ReadyPlanet.com


รายงานสถานการณ์คนพิการปี พ.ศ. 2551


รายงานสถานการณ์คนพิการปี พ.ศ. 2551

 รายงานสถานการณ์คนพิการปี พ.ศ. 2551

โดย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ที่ปรึกษาโครงการวิจัย :     รศ.ดร.ขัตติยา กรรณสูต
หัวหน้าโครงการวิจัย :     อาจารย์ ดร.วิชัย ขำรูปดี
หัวหน้านักวิจัย :  ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร
นักวิจัย :       ดร.ทิพาภรณ์ โพธิ์ถวิล
             อาจารย์สมศักดิ์ นัคลาจารย์

บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

รายงานสถานการณ์คนพิการปี พ.ศ. 2551 ฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550 – 2554) เหตุที่ผู้วิจัยต้องแยกรายงานฉบับนี้เป็นอีกฉบับหนึ่ง เนื่องจากงานฉบับนี้มีข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับสถานกาณ์ของคนพิการในรายละเอียด

การศึกษาเรื่องสถานการณ์คนพิการ พ.ศ. 2551” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม  การเข้าถึงด้านข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ วิธีวิทยาในการศึกษาครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้ทั้งการวิจัยเอกสารจากระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนพิการ  การวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจสถานการณ์ด้านการมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม  การเข้าถึงด้านข้อมูลข่าวสาร และการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ จากกลุ่มตัวอย่างคนพิการ 340 คน กระจายตามประเภทของความพิการ และกระจายตามพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และ กรุงเทพมหานคร การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้สถิติเชิงพรรณนา(Descriptive Statistics) ได้แก่ ความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) และสถิติเชิงวิเคราะห์ ได้แก่ ค่า Chi-square และการวิจัยเชิงคุณภาพเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนพิการ และปัญหาอุปสรรคที่คนพิการเผชิญอยู่ในปัจจุบันที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งการมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม การเข้าถึงด้านข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ โดยการสัมภาษณ์เจาะลึก(In-depth interview) ผู้นำคนพิการใน 4 ภาค รวมทั้งสิ้น 21 คน และการสนทนากลุ่ม(Focus Group Discussion) กับคนพิการประเภทต่างๆ ใน4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และภูเก็ต  ทั้งนี้ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการสัมภาษณ์เจาะลึกและการสนทนากลุ่ม  จะทำการสังเคราะห์เพื่อเสริมข้อมูลสถานการณ์ของคนพิการที่ได้จากการวิจัยเชิงปริมาณให้มีความชัดเจน เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ผลการศึกษามีดังนี้

1. ข้อมูลพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่างผู้พิการ พบว่า ผู้พิการส่วนใหญ่อาศัยอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ ซึ่งก็เป็นไปตามสัดส่วนของจำนวนประชากรทั่วไป และจำนวนผู้พิการของประเทศ  ผู้พิการเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณเท่าตัว กลุ่มอายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 21-30 ปี รองลงมาคือ 31-40 ปี และ 11-20 ปี ตามลำดับ ประเภทความพิการส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นความพิการทางการเคลื่อนไหว รองลงมาคือ พิการทางสายตา สติปัญญา และหูหนวก ตามลำดับ สถานภาพสมรส ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 เป็นโสด ส่วนสมรสมีเพียงร้อยละ 20.05 ระดับการศึกษา ประมาณครึ่งหนึ่งจบชั้นมัธยมศึกษา รองลงมา จบชั้น ปวช./ปวส. และประถมศึกษา ตามลำดับ ส่วนที่จบระดับปริญญาตรีมีเพียงเล็กน้อย แต่ที่น่าสนใจคือ มีผู้ที่ไม่ได้รับการศึกษาร้อยละ 10.71 อาชีพผู้พิการ ส่วนใหญ่กำลังเรียนหนังสือ และไม่ได้ทำงานในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน สำหรับอาชีพการเป็นลูกจ้างพนักงานที่ได้รับเงินเดือน ซึ่งแสดงถึงการยอมรับความสามารถของผู้พิการ พบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น พนักงานเอกชน(3.85%) ลูกจ้างโรงาน(2.75%) พนักงานรัฐวิสาหกิจ(0.85%) และข้าราชการ(0.55%) รายได้ต่อเดือน พบว่ามากกว่าร้อยละ 70 ได้รับเงินเดือนไม่เกิน 5,000 บาท รองลงมาคือไม่เกิน 10,000 บาท(19.09%) และไม่เกิน 15,000 บาท(6.36%) ศาสนานับถือพุทธมากกว่าร้อยละ 90 และศาสนาอื่นๆ อีกเล็กน้อย การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ พบว่ามีมากกว่าร้อยละ 90 จดทะเบียนแล้ว เหตุผลที่ไม่จดทะเบียน ส่วนใหญ่กล่าวว่าเป็นเพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะจดทะเบียนได้ การเป็นโรคประจำตัวพบว่า ร้อยละ 17.31 มีโรคประจำตัว ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาพอสมควร เนื่องด้วยเพียงแค่สภาพความพิการชีวิตก็ลำบากอยู่แล้ว แต่ต้องมาเผชิญกับโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน ก็ยิ่งเป็นปัญหากับผู้พิการเพิ่มขึ้น โรคที่พบส่วนใหญ่คือ หอบ ความดัน และเบาหวาน ผู้พิการส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 ใช้สิทธิบัตรประกันสุขภาพ(บัตรทอง)

2. การมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม  ประกอบด้วย (1)การเข้าร่วมงานประเพณี พบว่า ส่วนใหญ่คนพิการมีส่วนร่วมทุกครั้งและเกือบทุกครั้ง และมีเพียงบางส่วนเข้าร่วมนานๆ ครั้ง หรือไม่เคยเข้าร่วมเลย (2) การเข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วมประชุม และนานๆ ครั้งที่เข้าร่วมประชุม  (3) การเข้าร่วมเวทีประชาคมที่จัดโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เคยเข้าร่วม และนานๆ ครั้งที่เข้าร่วม (4) การเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆที่มีในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ หรือกลุ่มอาชีพต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่เป็นสมาชิก  ผู้เป็นสมาชิกส่วนใหญ่เข้าร่วมประชุมทุกครั้งและเกือบทุกครั้ง (5) การเป็นคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน พบว่า ผู้พิการได้รับการยอมรับจากชุมชนยังไม่มากนัก และเมื่อได้รับโอกาสแล้วก็เข้าร่วมประชุมหรือร่วมกิจกรรมเป็นส่วนใหญ่ (6) การเป็นคณะกรรมการองค์กรของผู้พิการ พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเป็น แต่ผู้ที่เป็นแล้วจะมีส่วนร่วมเป็นอย่างดี (7) การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการหรืออนุกรรมการของรัฐของผู้พิการ  พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเข้าร่วม (8) การเข้าร่วมรณรงค์กับองค์กรของผู้พิการในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ พบว่า มีประมาณครึ่งหนึ่งที่ไม่เคยเข้าร่วม ผู้ที่เข้าร่วมทุกครั้งมีเพียงเล็กน้อย  (9) การไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่น พบว่า ผู้พิการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิทางการเมืองอย่างดีเยี่ยม โดยส่วนใหญ่ไปทุกครั้ง และเกือบทุกครั้ง และ(10) การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้แทนระดับชาติ พบว่าผู้พิการให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิทางการเมืองอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิ์ทุกครั้ง

สำหรับเหตุผลสำคัญที่คนพิการไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมตามที่กล่าวมาข้างต้น คือ ไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่มีเวลา/โอกาส ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิได้ (กรณีการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นและระดับชาติ) อ่าน เขียนไม่ได้ (กรณีการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับชาติ) และติดภารกิจ ตามลำดับ

3. การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ พบว่า ความสะดวกในการเข้าถึงบริการหน่วยงานของรัฐและเอกชนง่ายที่สุด คือ โรงพยาบาลของรัฐ ห้างสรรพสินค้า และสถานีอนามัยที่ใกล้บ้านส่วนหน่วยงานที่ผู้พิการเห็นว่าได้รับประโยชน์มากที่สุดคือโรงเรียน ห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลของรัฐ

4. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พบว่า ผู้พิการส่วนใหญ่เห็นว่า โทรทัศน์ เข้าถึงง่ายที่สุด รองลงมา คือ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ หนังสือพิมพ์รายวัน และอินเตอร์เนท ตามลำดับ ส่วนประโยชน์ที่ได้รับ พบว่า สื่อโทรทัศน์ ได้รับมากที่สุด รองลงมา คือ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ หนังสือพิมพ์รายวัน และอินเตอร์เนท ตามลำดับ

5. ความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ ของคนพิการกับการมีส่วนร่วมและการเข้าถึง   ภูมิสถาปัตย์ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร พบว่า

5.1 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ของผู้พิการอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01 ได้แก่ อาชีพ และปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นสมาชิกกลุ่มต่างๆ ของผู้พิการ ได้แก่ ภาค เพศ อายุ ประเภทความพิการ สถานภาพสมรส การศึกษา รายได้ ศาสนา เขตพื้นที่อาศัย การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ การมีโรคประจำตัว สิทธิการรักษาพยาบาล

5.2 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ของผู้พิการ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01   ได้แก่ ระดับการศึกษา อาชีพ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ของผู้พิการ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ได้แก่ ภาค และปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ของผู้พิการ ได้แก่ เพศ อายุ ประเภทความพิการ สถานภาพสมรส รายได้ ศาสนา เขตพื้นที่อาศัย การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ การมีโรคประจำตัว สิทธิการรักษาพยาบาล

5.3 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการองค์กรของผู้พิการ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.01   ได้แก่ ภาค อายุ ประเภทความพิการ สถานภาพสมรส การศึกษา อาชีพ เขตพื้นที่อาศัย ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการองค์กรของผู้พิการ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 ได้แก่ รายได้ การมีโรคประจำตัว สิทธิการรักษาพยาบาล และปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการองค์กรของผู้พิการ ได้แก่ เพศ ศาสนา การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ

5.4 ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการที่ต้องมีผู้แทนคนพิการอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01   ได้แก่ ภาค ประเภทความพิการ การศึกษา อาชีพ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการที่ต้องมีผู้แทนคนพิการ อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ.05 ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส และปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเป็นคณะกรรมการที่ต้องมีผู้แทนคนพิการได้แก่ เพศ รายได้ ศาสนา เขตพื้นที่ การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ การมีโรคประจำตัว สิทธิการรักษาพยาบาล

6. การมีส่วนร่วมของคนพิการในกิจกรรมทางสังคม พบว่า

6.1 การเข้าร่วมกิจกรรมงานประเพณีต่างๆ ในชุมชน คนพิการเข้าร่วมในสัดส่วนน้อยมาก คนพิการที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคใต้ พิการทางหู (หูหนวก) ผู้ที่สมรสแล้ว ระดับการศึกษาปริญญาตรี อาชีพรับราชการ ช่วงรายได้ 5,000-10,000 บาท (61.9%) อาศัยในเขตเทศบาล ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้พิการ และผู้พิการที่ไม่มีโรคประจำตัว ขณะที่เพศ และศาสนา พบว่าไม่แตกต่างกันมากนักในการเข้าร่วมกิจกรรม

            6.2 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในชุมชน  คนพิการที่เข้าร่วมในการแก้ไขปัญหาทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงอายุระหว่าง 51-60 ปี พิการทางสายตา (ตาบอด) ผู้ที่สมรสแล้ว ระดับการศึกษาปริญญาตรี อาชีพรับราชการ ช่วงรายได้ 10,000-15,000 บาท ขณะที่เพศ ศาสนา เขตพื้นที่อาศัย การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ การมีโรคประจำตัว พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในการเข้าร่วมกิจกรรมแก้ไขปัญหาชุมชน

            6.3 การมีส่วนร่วมในเวทีประชาคม คนพิการที่เข้าร่วมในในเวทีประชาคมทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ อายุระหว่าง 51-60 ปี พิการทางสายตา (ตาบอด) ผู้ที่สมรสแล้ว ระดับการศึกษาประถมศึกษา อาชีพรับราชการ ขณะที่เพศ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในการเข้าร่วมในเวทีประชาคม 

            6.4 การมีส่วนร่วมในการประชุมกลุ่มต่างๆ ทีมีอยู่ในชุมชน คนพิการที่เข้าร่วมในการประชุมกลุ่มทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคเหนือ เพศชาย อายุระหว่าง 21-30 ปี (50.0%) ช่วงรายได้ 10,001-15,000 บาท ขณะที่ประเภทความพิการ ผู้ที่สมรสแล้ว   การศึกษา อาชีพ ศาสนา เขตพื้นที่ อาศัย การจดทะเบียนเป็นผู้พิการ และการมีโรคประจำตัว พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนักในการเข้าร่วมประชุมกลุ่ม

6.5 การมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการกลุ่มต่างๆ ทีมีอยู่ในชุมชน คนพิการที่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกลุ่มทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคกลาง เพศชาย ช่วงอายุ 51-60 ปี พิการทางสายตา (ตาบอด) ผู้ที่สมรสแล้ว    ขณะที่ การศึกษา อาชีพ รายได้ ศาสนา เขตพื้นที่อาศัย การจดทะเบียนผู้พิการ การมีโรคประจำตัว การเข้าร่วมกิจกรรม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนักในการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ

            6.6 การมีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการองค์กรของผู้พิการ คนพิการที่เข้าร่วมในการประชุมคณะกรรมการองค์กรของผู้พิการทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคเหนือ เพศชาย ช่วงอายุ 21-30 ปี ผู้พิการทางสติปัญญา ผู้ที่สมรสแล้ว ระดับการศึกษาปริญญาตรี อาชีพธุรกิจส่วนตัว ช่วงรายได้ 1,001-15,000 บาท นับถือศาสนาพุทธ กิจกรรม เขตพื้นที่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้พิการผู้ที่ไม่จดทะเบียน และผู้พิการที่ไม่มีโรคประจำตัว

6.7 การมีส่วนร่วมในการรณรงค์ คนพิการที่เข้าร่วมในการรณรงค์ทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคใต้ เพศชาย ช่วงอายุ 51-60 ปี (32.0%) พิการทางสายตา (ตาบอด) ผู้ที่สมรสแล้วและผู้ที่เคยสมรส ระดับการศึกษาปริญญาตรี อาชีพรับราชการ ช่วงรายได้ 10,000-15,000 บาท อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้ที่จดทะเบียนคนพิการ ผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว ขณะที่ศาสนา พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนักในการมีส่วนร่วมในการรณรงค์

6.8 การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งท้องถิ่น คนพิการที่เข้าร่วมในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคกลาง เพศชาย ช่วงอายุ 31-40 ปี ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้ที่สมรสแล้ว ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี อาชีพลูกจ้างในโรงงาน/สถานประกอบการ ขณะที่รายได้ ศาสนา เขตพื้นที่อาศัย การจดทะเบียนผู้พิการ และการมีโรคประจำตัว การไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่น พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนักในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

6.9 การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งระดับชาติ คนพิการที่เข้าร่วมในการเลือกตั้งระดับชาติ ทุกครั้งมากที่สุด คือ ผู้พิการที่อาศัยอยู่ภาคกลาง เพศชาย ช่วงอายุ 21-30 ปี พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้ที่สมรสแล้วและผู้ที่เคยสมรส ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี อาชีพพนักงานเอกชน อาศัยในเขตกรุงเทพมหานคร ขณะที่รายได้ ศาสนา การจดทะเบียนผู้พิการ และการมีโรคประจำตัว พบว่าไม่มีความแตกต่างกันมากนักในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งระดับชาติ

7. การเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์และข้อมูลข่าวสารและข้อมูลข่าวสารในแต่ละภาค

            7.1 การเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ของแต่ละภาค พบว่า ผู้พิการที่อยู่ในภาคเหนือ สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ โดยรวมได้เป็นอย่างดี บริการที่เข้าถึงได้ง่ายก็คือ โรงพยาบาลของรัฐ สถานีอนามัยใกล้บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล ส่วนบริการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบิจังหวัด สำหรับการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ วิทยุ และโทรทัศน์ 

            ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ โดยรวมได้เป็นอย่างดี บริการที่เข้าถึงได้ง่ายก็คือ โรงพยาบาลของรัฐ สถานีอนามัยใกล้บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบล โทรศัพท์สาธารณะโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า สำหรับบริการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้คือ โรงพยาบาลเอกชน ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ และอินเตอร์เนท

            ภาคกลาง สามารถเข้าถึงบริการ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยรวมได้ดีกว่าภาคอื่น และ

            ภาคใต้ ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ บริการที่เข้าถึงได้ง่ายคือ สถานีขนส่ง  ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ สำหรับบริการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ดคือ สถานรถไฟ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด โทรศัพท์สาธารณะ สนามบินจังหวัด ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์

7.2 การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ของแต่ละประเภทความพิการ พบว่า ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ง่ายที่สุดมากกว่าผู้พิการประเภทอื่น และได้รับประโยชน์มากที่สุดมากกว่าผู้พิการประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกัน ผู้พิการทางสายตา(ตาบอด)สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ง่ายเป็นอันดับสอง รองจากพิการทางการเคลื่อนไหว บริการที่เข้าถึงได้ง่ายคือ ห้างสรรพสินค้า รถโดยสารสาธารณะ โรงพยาบาลของรัฐ สถานีอนามัยใกล้บ้าน บริการที่เข้าถึงได้ยากคือ หนังสือพิมพ์รายวัน สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้าบนดิน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ วิทยุ โทรทัศน์ ผู้พิการทางหู(หูหนวก) มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ โทรศัพท์สาธารณะ สถานีรถไฟ  สถานีรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน  ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ หนังสือพิมพ์รายวัน ผู้พิการทางด้านสติปัญญา เป็นผู้ที่มีความยากลำบากที่สุดในการเข้าถึงบริการต่างๆ ยกเว้นที่เข้าถึงได้ง่ายก็คือ โรงพยาบาลของรัฐ สถานีอนามัยใกล้บ้าน โรงพยาบาลเอกชน (56.4%) ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ โทรทัศน์ วิทยุ

7.3 การเข้าถึงบริการและการใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ของแต่ละระดับการศึกษา พบว่า ผู้พิการที่ไม่ได้เรียน บริการที่เข้าถึงได้ง่ายและได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ โรงพยาบาลของรัฐ และสถานีอนามัยใกล้บ้าน บริการที่ไม่สามารถเข้าถึงได้คือ โรงพยาบาลเอกชน ประกันสังคมจังหวัด ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ วิทยุ โทรทัศน์ ผู้ที่จบประถมศึกษา ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์จากบริการต่างๆ ได้ ส่วนการเข้าถึงได้ง่ายและใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารได้มาก คือ วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ผู้ที่จบมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่สามรถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการด้านต่างๆ ดีกว่าผู้ที่จบประถมศึกษา และผู้ที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ผู้ที่จบ ปวส./ปวช. ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการต่างๆ ใกล้เคียงกับผู้ที่จบมัธยมศึกษา ผู้ที่จบปริญญาตรี ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์จากบริการด้านต่างๆ ดีกว่าผู้ที่จบ ปวส./ปวช. มัธยมศึกษา ประถมศึกษาและผู้ที่ไม่ได้เรียน ผู้ที่จบสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์จากบริการด้านต่างๆ ได้ดี แต่ก็มีบ้างที่ไม่เลือกใช้บริการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะอาชีพ ฐานะทางการเงิน ทำให้สามารถเลือกใช้บริการได้ เช่น ไม่ใช้บริการของสถานีอนามัยใกล้บ้าน ประกันสังคมจังหวัดและโรงเรียน

7.4 การเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ของแต่ละอาชีพ พบว่า ผู้พิการที่มีอาชีพค้าขาย อาชีพรับจ้างทั่วไป อาชีพลูกจ้างทั่วไป อาชีพลูกจ้างโรงงาน/สถานประกอบการ อาชีพรับราชการ อาชีพพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ที่กำลังเรียน อาชีพพนักงานเอกชน อาชีพธุรกิจส่วนตัว และอาชีพเกษตรกรรม สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ยกเว้นผู้ที่ไม่ได้ทำงาน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากบริการต่างๆ ได้ไม่ดี

7.5 การเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ของแต่ละเขตที่อยู่อาศัย พบว่า ผู้พิการที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และนอกเขตเทศบาลส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงและใช้บริการด้านต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้พิการที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครนั้นสามารถเข้าถึงและใช้บริการด้านต่างๆ ได้ดีกว่า

7.6 การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของคนพิการด้านภูมิสถาปัตย์ของแต่ละสิทธิการรักษาพยาบาล พบว่า ผู้พิการที่มีบัตรสิทธิข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ บัตรประกันสังคม และบัตรประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สามารถเข้าถึงบริการและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด คือ โรงพยาบาลของรัฐ และสถานีอนามัยใกล้บ้าน

8. ข้อมูลเชิงคุณภาพจากความคิดเห็นของผู้นำคนพิการ ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ของคนพิการในปี 2551 แม้ภาพรวมจะดีขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดคุณภาพชีวิตของคนพิการในหลายด้านก็ยังคงตกต่ำยังมีปัญหาที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านอาชีพ การมีงานทำ และรายได้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากภูมิสถาปัตย์ที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อคนพิการทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ผู้พิการทางการได้ยิน ซึ่งมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงปริมาณ

9. ข้อเสนอแนะ  

            9.1 ข้อเสนอแนะต่อตัวคนพิการและครอบครัว ได้แก่

(1) คนพิการควรเข้าใจภาวะความพิการของตนเอง ยอมรับความจริง สร้างพลังใจให้กับตนเอง เชื่อมั่นว่าตนเองมีความสามารถ ไม่เก็บตัวเองอยู่ในบ้านหรือในมุมแคบ ๆ

            (2)คนพิการทางการได้ยิน (หูหนวก เป็นใบ้) คนพิการทางสมองและสติปัญญาซึ่งเป็นกลุ่มคนพิการที่ยังไม่เข้มแข็ง ทำให้ขาดโอกาส เข้าไม่ถึงสิทธิและบริการทางสังคมต่างๆ ควรรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน องค์กรคนพิการตลอดจนภาคธุรกิจที่สนใจทำประโยชน์เพื่อสังคม ควรให้การสนับสนุน

            (3) คนพิการพึงรับรู้ เข้าใจ และเข้าถึงสิทธิที่ตนพึงได้รับตามที่กฎหมายกำหนดในฐานความเป็นมนุษย์ ความเป็นพลเมืองไทย และในฐานะความเป็นคนพิการ

            (4) คนพิการจะต้องแสดงศักยภาพทางบวก และแสดงพลังสร้างสรรค์ให้เป็นที่ประจักษ์ของสังคม มีส่วนร่วมในกิจกรรม/โครงการต่างๆที่คนพิการสามารถทำประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม

            (5) คนพิการต้องให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้ง ภาครัฐ ภาคท้องถิ่น  ภาคเอกชน และองค์กรคนพิการเอง 

            (6) พ่อแม่ ผู้ปกครองของคนพิการต้องปรับทัศนคติและวิธีการอบรมเลี้ยงดูให้เหมาะสม

9.2 ข้อเสนอแนะต่อองค์กรคนพิการ ได้แก่

(1) องค์กรคนพิการต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สุขและเสริมสร้างคุณภาคชีวิตที่ดีแก่คนพิการ

(2) องค์กรคนพิการจะต้องทำหน้าที่ในการพิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิของคนพิการ การผลักดันนโยบาย การเป็นตัวแทนในการเรียกร้องสิทธิเพื่อคนพิการ

(3) องค์กรคนพิการควรพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (ยึดหลักธรรมาภิบาล บูรณาการการทำงาน การพัฒนาผู้นำและแกนนำ)

(4) องค์กรคนพิการควรส่งเสริมให้คนพิการการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรคนพิการเพิ่มขึ้นทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และพัฒนาให้เข้มแข็ง

9.3 ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่

(1) รัฐควรตระหนักและให้ความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอันดับต้นๆ

(2) คนพิการที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ รัฐต้องช่วยเหลือดูแลให้คนพิการได้รับหลักประกันในการดำรงชีวิต ได้แก่  มีสถานที่สำหรับพักอาศัย มีอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยามเจ็บป่วยได้รับการรักษา  รวมทั้งจัดให้มีเบี้ยยังชีพ การพัฒนาทักษะอาชีพ และมีทุนประกอบอาชีพสำหรับคนพิการ มีบริการให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาเป็นรายกรณี

(3) หน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการควรรับคนพิการเข้าทำงาน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับสถานประกอบการที่ยังไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามที่กฎหมายกำหนด

(4) รัฐควรตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ความต้องการการช่วยเหลือเด็กออทิสติก เด็กพิการทางสมองและสติปัญญามากขึ้น 

(5) รัฐต้องมีนโยบายและมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้นในการให้การสนับสนุนช่วยเหลือต่อกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน(หูหนวก เป็นใบ้)อย่างจริงจัง

9.4 ข้อเสนอแนะต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาการทำบทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการในท้องถิ่นของตน ตามภารกิจที่ได้รับถ่ายโอนมา และตามพ.ร.บ.การกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542

            9.5 ข้อเสนอแนะต่อแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่

            (1) ควรมีสำรวจสภาพปัญหา ความต้องการที่แท้จริงของคนพิการ และแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการแต่ละประเภท

            (2) ทุกภาคส่วนในสังคมควรสนับสนุนและให้โอกาสคนพิการแสดงความสามารถของตนในการประกอบอาชีพ มีรายได้เลี้ยงชีพ

            (3) ควรมีการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ทุกระดับ  มีการบริหารจัดการแบบทั่วถึง จะทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น

            (4) ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบอาสาสมัครดูแลคนพิการอย่างจริงจัง

            (5) ควรพัฒนาระบบฐานข้อมูลคนพิการให้มีความเชื่อมโยงกันให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น   

            (6) ควรมีการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารให้คนพิการทราบสิทธิของตนตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้คนพิการรู้เท่าทันสถานการณ์ และการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถปรับและพัฒนาตนเองให้ดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างมีความสุข

 

01-06-10

Maj.sirichai  Sapsiri.

- - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

สมาคมคนพิการ

0106531725

*********************

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com ) :: วันที่ลงประกาศ 2010-06-01 17:25:12 IP : 124.121.138.178


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.