ReadyPlanet.com


แสดงความยินดีกับ บัณฑิตสาวพิการ สาขานิเทศศาสตร์ มสธ.


วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6991 ข่าวสดรายวัน


"หัวใจ"เปี่ยมพลัง บัณฑิตสาวไร้แขนขา

"กายพิการไม่ใช่อุปสรรคในการเรียน""ถ้ามีความรู้ย่อมมีโอกาสได้งานที่ดีทำ"นุ้ย น.ส.ธนารี ฟุ้งภิญโญภาพ อายุ 29 ปี บัณฑิตใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จากเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ใช้เวลาเรียนที่มสธ.เพียง 3 ปีครึ่ง ก็สำเร็จการศึกษาเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2551 ด้วยเกรดเฉลี่ย 2.43 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2553 ที่อาคารอเนกนิทัศน์ มสธ. ร่วมกับเพื่อนบัณฑิตจากสาขาวิชาต่างๆ

ในอนาคตนุ้ยตั้งใจจะเรียนต่อระดับปริญญาโท ที่มสธ. การที่เลือกเรียนสาขานิเทศศาสตร์ เพราะชอบงานด้านประชาสัมพันธ์

นุ้ยให้เหตุผลในการเลือกเรียนที่มสธ.ว่า ต้องทำงานและเรียนไปด้วย มสธ.เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ถึงเวลาก็ไปสอบ ทำให้สะดวกมาก สภาพร่างกายไม่เป็นปัญหาต่อการเรียน เพราะเราอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน ถึงเวลาก็ไปสอบ

ในการเรียนนุ้ยต้องช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด อ่านหนังสือเยอะๆ แล้วสรุปทบทวนอีกครั้ง หลังจากเลิกงาน 2-3 ทุ่ม ทำกิจวัตรส่วนตัวเสร็จก็อ่านหนังสือวันละ 1-2 ชั่วโมง ถึงเวลาไปสอบที่อ.สัตหีบ ก็ขึ้นรถสองแถวให้เขาไปส่งถึงอาคารโดยจ่ายเพิ่มพิเศษ

"
เราสภาพร่างกายเป็นแบบนี้คงไปทำงานแบบใช้แรงไม่ได้ ต้องทำงานที่ใช้ความรู้ ใช้สมอง การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงตั้งใจเรียนอย่างน้อยเทียบเท่าคนทั่วไปที่เขาจบปริญญาตรี และมั่นใจว่าถ้ามีความรู้ความสามารถ มีปริญญาติดตัว ทำงานได้ และมีที่สักที่ที่ให้โอกาสเราทำงาน แต่ต้องพยายามให้มากกว่าคนอื่น



"ถึงวันนี้ภูมิใจมากที่ตัวเองทำได้ขนาดนี้ อยากบอกหลายๆ คนว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรามีความรู้ทุกๆ ที่ย่อมให้โอกาสเราในการทำงาน"

บัณฑิตใหม่หมาดๆ ย้อนอดีตว่า เกิดมาโดยไม่มีมือและเท้าทั้ง 2 ข้าง ทำให้แม่และครอบครัวแม่รังเกียจ กลัวว่าจะเป็นภาระจึงทิ้งไป เหลือเพียงพ่อที่รักลูกเหนือสิ่งอื่นใด ยืนยันที่จะเลี้ยง โดยพ่อซึ่งเปิดร้านไดนาโมจ้างพี่เลี้ยงมาคอยดูแล ต่อมาพ่อแต่งงานใหม่ มีลูกชายอีก 2 คน แต่ก็ไม่มีปัญหาใดๆ พ่อดูแลอย่างดี เปิดเผย ไม่เคยอายเวลาพาเธอไปเที่ยวข้างนอก

"พ่อมักคอยสอนเสมอว่าไม่ต้องไปเกรงกลัวสายตาใคร ลูกพิการเพียงแค่ร่างกาย คนที่รังเกียจลูกต่างหากที่พิการใจ ลูกยังเดินได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่ได้ทำตัวเป็นภาระของใคร จงภาคภูมิใจในความสามารถของลูก"

พ่อสอนให้เรียนรู้ที่จะยอมรับความจริง เพื่อก้าวเดินต่อไปข้างหน้าและพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ไม่มีสิ่งไหนในโลกใบนี้ที่หากเพียรพยายามอย่างเต็มกำลังแล้วจะทำไม่ได้

พ่อจ้างครูมาสอนหนังสือ จนนุ้ยอ่านออกเขียนได้ ช่วยพ่อรับโทรศัพท์ลูกค้า และจดบันทึกไว้เวลาพ่อไม่อยู่ เมื่ออายุ 19 ปี เริ่มอยากเรียนที่ กศน. เพราะอยากมีงานทำ โดยคิดว่าเธอทำงานได้ ขอเพียงมีความรู้ จึงติดต่อจนเจอหัวหน้ากศน.เขตราษฎร์บูรณะ ท่านส่งคนมาดูและลองสอบเทียบความรู้ จากที่ไม่มีวุฒิเลยก็เริ่มเรียน ม.3 ใช้เวลา 3 ปีก็จบม.6 โดยการอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน ถึงเวลาก็ไปสอบ

 

ชีวิตหักเหอีกครั้งเมื่อปี 2543 หลังพ่อเสียชีวิตและทำบุญครบ 100 วัน ต้องออกจากบ้านเพราะไม่อยากเป็นภาระให้กับแม่เลี้ยง จึงตัดสินใจออกจากบ้านมาพร้อมกับพี่เลี้ยงที่เปรียบเสมือนแม่ ชื่อติ๋ม ต้องย้ายไปถึง 2 แห่งกว่าจะมาเจอครอบครัวรัชตะชัยอนันต์ เพื่อนเก่าของพ่อ ซึ่งรับนุ้ยกับแม่ติ๋มไปอยู่ด้วย ต่อมาได้พาไปเที่ยวที่พัทยา ทำให้รู้ข่าวโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ที่ฝึกสอนวิชาชีพให้คนพิการ ทำให้มีความหวังในชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

นุ้ยสอบติดและเข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ ในหลักสูตรคอมพิวเตอร์และการจัดการธุรกิจ ภาคภาษาอังกฤษ เป็นเวลา 2 ปี และเรียนจบในเดือนมีนาคม ปี 2545 โดยได้งานที่บริษัทโพสต์เวย์ ในตำแหน่งพนักงานขายทางโทร ศัพท์และดูแลเรื่องงานโฆษณาก่อนจบจริงถึง 2 เดือน

เมื่อต้องสอบเจ้านายอนุญาตให้หยุด จึงต้องทำงานและเรียนไปพร้อมๆ กัน จากนั้นจึงเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มสธ. แต่ปรากฏว่าหลังทำงานได้เพียง 1 ปี 11 เดือน บริษัทต้องปิดตัว จึงตกงานอยู่นานถึง 1 ปีครึ่ง ก่อนกลับมามีงานทำที่ศูนย์คณะพระมหาไถ่ พัทยา ในตำแหน่งรับจองห้องพักเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

"
ตอนพ่อเสียเหมือนเรือที่ขาดหางเสือ ไม่รู้จะเดินไปทางไหน เคยคิดอยากจะตายตามพ่อไป แต่มาได้คิดว่าพ่อสู้ทำทุกอย่างเพื่อให้ทุกคนที่ดูถูกและรังเกียจได้รู้ว่าความพิการของเราไม่เคยเป็นภาระให้ใคร ดูแลตัวเองได้ดี เมื่อได้งานทำก็พิสูจน์ได้ว่าเรายังมีความสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ความพิการทางร่างกายไม่ได้เป็นอุปสรรค และคิดเสมอว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้ามีความรู้ย่อมมีโอกาสได้งานที่ดีทำ"

นุ้ยบอกอีกว่า อยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนพิการหลายๆ คนที่พ่อแม่จะปิดกั้นลูกพิการให้อยู่กับบ้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วควรปล่อยให้เขาออกข้างนอกให้เขาเคยชิน เพื่อให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างคนทั่วไป สังคมไทยเป็นสังคมที่ดี มีคนข้างนอกคอยช่วยเหลือจำนวนมาก

ด้าน ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ศรีดี อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มสธ. กล่าวว่า นุ้ยเป็นคนร่าเริง ยิ้มแย้มตลอดเวลา อัธยาศัยดี มองโลกในแง่บวก เอาใจใส่กับการเรียน ไม่เข้าใจจะถาม ผิดก็แก้ทันที และเหมาะกับวิชาเอกประชาสัมพันธ์มาก เขามีความตั้งใจ และเพียรพยายาม เป็นคนฉลาด รับรู้ได้เร็ว จำได้ว่าวันสุดท้ายที่เขานำเสนองาน นุ้ยจะเป็นคนแรกที่อาสานำเสนอผลงาน เขาบอกว่าอยากให้คนได้รับรู้สิ่งที่เขาคิด

"
ตลอดเวลาที่ได้ดูแลเขา ไม่ได้รู้สึกว่าเขาลักษณะพิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่นเลย แต่กลับรู้สึกว่าเขาเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ อีกหลายคนที่ท้อแท้ในชีวิต เขาสู้ชีวิต ไม่ท้อ พยายามไขว่คว้าหาความรู้จนสำเร็จปริญญาตรี มั่นใจว่าเขาจะต้องประสบความสำเร็จในชีวิตแน่นอน"

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

สมาคมคนพิการ

1901532016

*********************

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-01-19 20:16:31 IP : 124.121.141.129


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.