตรปิฎกสากล ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ทำให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศ สามารถได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมพระไตรปิฎกอย่างกว้าง ขวาง และในการสมโภชและถวายพระไตรปิฎก แด่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. 2552 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ได้เชิญสถาบันสำคัญต่างๆ อาทิ ผู้แทนคณะสงฆ์ ราชบัณฑิตยสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันตุลาการสูงสุดทั้งสามสถาบัน และสถาบันความมั่นคงของทหารทั้งสามเหล่าทัพก็ได้เข้ามาร่วมงานด้วย

ในยุคสมัยหนึ่งพระไตรปิฎกฉบับจุลจอมเกล้าฯ มีส่วนร่วมในการรักษาดินแดนสยามไว้ และในกาลต่อมายังนำมาใช้อ้างอิงในการทำพระไตรปิฎกสากล อักษรโรมัน ที่ ณ เวลานี้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จพร้อมเผยแผ่ออกไปสู่สายตาชาวโลก

ในปี 2553 ซึ่ง เป็นปีครบรอบ 100 ปี แห่งการสวรรคตของเหนือหัวรัชกาลที่ 5 เรื่องราวของพระไตรปิฎกฉบับสากล ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านและยังเป็นการเผยแพร่ อารยธรรมแห่งพุทธศาสนา ให้นานาอารยประเทศได้รับรู้ น่าแปลกตรงที่ต่างชาติให้ความสนใจมาก ขณะที่คนไทยกลับรู้เรื่องนี้น้อย และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีการพูดถึงความหมิ่นเหม่ต่อการเสียดินแดน

ในห้วงเวลาที่ประเทศไทย เรียกหาความปรองดอง ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่คนในชาติ โดยเฉพาะผู้นำ จะหันกลับไปมองและทบทวนพระราชกรณียกิจ พระปรีชาสามารถของบูรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงตรากตรำ ทำงานหนักเพื่อให้เราได้มีธงไทยเต็มผืน มีที่ยืนเต็มประเทศ ตราบจนทุกวันนี้

SCOOP@NAEWNA.COM

 

 

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

สมาคมคนพิการ

1410531941

*********************



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-10-14 19:41:20 IP : 124.121.140.156


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3219367)

รำลึก 100 ปี  " พระปิยมหาราช "

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2010-10-23 08:52:15 IP : 124.121.141.42


ความคิดเห็นที่ 2 (3219738)

วันที่ 23 ตุลาคม 2553 ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทยเพราะเป็นวันครบรอบ 100 ปีแห่งการสวรรคตของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประชาชนชาวไทยต่างน้อมรำลึกและพร้อมใจกันถวายพระสมัญญานาม แด่พระองค์ท่านว่า "พระปิยมหาราช" พระราชาผู้เป็นที่รักยิ่งแห่งปวงชนชาวไทย

ตลอดรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านปฏิบัติ พระราชกรณียกิจ มากมายทั้งทางด้านการปกครอง และด้านการศึกษา แต่สิ่งที่น่าสนใจที่เกี่ยวกับรัชสมัยของพระองค์ ที่ผู้คนไม่ค่อยจะกล่าวถึงนัก นั่นคือ การพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม ที่ยังมีหลักฐานให้เห็นจนถึงปัจจุบันนี้ ตลอดรัชสมันของพระองค์ถือได้ว่า เป็นยุคที่สยาม รับเอาสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เข้ามาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทยอย่างลงตัว มีความงดงาม โดดเด่น และถือเป็น มรดกทางสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของประเทศไทย ที่สืบมาจนถึงวันนี้

สถาปัตยกรรมที่เด่นสง่าในสมัยของพระองค์ท่าน และจนถึงปัจจุบันมีมากมาย อาทิ... พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2418 ออกแบบโดยนายจอห์น คลูนิส (John Clunis) เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เป็นแม่กองในการก่อสร้าง มีพระราชพิธีก่อพระฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 แล้วเสร็จและมีพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียรในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2425 พร้อมกับการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์และ พระราชวงศ์จักรีครบ 100 ปี ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นแบบนีโอคลาสสิค มีการแบ่งอาคารเป็น 3 ชั้น ประดับเสาอิง ซุ้มหน้าต่างและลวดลายปูนปั้นแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ แต่เรือนยอดซึ่งเดิมออกแบบไว้เป็นรูปโดมนั้น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) กราบบังคมทูล ทักท้วงว่าสมควรสร้างเป็นแบบไทย รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้พระยาราชสงคราม (ทัต หงสกุล) ทำหลังคาจตุรมุขยอดปราสาท 7 ชั้น ที่มุขกลางทำมุขเด็จยื่นออกมา ให้รับกับเรือนยอดพระมหาปราสาท ส่วนมุขกระสันชักหลังคาซ้อน 3 ชั้น สันหลังคาประดับบราลี มุงกระเบื้องเคลือบสี

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งท้องพระโรงประจำพระราชวังดุสิต ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน ที่สุดถนนราชดำเนินนอก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้นายช่างชาว อิตาเลียนประจำกรมโยธาธิการ ได้แก่ นายมาริโอ ตามานโญ ( Mario Tamagno) นายอันนิบาเล ริก็อตติ (Annibale Rigotti) สถาปนิก นายคาร์โล อาร์เลกรี (Carlo Allegri) นายเอมิลิโอ โจวันนี กอลโล (Emilio Giovanni Gollo) วิศวกรร่วมกันออกแบบ มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นแม่กอง เริ่มก่อสร้างในพ.ศ. 2450 มีพระราชพิธีก่อศิลาพระฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 แล้วเสร็จในพ.ศ. 2456 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2459

พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีต มีฐานรากแผ่ทำด้วยคอนกรีต ตามวิธี กอมแปร๊สโซล (Compressole) ของบริษัทฝรั่งเศส ผนังภายนอกกรุด้วยหินอ่อนสีขาวจากเมืองคาร์ราร่า (Carrara) ประเทศอิตาลี ภายในประดับด้วยหินอ่อนสีต่างๆ ลวดลายปูนปั้นปิดทองสอดสี ตลอดจนจิตรกรรมแบบปูนแห้ง (fresco secco) เป็นลวดลายแบบนีโอคลาสสิค ผสมผสานรูปแบบอาร์ต นูโว (Art Nouveau) และศิลปกรรมไทย เพดานโดม 6 โดม เขียนภาพพระราชกรณียกิจ สำคัญของพระมหา กษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ 6 รัชกาล ฝีมือนายกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) นายเซซาเร แฟโร (Cesare Ferro) และ นายคาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียนประจำกรมโยธาธิการ

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ตั้งอยู่ที่ถนนนครปฐม ฝั่งตะวันตกของคลองเปรมประชากร เป็นพระ-อารามหลวงชั้นเอกฝ่ายมหานิกาย ชนิดราชวรวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อวัดแหลม หรือวัดไทรทอง ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระราชโอรส มีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์วัดแหลม พร้อมด้วยพระอนุชาและพระภคินีร่วมเจ้าจอมมารดา 4 พระองค์ คือ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล และพระองค์เจ้าหญิงวงศ์ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร หรือ วัดของเจ้านาย 5 พระองค์

ในราวพ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างพระราชวังดุสิต เป็นพระราชฐานที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ นอกพระนคร การก่อสร้างในครั้งนั้น ต้องผาติกรรมที่วัดร้างรวม 4 วัด คือ วัดดุสิต วัดช่องลม วัดพนม และวัดแหลม รัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้สถาปนาวัดวัดเบญจบพิตรขึ้นใหม่ทั้งวัด ทดแทนที่วัดร้าง 4 วัดนั้น พระราชทานนามพระอารามใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร" พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2442

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบพระอุโบสถและอาคารสำคัญอื่นๆ ให้เป็นรูปแบบศิลปะไทยประยุกต์ โดยระดมช่างทั้งไทยและฝรั่ง ร่วมกันสร้างพระอารามนี้ เช่น นายคาร์โล อัลเลกรี (Carlo Allegri) นายช่างชาวอิตาเลียนประจำกระทรวงโยธาธิการ ดูแลงานวิศวกรรมโยธา นายมาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) เขียนแบบงานหินอ่อน ซึ่งสั่งจากประเทศอิตาลีทั้งหมด พระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร ทรงกำกับงานช่างเขียนอย่างไทย พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร กำกับงานช่าง สิบหมู่ พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ดูแลการก่อสร้าง

ที่กล่าวมาข้างต้นถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะสถาปัตยกรรมในรัชสมัยของพระองค์ท่านมีมากกว่า 200 แห่ง ได้แก่พระราชวังวัง ,ศาสนสถาน ,บ้าน ,อาคารราชการ ,อาคารพาณิชย์ ,อาคารเพื่อสาธารณูปโภค และสถาปัตยกรรมชั่วคราว ทั้งที่ยังคงรักษาสภาพมาจนถึงปัจจุบันและไม่มีปรากฏแล้ว จึงได้มีภาคเอกชน จัดทำหนังสือสถาปัตยกรรมในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ขึ้นเพื่อให้ปวงชนชาวได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่าน ทางด้านสถาปัตยกรรม

นายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิช จำกัด(มหาชน) หรือ "เอไอเอส" บอกว่า เอไอเอส ได้จัดพิมพ์หนังสือสถาปัตยกรรมในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ขึ้น โดยจัดพิมพ์เป็นหนังสือ จำนวน 2,453 เล่ม ตามปีพุทธศักราชที่พระองค์ท่านเสด็จสวรรคต และได้จัดทำในรูปแบบซีดีรอม จำนวน 5,000 ชุด เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวที่ ทรงทะนุบำรุง ศิลปะสถาปัตยกรรม ให้เป็นที่ประจักษ์ โดยมิได้จัดทำเพื่อจำหน่าย แต่ส่งมอบหนังสือและซีดีรอมดังกล่าว ให้แก่ห้องสมุดและสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยผ่านสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันทรงคุณค่าให้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ถือเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งแสดงถึงพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีต่อปวงชนชาวไทย...

SCOOP@NAEWNA.COM

 

 

                                                                        

 

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

ความคิดเห็นที่ 3 (3220958)

ขอบคุณในเนื้อหาดีๆ

ผู้แสดงความคิดเห็น ta tuk วันที่ตอบ 2010-10-31 21:15:04 IP : 115.87.185.144



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.