ReadyPlanet.com


มุมมองเรื่องเบี้ยความพิการ ของคนพิการและคนไม่พิการ


Re: เบี้ยความพิการ : ความยั่งยืนของคนพิการไทย?

Wednesday, 23 December, 2009 12:45

From:

"tum yupa" <tum_org@yahoo.com>

ขอบคุณคะ คุณสว่าง ที่ให้ความรู้และแง่คิดที่น่าสนใจ

 

เนื่องจากว่าคนพิการมีหลากหลายในที่นี้หมายถึง ความหลากหลายทางความต้องการ ซึ่งดิฉันมองว่าปัญหานี้มองออกเป็น ๒ ส่วน คือ

 

ส่วนที่ ๑. คนพิการที่ยังต้องการความช่วยเหลือในการสงเคราะห์หรือที่เรียกกันว่าสวัสดิการนั่นเอง (ซึ่งเป็นการช่วยเหลือแบบชั่วคราว) การแจกเงินเบี้ยยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้ง แจกรถเข็น หรือการให้อื่นๆ แต่จะดีมากยิ่งขึ้นถ้าการให้เป็นการให้เชิงพัฒนาและสนับสนุนให้คนพิการมีทางเลือก เช่น การแจกรถเข็นที่สามารถเลือกให้เหมาะสมกับความพิการ วัสดุอุปกรณ์มีคุภาพดี ใช้งานสะดวก หรือเป็นอุปกรณ์เสริมอย่างอื่นที่จำเป็นต้องใช้ เช่น เตียงนอน เตียงลม เครื่องยก อุปกรณ์เครื่องพิมม์สำหรับคนตาบอด หรืออุปกรณ์เครื่องช่วยอื่นๆที่จำเป็น หรือล่ามภาษามือที่เพียงพอ

    เมื่อผ่านพ้นส่วนที่หนึ่งมาได้ ก็จะต้องมีต่อภาคที่สอง ว่าจะพัฒนากันอย่างไรต่อไป

 

 

ส่วนที่ ๒. คนพิการต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น ต้องการมีอาชีพ ต้องการการศึกษา ต้องการสิ่งแวดล้อมที่สามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและปลอดภัย (ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและถาวร) ซึ่งการลงทุนในเรื่องเป็นการลงทุนครั้งเดียว ได้ผลในระยะยาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว แต่จะส่งผลดีในระยะยาว เช่น ถ้าทุกโรงเรียนคนพิการไปเรียนได้ เราก็จะลดจำนวนประชากรที่ไม่รู้หนังสือ เมื่อคนพิการมีการศึกษาก็สามารถหางานทำเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม ถ้าเตรียมระบบขนโดยเฉพาะรถเมล์ ที่คนทุกกลุ่มใช้ได้ สะดวก และปลอดภัย คนพิการก็สามารถออกเดินทางได้สะดวก ไปเรียนหนังสือได้ สามารถไปทำงานได้ ส่งผลกลับมาที่สังคมโดยรวมว่าลดภาระการดูและคนพิการ เพราะคนพิการจะดูแลตัวเอง 

   

    ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่จะมีแค่เรื่องการศึกษา การเดินทาง หรืออาชีพ เท่านั้น แต่ทุกอย่างจะต้องสัมพันธ์กันทั้งระบบของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศนั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่จะทำอะไรต้องคิดๆๆๆๆๆๆ   การช่วยเหลือคนพิการอย่าคิดว่าเป็นการให้เปล่า แต่ให้คิดว่าเป็นการลงทุน ว่าคุณจะได้อะไรคืนมาจากคนเหล่านี้ เพราะถ้าคุณคิดว่าให้เปล่าเมื่อไหร่ คุณก็จะไม่ได้อะไรกลับคืนมา คุณจะเสียทุกอย่างไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ถ้าคุณคิดว่านี่คือการลงทุน แน่นอน คุณจะต้องคิดว่าคุณจะทำอย่างไรที่คุณจะได้ทุนพร้อมทั้งกำไรกลับคืนมา

 

สุรีพร ยุพา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

www.waddeeja.com

Tel.02-990-0331

2312522304

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-12-23 23:04:29 IP : 124.121.139.88


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3140315)

เรียนทุกท่าน

 ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นบ้างละกันครับ หลังจากที่ไม่ค่อยได้เขียนอะไรยาวๆ มานาน

 เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคมมีงานวันคนพิการจัดโดยกรุงเทพมหานคร และ ๒๒ ธันวาคมมีงานของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีประเด็นตรงกับเรื่องนี้พอดี

 งานวันคนพิการที่กทม. จัดนั้นมีการเชิญวิทยากรทั้งคนพิการและนักวิชาการมาพูดถึงความก้าวหน้าของกฏหมายไทยที่จะให้ประโยชน์แก่คนพิการ ยกตัวอย่างเช่น เบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อเดือน การเพิ่มจำนวนโควต้าจาก 200:1 เป็น 50:1 (จ้างงานคนพิการ) การให้ทุนคนพิการเรียนปริญญาตรีฟรี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายผู้ช่วยส่วนตัวคนพิการ การให้บริการล่ามภาษามือ ฯลฯ ซึ่งเกือบทุกอย่างล้วนแต่จัดให้คนพิการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในณะที่การประชุมอีกที่หนึ่งเกี่ยวกับสิทธิของคนพิการในการเข้าถึงกิจการโทรคมนาคม เมื่อสามปีที่แล้ว มีการออกประกาศ USO (Universal Service Obligation) หรือบริการทั่วถึง หนึ่งในประกาศดังกล่าวมีการแจกบัตรโทรศัพท์ (พินโฟน) ให้คนพิการจำนวน 1,000,000 ล้านใบ ใบละ 100 บาท ทุกเดือนเป็นเวลา 30 เดือน (ณ ขณะนี้ประกาศ USO ฉบับใหม่ออกแล้ว แต่บัตรเก่ายังแจกไม่หมด) รวมเป็นเงิน (1,000,000 x 100 x 30) 3 พันล้านบาท ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ในขณะเดียวกันก็มีคนพิการให้ความเห็นว่ามีบัตรแล้วใช้ไม่ได้ เช่น ตู้โทรศัพท์สาธารณะที่จะใช้ไม่สะดวกสำหรับคนพิการ คนตาบอดไม่ทราบรหัสบนการ์ดเนื่องจากไม่มีอักษรเบรลล์ คนพิการหลายคนไม่ทราบว่าจะไปเอาบัตรที่ว่าได้ที่ไหน ฯลฯ และนโยบาย/กฎหมายต่างๆ เหล่านี้ต่างก็บอกว่า เป็นการให้สวัสดิการด้วยฐานสิทธิ

 

ผมได้แสดงความเห็นไปว่า ตอนนี้ประเทศของเรากำลังคลั่งคำว่าสิทธิ ทุกคนพูดเรื่องสิทธิ ทุกคนโฆษณางานของตนว่าเป็นงานเชิงสิทธิ แต่เราเข้าใจคำว่าสิทธิมากน้อยเพียงใด เรากำลังสับสนกับคำว่าสิทธิกันอยู่หรือเปล่า จากนโยบายและกฎหมายข้างต้น ผมเกิดคำถามว่า เรากำลังจะหนีจากการทำงานเชิงสงเคราะห์หรือเรากำลังส่งเสริมให้มีการสงเคราะห์มากขึ้นโดยอ้างว่าเป็นสิทธิอยู่หรือเปล่า? ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กลยุทธ์การ ลดแลกแจกแถมนั้นยังใช้ได้ในสังคมของเราอยู่ และนักการเมืองหรือหน่วยงานของรัฐก็ใช้กลยุทธ์เช่นว่านี้กับประชาชนบ่อยครั้ง และก็จะได้รับความนิยมแทบทุกครั้ง (ประชานิยม) เพราะกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ จำนวนกลุ่มเป้าหมายมีมาก คนอยากได้ของฟรีมีมาก โครงการที่ออกมาก็เลยดูเหมือนประสบความสำเร็จเพราะได้รับการตอบรับดี เช่น การให้เบี้ยคนพิการ 500 บาทต่อเดือน กลุ่มเป้าหมายคือคนพิการที่จดทะเบียน ณ ตอนนี้ประมาณเกือบหนึ่งล้านคน แต่จำนวนคนพิการที่จดทะเบียนก็จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายนี้ด้วยอย่างแน่นอน เพราะคนพิการอยากได้เบี้ยยังชีพ 500 บาท ผมไม่ได้ต่อต้านนโยบายนี้ และไม่ได้บอกว่าคนพิการไม่ควรได้รับเบี้ยยังชีพ แต่คำถามต่อไปของผมก็คือ

 ระหว่างสวัสดิการจากรัฐ (จะให้ด้วยแนวคิดฐานสิทธิหรืออะไรก็แล้วแต่) กับโครงสร้างพื้นฐานที่สมเหตุสมผล อะไรมีความสำคัญมากกว่ากัน? หรือเราควรจะให้น้ำหนักในการทำงานกับสองอย่างนี้อย่างไร? ผมเคยยกตัวอย่างว่า ถ้าสมมติเราเอาโทรทัศน์ไปให้ประชาชนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชาชนจะเปิดโทรทัศน์นั้นได้อย่างไร”? แน่นอนว่าเมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะจ่ายไฟไม่มี ประชาชนก็คงเปิดทีวีไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องไปดิ้นรนเอาเอง เช่น ไปหาเครื่องปั่นไฟมา เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและไม่ยั่งยืน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนพิการในปัจจุบัน ถ้าคนพิการได้เงินมา 500 บาท แต่ระบบขนส่งมวลชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน แหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ ยังไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก คนพิการออกจากบ้านไม่ได้ การจะเอาเงิน 500 บาทไปใช้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ต้องหาวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาเองอีกตามเคย ถ้าคนพิการได้รับทุนเรียนปริญญาตรีฟรี ก็ต้องไปหาวิธีเอาเองว่าจะไปเรียนอย่างไร จะเข้าถึงตำราเรียนอย่างไร จะสื่อสารกับครูและเพื่อนอย่างไร ฯลฯ จะเห็นได้ว่าเมื่อโครงสร้าง/บริการพื้นฐานไม่พร้อม (ในระดับหนึ่ง) ก็ส่งผลให้สวัสดิการที่ให้กับประชาชนไม่ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ผมขอตั้งข้อสังเกตอีกข้อว่า นโยบายกฎหมายที่เน้นสวัสดิการให้กับประชาชนรายบุคคล (ได้สิ่งของหรือเงินเป็นสมบัติของตัวเอง) นั้นสามารถทำได้เร็วและมีผลในทางปฏิบัติค่อนข้างไว แต่นโยบายและกฎหมายที่เน้นการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคมหรือทางกายภาพ เป็นสิ่งที่เห็นผลช้าและมีผลน้อยในทางปฏิบัติ จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ แต่เราต้องไม่ลืมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น เมื่อคนพิการคนหนึ่งถึงวัยต้องเข้าเรียน เขาก็ต้องสามารถเข้าเรียนได้เร็วที่สุด ไม่สามารถรออีก 5 ปี 10 ปีต่อไปได้ แม้เราจะเคยมีนโยบายว่าคนพิการที่อยากเรียนต้องได้เรียน แต่มันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะคนพิการไม่อยากเรียน แต่โครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้คนพิการเรียนได้นั้นไม่มี และไม่ได้รับการกล่าวถึงในเชิงนโยบาย (เพื่อให้มีงบประมาณและการปฏิบัติ) เราก็ต้องถามตัวเองว่า เราจะต้องรออีกนานแค่ไหนเราจึงจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่สมเหตุสมผลพอให้คนพิการเรียนได้? ซึ่งมันก็ไม่ควรจะนานเกินไปเพราะการศึกษาเป็นฐานสำคัญมาก ที่จะช่วยให้คนพิการมีอาชีพและดำรงชีวิตในสังคมเช่นคนทั่วไปได้ โครงสร้างพื้นฐานอย่างอื่นเองก็ต้องมีการพัฒนาให้มีมากพอและสมเหตุสมผลเช่นกัน

 กลับมาที่เรื่องสิทธิ ผมกำลังเกิดคำถามว่า สิทธิที่เราอ้างถึง ณ ขณะนี้มันคือสิทธิอะไรกันแน่ มันคือ สิทธิมนุษยชน (Human rights)” หรือ สิทธิพลเมือง (Civil rights)” หรือ สิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย (Entitlement)” เราเข้าใจความแตกต่างของสิทธิทั้งสามอย่างนี้หรือไม่ สิทธิมนุษยชน เป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนในโลกได้รับตั้งแต่แรกเกิด เช่น สิทธิในการมีชีวิต สิทธิในการเคลื่อนที่ สิทธิในการได้รับการศึกษา สิทธิในการได้รับบริการด้านสุขภาพ สิทธิการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เป็นต้น สิทธิพลเมือง เป็นสิทธิที่ประเทศนั้นๆ ให้แก่ประชาชนทุกคนของประเทศ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการมีบัตรประชาชน สิทธิในการโยกย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น ส่วนสิทธิตามกฎหมายนั้น เป็นสิทธิที่ให้กับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น คนพิการ/คนชรามีสิทธิในการได้รับเบี้ยยังชีพ 500 บาทจากรัฐ เป็นต้น จากจุดนี้ เราจะเห็นได้ว่า การทำงานด้านสิทธิในประเทศไทยนั้นเน้นหนักไปที่ สิทธิตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสวัสดิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเฉพาะกลุ่มและเฉพาะหน้า เราต้องถามตัวเองอีกครั้งว่า การให้สวัสดิการหรือให้ของฟรีแก่ประชาชนนั้นเป็นการสงเคราะห์หรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องผิดที่จะสงเคราะห์ในบางครั้ง แต่ในระยะยาว ประชาชนจะมีทักษะหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเองหรือไม่ นโยบายเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากการทำ***โทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ เพื่อเรียกคะแนนจากประชาชน แต่ในระยะยาว ประชาชนจะไม่ได้อะไรที่เป็นรูปธรรมมากพอที่จะต่อยอดต่อไปได้ เช่น การให้เบี้ยคนพิการ 500 บาท แม้จะเก็บเงินนั้นไว้โดยไม่ใช้เลย ในปีหนึ่งก็จะมีเงินเก็บเพียง 6,000 บาท ไม่พอแม้แต่จะซื้อรถวีลแชร์สักคัน เก็บ 10 ปีก็จะได้เพียง 60,000 บาท ไม่พอที่จะซื้อบ้านอยู่ด้วยซ้ำ

 ด้วยเหตุนี้ คนพิการจึงไม่สามารถหวังพึ่งสิทธิตามกฎหมายนี้ได้เพื่อความยั่งยืน เราจึงจำเป็นต้องคิดมากขึ้น ทำอย่างไรคนพิการจะอยู่ในสังคมได้ เริ่มต้นตั้งแต่การได้รับการยอมรับในครอบครัวและชุมชน การออกจากบ้าน การเรียน การทำงาน การฝึกทักษะต่างๆ การทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนที่คนพิการไม่ได้รับหรือได้รับแต่ไม่เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าถ้าเราถามนักการเมืองหรือหน่วยงานของรัฐ เราก็จะได้รับคำตอบว่า มีแผนการอย่างนี้อยู่แล้ว เราไม่ได้ทำอย่างเดียว แต่...น้ำหนักจริงๆ ไปอยู่ตรงไหน? ในทางปฏิบัติงานไหนที่มันเห็นผลสำเร็จมากกว่ากัน? หรือจริงๆ แล้วเราชอบทำงานแบบไหนมากกว่ากัน? งานสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นงานที่เห็นผลช้า หาตัวชี้วัดยาก ใครก็ไม่อยากทำ เช่น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้คนพิการเข้าถึงสิทธิมนุษยชนในการเคลื่อนที่ เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อทำไปแล้วคนพิการจะมาใช้หรือไม่ มาใช้กี่คนในหนึ่งเดือน จะได้เงินจากคนพิการเท่าไร คุ้มหรือไม่ ฯลฯ ก็เลยไม่ค่อยอยากทำ อนึ่ง จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นว่าในหลายๆ กรณี สิทธิมนุษยชนจะมีอิทธิพลต่อสิทธิอื่นๆ ด้วย เช่น สิทธิมนุษยชนในการแสดงความคิดเห็น อาจส่งผลให้เกิดสิทธิตามกฎหมายเพื่อให้คนหูหนวกได้รับเครื่องมือสื่อสารเฉพาะ เช่น โทรศัพท์ข้อความ เพื่อสื่อสารกับคนทั่วไป เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ สิทธิตามกฎหมายจะช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้ด้วย ทีนี้ เราคงต้องมาคิดกันล่ะครับว่า ทำอย่างไร จึงจะทำให้สิทธิตามกฎหมายหรือสิทธิพลเมืองสามารถส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่า) ได้ แน่นอนว่าสิทธิตามกฎหมายที่เน้นการสงเคราะห์นั้นอาจไม่ช่วยมากนักหรือเกิดผลสำเร็จได้ช้า โดยเฉพาะการสงเคราะห์ที่ไม่คำนึงถึงความต้องการหรือการมีส่วนร่วมของผู้รับ/ผู้ใช้

 

ผมเคยถามเพื่อนๆ คนพิการด้วยกันว่าระหว่าง ของฟรีที่ใช้ไม่ค่อยได้กับ ของไม่ฟรีแต่ใช้ได้มากกว่าเราจะเลือกอะไร เป็นคำถามที่ง่าย และถ้าให้ตอบก็คงง่ายเช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติ เราชอบทำแบบไหนกันล่ะครับ?????

 สว่าง ศรีสม

 ป.ล. ขออนุญาตพาดพิงหน่วยงานของรัฐในที่นี้ แต่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงหน่วยงานของผู้ที่รับอีเมล์นี้ และไม่มีเจตนาเหมารวมทุกหน่วยงาน

หากท่านชอบข้อเขียนนี้ สามารถเผยแพร่ต่อได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่ให้ระบุที่มาเท่านั้น

 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

www.waddeeja.com

Tel.02-990-0331

2312522310

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-12-23 23:10:46 IP : 124.121.139.88


ความคิดเห็นที่ 2 (3140319)

จากประชาไท

เบี้ยความพิการ : ความยั่งยืนของคนพิการไทย?

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

 

บทความจาก อนรรฆ พิทักษ์ธานินวิพากษ์นโยบาย จ่ายเบี้ยความพิการซึ่งอาจดูเป็น ความหวังดีแต่อีกมุมหนึ่งก็สะท้อนภาพในการมองคนพิการของรัฐว่าเป็นกลุ่มคน พิเศษที่ไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยลำพังได้

 

กรอบคิดและนโยบายต่อคนพิการของรัฐไทยเป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องหลังการให้ความสนใจต่อคนพิการอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 2480 จนถึงปัจจุบัน ในอดีตความคิดของสังคมและรัฐไทยต่อคนพิการดูเหมือนจะเน้นหนักไปในด้านสังคมสงเคราะห์ ผ่านการจัดพื้นที่เฉพาะต่างๆ ให้กับคนพิการ อาทิ สถานสงเคราะห์คนพิการและโรงเรียนการศึกษาพิเศษ เป็นต้น ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นการมองคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องได้รับการดูแลพิเศษแตกต่างกับคนปกติในสังคม อย่างไรก็ดีตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 2520 ถึงต้นทศวรรษที่ 2530 นโยบายและกรอบคิดของรัฐไทยก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษาที่เริ่มมีการนำแนวคิดการจัดการเรียนร่วมระหว่างคนพิการกับคนปกติมาใช้ ด้านการประกอบอาชีพที่มีการสนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและการทำงานของคนพิการร่วมกับคนปกติมากขึ้น และด้านการดูแลฟื้นฟูคนพิการที่เปิดโอกาสให้ครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งการดำเนินงานทั้งหลายนี้ได้สะท้อนให้เห็นกรอบการมองคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่ช่วยเหลือตัวเองและสามารถดำรงชีวิตอิสระได้เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม

 

นอกจากนี้ความเท่าเทียมทางสังคมและการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการยังเป็นสิ่งที่ถูกทำให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น โดยการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ในปี พ.ศ. 2537 รวมถึงการบรรจุประเด็นดังกล่าวนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ.2550

 

กระนั้นก็ดีเมื่อไม่นานมานี้มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนแปลกใจอย่างมากกับนโยบายต่อคนพิการของรัฐไทย นั่นก็คือ การประกาศโครงการจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยโครงการนี้จะดำเนินการสำรวจ จดทะเบียนและทำบัตรประจำตัวให้กับคนพิการทั่วประเทศ รวมถึงจะทำการจ่ายเบี้ยความพิการให้กับผู้ที่มีในทะเบียนคนพิการ ในอัตราเดือนละ 500 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2553 นโยบายการจดทะเบียนคนพิการและจ่ายเบี้ยความพิการดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่ดำเนินตามกรอบ ของ พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ที่นำมาใช้แทน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534

 

ความแปลกใจของผู้เขียนอยู่ที่ว่าความคิดและการดำเนินนโยบายของรัฐไทยต่อคนพิการที่ดูเหมือนจะมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยเปลี่ยนจากกรอบคิดแบบสวัสดิการที่รัฐเป็นผู้ให้แต่เพียงอย่างเดียว มาสู่การเน้นให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการที่รัฐเป็นผู้คอยสนับสนุนอยู่ห่างๆ แต่กลับต้องมากลับสู่กรอบเดิมแบบสวัสดิการอีกครั้งจากการจ่ายเบี้ยความพิการ

 

แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่าการจ่ายเบี้ยความพิการเป็นนโยบายที่สะท้อนให้เห็น ความหวังดีและ ความสนใจของรัฐบาลต่อคนพิการ หากแต่ในอีกมุมหนึ่งการจ่ายเบี้ยดังกล่าวก็ได้สะท้อนนัยทางสังคมในการมองคนพิการว่าเป็นกลุ่มคน พิเศษที่ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่สามารถดำรงชีวิตได้โดยลำพังและมีความแตกต่างกับคนทั่วไปในสังคม

 

นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีข้อสังเกตและข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐและวิธีดำเนินการจ่ายเบี้ยความพิการที่อาจจะเกิดขึ้นในสามประเด็นหลักด้วยกัน คือ

 

ประการแรก ปัจจุบันจำนวนคนพิการที่จดทะเบียนมีประมาณ 8 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของคนพิการทั่วประเทศที่มีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตคนพิการทั้งหมดจะได้รับการจดทะเบียน ในแง่นี้รัฐไทยจะต้องใช้เงินประมาณเดือนละ 1 พันล้านบาท หรือปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาทในการจ่ายเบี้ยความพิการ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของคนพิการ ในความคิดเห็นของผู้เขียนคิดว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถนำมาสนับสนุนทางสังคมให้กับคนพิการด้านอื่นๆ ที่ให้ความยั่งยืนมากกว่าการจ่ายเบี้ยความพิการสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การเป็นงบสนับสนุนในการปรับปรุงการคมนาคม อาคารสถานสาธารณะสำหรับคนพิการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางอาชีพของคนพิการ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะสิ่งเหล่านี้แม้จะถูกบรรจุใน พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 หากแต่ในปัจจุบันก็ยังมิได้มีการนำมาใช้อย่างจริงจังและทั่วถึง คนพิการจำนวนมากที่พยายามดำรงชีวิตอิสระต้องประสบปัญหาอุปสรรคมากมายจากการละเลยที่จะปรับปรุงการคมนาคมและอาคารสาธารณะ เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพที่คนพิการอีกจำนวนมากมีความต้องการการฝึกฝนอาชีพเพื่อที่พวกเขาจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอย่างอิสระได้ ในทางเดียวกันเงินจำนวนดังกล่าวแม้จะมีมูลค่าไม่มากเมื่อเทียบกับงบประมาณของประเทศ หากแต่ในอนาคตหากมีวิกฤติทางการเงินเงินจำนวนนี้ก็อาจเป็นภาระและปัญหาสำหรับรัฐได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากรัฐตัดภาระโดยการงดการจ่ายเบี้ยความพิการ ในมุมหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่คนพิการหรือครอบครัวคนพิการที่พึ่งพิงเงินจำนวนนี้เป็นหลัก โดยไม่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมด้านอื่นๆ อาจประสบปัญหาตามมาภายหลัง

 

ประการที่สอง ปัญหาหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินงานดังกล่าวก็คือการรับรอง ความพิการด้วยเครื่องมือและแบบประเมินทางการแพทย์ ซึ่งอาจมิได้เป็นปัญหาสำหรับกรณีของคนพิการทางกายที่ค่อนข้างแสดงความพิการให้เห็นอย่างชัดเจน หากแต่อาจจะเป็นปัญหาในกรณีของคนพิการทางสติปัญญาที่ยังไม่มีแบบประเมินหรือวิธีการคัดแยกที่ชัดเจน โดยเฉพาะคนพิการทางสติปัญญาในประเภทเกี่ยวกับการเรียนรู้ (Learning Disabilities - LD) และออสทิสติก ที่แทบจะมีพฤติกรรมเหมือนกับคนทั่วไปในสังคม นอกจากความซับซ้อนของการคัดกรองแล้ว ความซ้ำซ้อนในการจ่ายเบี้ยของกลุ่มคนต่างๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนนักในกรณีคนพิการสูงอายุที่ได้รับเบี้ยสูงอายุอยู่แล้ว ซึ่งหากมีการจ่ายเบี้ยความพิการเพิ่มเติม จะเป็นการเบิกจ่ายที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่? และหากเมื่อรัฐเลือกที่จะจ่ายเบี้ยประเภทเดียวให้กับคนกลุ่มนี้ ปัญหาที่จะตามมาก็คือในมุมมองของคนพิการสูงอายุจะเป็นการเสียสิทธิในการรับเบี้ยที่จะได้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่?

 

ประการที่สาม ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งมีการจ่ายเบี้ยในลักษณะที่คล้ายคลึงกันให้กับคนพิการในพื้นที่อยู่แล้ว การจ่ายเบี้ยความพิการของรัฐที่เพิ่มเข้าไปจะเป็นการทับซ้อนกับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่? และจะมีการจัดการอย่างไร? นอกจากนี้จากบทเรียนปัจจุบันที่องค์กรส่วนท้องถิ่นหลายแห่งไม่ยอมจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุตรงเวลา ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามีการนำเงินดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมส่วนอื่นก่อน ปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับเบี้ยความพิการด้วยหรือไม่? รัฐส่วนกลางหรือชุมชนควรจะต้องมีการจัดระบบตรวจสอบที่รัดกุมจากบทเรียนที่ผ่านมาหรือไม่? อย่างไร?

 

จากที่กล่าวมา คือ ข้อกังวลและช้อสังเกตเกี่ยวกับนโยบายจ่ายเบี้ยความพิการของผู้เขียนในฐานะปัจเจกชนคนหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับความแปลกใจ แปลกใจตรงที่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความพยายามหลักประการหนึ่งของประเทศไทย คือ การลดขนาดและภาระของระบบราชการและรัฐบาลกลางทั้งด้านการเงินและการบริหาร แต่นโยบายที่ออกมาในช่วงหลังกลับสะท้อนให้เห็นการอุดหนุน และเพิ่มภาระทางการเงิน (ในโครงการที่ดูไม่ยั่งยืนนัก) ของรัฐต่อประชากรกลุ่มต่างๆ ซึ่งในครั้งหนึ่งรัฐไทยมีแนวคิดในการเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ให้สามารถยืนหยัดและดำรงชีวิตอิสระได้ด้วยตัวเอง ซึ่งคนพิการถือได้ว่าเป็นกรณีที่สำคัญอันหนึ่ง นี่ดูจะเป็นความขัดแย้งในตัวเองของประเทศไทยเช่นเดียวกับอีกหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น

 

 

*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "มุมมองบ้านสามย่าน" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม 2552

 

 

 - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

www.waddeeja.com

Tel.02-990-0331

2312522316

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-12-23 23:15:49 IP : 124.121.139.88


ความคิดเห็นที่ 3 (3206343)
lv handbags fake louis vuitton belt gs and other e*** handbag stylist sales the bag is heavy leather design and thick jewelry western fake handbags for sale lock women"s handbag you are e*** handbag
ผู้แสดงความคิดเห็น 1 (ozhxfn-at-aim-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-25 02:26:23 IP : 125.121.215.19


ความคิดเห็นที่ 4 (3206357)
and burrows into forests ugg uggs for sale it is surprising to find such a trail in an immersive natural setting literally tucked into a suburban area ugg shoes cheapest ugg classic cardy boots
ผู้แสดงความคิดเห็น 1 (vleccx-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2010-08-25 02:33:06 IP : 125.121.215.19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.