ReadyPlanet.com


จะทำให้การเมืองไทยให้สะอาดได้อย่างไร


จะทำให้การเมืองไทยสกปรกน้อยลงได้อย่างไร

 

ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทยดำเนินไปภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมืองแบบผูกขาดอำนาจโดยชนชั้นผู้มีทรัพย์สิน นายทุน นายทหาร นายตำรวจ ข้าราชการชั้นสูง นักธุรกิจการเมือง ทำให้นักเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนพวกคนชั้นสูงชั้นกลางกลุ่มเล็ก ๆ ราว 2-3 พันคน สามารถที่ใช้อำนาจ อิทธิพล เงิน ระบบอุปถัมภ์การพูดหาเสียงเก่งฯลฯชนะเลือกตั้งได้เป็นผู้แทนและผลัดกันมาเป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านมาโดยตลอด พวกเขามาจากกลุ่มชนชั้นสูงและชนชั้นกลางที่มีผลประโยชน์และนโยบายคล้าย ๆ กัน ทุกรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการปกครองแบบรวบอำนาจไว้ที่รัฐบาลกลางและการพัฒนาแบบตลาดเสรีหรือทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่พวกนักการเมืองและชนชั้นสูงชั้นกลางได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งจากการใช้งบประมาณ, ทรัพยากรของส่วนรวม นโยบายภาษี นโยบายรัฐอื่น ๆ และการหากำไรผลตอบแทนจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดที่ได้เปรียบแรงงานและผู้บริโภคอย่างมาก
       
       
ในช่วงหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปีพ.ศ.2501 และช่วงปี 2516-2519 มีปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า(ฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเจริญก้าวหน้าเพื่อคนส่วนใหญ่)พยายามจัดตั้งองค์กรและเสนอนโยบายแบบสังคมนิยมและนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมแบบกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นธรรมขึ้นอยู่บ้าง แต่พวกเขาถูกฝ่ายชนชั้นสูงชนชั้นกลางที่มีทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าปราบปรามอย่างหนัก จนกลุ่มและแนวคิดที่ก้าวหน้าของไทยไม่มีที่ยืนอยู่อย่างชัดเจนต่อเนื่องเหมือนในบางประเทศได้
       
       
พรรคการเมืองที่มีบทบาทของไทยในปัจจุบันล้วนแต่มีแนวคิดนโยบายแบบจารีตและเสรีนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ที่เป็นประโยชน์ต่อคนรวยคนชั้นกลางมากกว่าเกษตรกร แรงงานรับจ้าง และผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากประชาชนไทยส่วนใหญ่ยากจน ขาดความรู้ และจิตสำนึก อยู่กันอย่างกระจัดกระจาย ขาดการจัดตั้งองค์กร พวกเขาจึงไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของพวกตนได้ มีพรรคเล็ก ๆ ของเกษตรกร คนงาน นักสหกรณ์ฯลฯอยู่บ้าง แต่พวกเขาไม่มีการจัดตั้งและฐานเสียงที่เข้มแข็งและไม่ได้คะแนนในการเลือกตั้งมากพอที่จะได้ที่นั่งในสภา
       
       
ปัญหาใหญ่คือเวลานี้ประชาชนส่วนใหญ่ที่มีระดับการศึกษาและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารคุณภาพต่ำถูกจูงใจด้วยอารมณ์ความรู้สึกความผูกพันส่วนตัวให้นิยมและเลือกตัวบุคคลจากพรรคของนายทุนและชนชั้นกลางพรรคใดพรรคหนึ่ง เพียงเพื่อเงินทองและผลประโยชน์เฉพาะหน้าระยะสั้น และบ้างก็หลงเชื่อว่านักการเมืองจากพรรคของนายทุนและชนชั้นกลางเหล่านี้คือพวกเดียวกับตนหรือเป็นคนพวกตนพึ่งพาได้ ทำให้นักการเมืองที่มีฐานเสียงที่มาจากอำนาจเงินและระบบอุปถัมภ์เชื่อมั่นตนเองสูง ถึงขนาดจะผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ เพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกได้ด้วยเสียงข้างมากของพวกตน พวกเขาเชื่อว่าประชาชนที่เคยเลือกพวกตน อย่างไรเสียก็จะรับได้ และเมื่อมีการยุบสภาประชาชนกลุ่มนี้ก็จะเลือกพวกตนเข้ามาใหม่ ประชาธิปไตยที่เน้นการเลือกตั้งผู้แทนของไทยในปัจจุบันจึงเอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองกลุ่มน้อยมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่
       
       
แนวทางแก้ไขปัญหานี้คือ คนที่มีการศึกษาที่เข้าใจเรื่องการเมืองมากหน่อยต้องไปช่วยกันอธิบายให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ตระหนักว่า งบประมาณที่รัฐบาล, ใช้ในโครงการต่าง ๆ นั้นล้วนมาจากเงินภาษี(รวมทั้งภาษีทางอ้อมทุกครั้งที่เราซื้อสินค้าและบริการ) และรายได้จากทรัพย์สมบัติของส่วนรวม เช่นสัมปทานน้ำมัน แก๊ส คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์ ซึ่งก็คือของประชาชนทั้งนั้น ไม่ใช่ของรัฐบาลชุดไหน โครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมต่าง ๆ ที่ทำโดยภาครัฐเป็นสิทธิที่ประชาชนพลเมืองในฐานะผู้เสียภาษีและเจ้าของประเทศควรจะได้อยู่แล้ว ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณใครเลย
       

       
เราควรอธิบายให้ประชาชนตระหนักว่า คำว่า พลเมือง หมายถึงคนที่ตัดสินเข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชนเมือง ซึ่งมีการปกครองแบบนครรัฐหรือประเทศเดียวกัน ยอมเสียภาษี ปฏิบัติตามกฎหมายต่าง ๆ ทำตามหน้าที่ของพลเมือง เช่นผู้ชายถูกเกณฑ์ทหาร โดยถือว่าเป็นการทำสิ่งที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ เพื่อที่พลเมืองทั้งหมดจะได้สิทธิเสรีภาพ เสมอภาคและได้ประโยชน์ร่วมกัน
       

       
การที่ประชาชนตัดสินใจเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันแบบพลเมือง ยอมรับให้มีรัฐบาลทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ก็ด้วยความเชื่อมั่นหรือการมีสัญญาประชาคมต่อกันและกัน (เช่นในรัฐธรรมนูญส่วนที่ว่าด้วยสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน) ว่ารัฐบาลนั้นจะต้องเป็นตัวแทนของพลเมืองที่ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง รวมทั้งการบริหารทรัพยากร, สาธารณสมบัติต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของพลเมืองอย่างโปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม
       

- - - - - - - - - - - - - - - - - -              

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยปทุมธานี

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1910520833

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-10-19 08:33:28 IP : 124.121.136.221


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3065588)

หากรัฐบาลชุดไหนบริหารประเทศอย่างทุจริตฉ้อฉล ที่หาผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อตัวเองและพรรคพวก แก้ปัญหาแบบฉาบฉวยหาเสียงเฉพาะหน้าไปวัน แต่สร้างความไม่สมดุลสร้างความไม่เป็นธรรม หนี้สินและปัญหาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น พลเมืองในฐานะผู้เสียภาษีและเป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศร่วมกันมีสิทธิเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ คัดค้าน เสนอแนะ ชุมนุมเรียกร้อง ดื้อแพ่งโดยสันติวิธี เข้าชื่อเรียกร้องให้มีการลงประชามติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือแม้แต่รณรงค์ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ทำผิดสัญญาประชาคมที่ได้ให้ไว้ต่อพลเมืองได้

 

      
       
การรณรงค์ทางการเมืองโดยภาคประชาชนพลเมืองอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะถึงจะผลักดันรัฐบาลชุดหนึ่งออกไปก็ยังมีรัฐบาลหน้าใหม่แต่เนื้อหาเก่าเข้ามาได้อีก ต้องมีการผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการศึกษา ปฏิรูปสื่อมวลชน องค์กรอิสระและองค์กรประชาชนต่าง ๆ ให้ทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิและหน้าที่พลเมืองแก่คนไทยอย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้น เพราะทุกวันนี้การศึกษาสอนแต่ความรู้ทางวิชาการ/วิชาชีพและสอนการเมือง/สังคมศาสตร์แบบจารีตนิยม สื่อมวลชนก็เสนอแต่ความบันเทิง แนวคิดจารีตนิยมและเสรีนิยมแบบเน้นการบริโภค
       
       
เราจะต้องเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ความคิดจิตสำนึกให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ได้รู้ความจริงว่าประชาชนพลเมืองนั้นเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพย์สมบัติแผ่นดินที่เป็นของส่วนรวม และเป็นผู้เสียภาษี(ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ที่บวกไว้ในราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ แล้ว) และรัฐบาลมีภาระหน้าที่ความผูกพันที่จะต้องบริหารงบประมาณทรัพยากรตลอดจนการใช้อำนาจออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เท่านั้น เช่นต้องปฏิรูประบบภาษีและการคลัง ปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเกษตร ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ปฏิรูปการศึกษาฯลฯ เพื่อกระจายผลของการพัฒนาอย่างเป็นธรรม และเอาใจใส่ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสภาพแวดล้อม เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น เราจึงจะแก้ปัญหาวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองและพัฒนาประเทศให้เป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง
       
       
เราต้องช่วยกันอธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าการเมืองมีความหมายกว้างกว่าเรื่องการเลือกผู้แทน คือหมายรวมถึงเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจสังคมของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในเชิงสาธารณะหรือส่วนรวม ที่สำคัญคือเรื่องการเก็บภาษี การจัดสรรงบประมาณ การออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งประชาชนพลเมืองควรได้เรียนรู้และสร้างอำนาจต่อรองทางการเมือง ทั้งในการเลือกตั้ง การตรวจสอบควบคุมวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่รัฐ และการรณรงค์ทางการเมืองที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่
       
       
หากมองการเมืองในความหมายกว้าง การเมืองจะครอบคลุมเชื่อมโยงถึงเรื่องเศรษฐกิจและสังคมด้วย เพราะคนเราต้องสัมพันธ์กับคนอื่นในทางเศรษฐกิจ เช่นการผลิต, การแลกเปลี่ยน, จัดสรรและกระจายทรัพยากรและผลผลิต และต้องสัมพันธ์กับคนอื่นในทางสังคมวัฒนธรรม เช่นในเรื่องครอบครัว สถาบัน การศึกษา สาธารณสุข วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม เราจะต้องมีการจัดการเรื่องเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพเป็นธรรม เราจึงจะตอบสนองความต้องการทั้งทางร่างกายและทางด้านสังคมจิตใจอารมณ์ของเราได้ดีและอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตได้ การปฏิรูปการเมือง เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่ไปกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและทางสังคมด้วย
       
       
การเมืองในรัฐสภาที่มีการใช้เล่ห์เหลี่ยมและความฉ้อฉลอยู่มากนั้น เพราะประชาชนยังรู้ข้อมูลข่าวสารไม่เท่าทันนักการเมือง ถ้าประชาชนมีความรู้เรื่องการเมืองเศรษฐกิจและรู้เท่าทันนักการเมืองมากขึ้น ประชาชนจะผลักดันให้นักการเมืองต้องเล่นตามกติกา เช่นรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ประเพณีต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมาเพิ่มขึ้น เป้าหมายหนึ่งของการจัดการศึกษาและการพัฒนาประเทศคือควรมุ่งไปสู่การปฏิรูประบบการเมืองเศรษฐกิจและสังคม เพื่อทำให้การเมืองต้องมีความตรงไปตรงมาอย่างมีเหตุผลและเป็นไปอย่างสันติวิธีเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น
       

       
เราควรดูตัวอย่างจากประเทศอื่น เช่นเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกงที่ในสมัยก่อนก็เคยมีปัญหาความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมืองรวมทั้งการศึกษาไม่ต่างจากไทย แต่ปัจจุบันหลายประเทศเขาสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศไปได้ดีกว่าไทย ถ้าคนอื่นทำได้ คนไทยก็ควรจะทำได้เช่นกัน เพราะถ้าเราไม่ลงมือทำ ประเทศไทยที่ขณะนี้อยู่ในสภาพที่แย่ลงกว่าในอดีตที่ผ่านมามากแล้ว จะยิ่งตกต่ำไปกว่านี้อีก

- - - - - - - - - - - - - - - - - -              

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยปทุมธานี

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1910520837

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-10-19 08:36:54 IP : 124.121.136.221


ความคิดเห็นที่ 2 (3066446)

ประชาธิปไตยแบบไทยไทย? (วารินทร์ พูนศิริวงศ์)

 

ระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยมีจริงหรือ?

ที่เขียนถามท่านผู้อ่านทุกท่าน ก็เพราะผู้เขียนไม่มั่นใจว่า สส.ส่วนมากที่ถูกเลือกมาโดยประชาชนนั้น "พวกเขามีเจตนารมณ์อะไร"ที่ทำให้อยากเป็น สส.และก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น มีพฤติกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมบ้างหรือไม่

ทั้งฐานะของตัวเองและครอบครัวมีอยู่ขนาดไหน เป็นที่ยอมรับของสังคมในหมู่บ้านของตน หรือของสังคมทั่วๆไปหรือเปล่า ก่อนที่จะไปลงสมัครเลือกตั้ง

เท่าที่ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งมากว่า 50 ปี "ผู้สมัครส่วนใหญ่"จะเป็นผู้มีอิทธิพลและเจ้าเล่ห์ทั้งนั้น ซึ่งสามารถที่จะรีดไถ่เงินจำนวนมหาศาลจากพ่อค้านักธุรกิจที่ต้องการการปกป้องจากนักการเมืองสำหรับธุรกิจของตน

ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ นักธุรกิจที่ไม่มีความบริสุทธิ์ ตรงไปตรงมา เช่น พวกนักธุรกิจการค้าของเถื่อน หรือลักลอบสินค้าหลบเลี่ยงภาษีเข้ามาขายในประเทศ

อีกเหตุผลที่สำคัญที่น่าเป็นห่วงสำหรับการเลือกตั้งก็คือ ประชาชนตามชนบทห่างไกลความเจริญ ซึ่งเป็นจำนวนของผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งมากกว่า 50% ยังเป็นผู้ที่มีความรู้น้อย และตกอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จำพวกกำนัน พ่อใหญ่ ตลอดจนพวก อบต.และ อบจ. ที่สามารถอนุญาตให้ชาวบ้านผู้ด้อยการศึกษาให้ทำผิดกฎหมายได้อย่างน่ามหัสจรรย์

ข้าราชการ ผู้บริหาร ผู้รักษากฎหมายจะทำเป็นหูหนวกตาบอด เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการทำผิดกฎหมายอย่างประเจิดประเจ้อ เช่น ยึดครองที่สาธารณะ ลักลอบตัดไม้ ลักลอบค้ายาบ้าของเถื่อนตามชายแดนไทยอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พอเวลามีการเลือกตั้ง ประชาชนเหล่านี้ก็จะถูกบังคับให้ขาย เสียงต่อผู้มีอิทธิพลเจ้าเล่ห์ดังกล่าว สำหรับการเลือกตั้งแทบทุกๆประเภทตั้งแต่ อบต. อบจ. จนไปถึงพวกโจรการเมืองที่ซื้อเสียงเข้าไปเป็นสส.ในสภาผู้แทนราษฎรเพียงเพื่อเข้าไปปล้นกินงบประมาณของแผ่นดินอย่างหน้าด้านหน้าหนา โดยการร่วมมือกับพวกข้าราชการเลวๆบางกลุ่ม จนเกือบเป็นประเพณี ทั้งปราศจากการถูกจับลงโทษติดคุกหรือไล่ออกให้เห็นเป็นตัวอย่างได้น้อยมาก

แต่ที่พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดๆก็คือ เมื่อพ้นจากการเมืองแล้ว คนพวกนี้จะร่ำรวยอย่างมหาศาล โดยที่ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะสามารถจับพวกโจรการเมือง***พวกนี้ได้เลยจนกระทั่งทุกวันนี้

เพราะกฎหมายต่างๆ ของประเทศไทยมีความหมายพิสดารสุดๆ เมื่อกฎหมายทุกฉบับต้องผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งเต็มไปด้วยพวกส.ส.ที่มีอำนาจจากการใช้เล่ห์ร้ายที่ได้ซื้อเสียง เข้ามาเป็นผู้ออกกฎหมายทุกฉบับนั่นเอง

ในเมื่อสภายังเต็มไปด้วยสส.พวกที่ซื้อเสียงเข้ามา ไม่ได้ถูกเลือกเข้ามาอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว การปกครองไทยจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้องได้หรือ?

ดังนั้นถ้าสส.ถูกจับได้ว่า ทำผิดกฎหมาย ทุจริตโกงการเลือกตั้งแล้ว สมควรที่จะต้องห้ามเข้ามาเล่นการเมือง "ตลอดชีวิต" ไม่ใช่ห้ามเล่นการเมืองเพียง "5 ปี"ดังที่เป็นอยู่

เพื่อที่จะได้ขจัดนักการเมืองเลวๆ ให้หมดสิ้นไปเสียที เมื่อนั้นประเทศไทยจึงจะสามารถมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ได้จริงๆ เสียที

วันที่ 29/9/2009

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - -              

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยปทุมธานี

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2010521935

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-10-20 19:35:43 IP : 124.121.141.189


ความคิดเห็นที่ 3 (3066682)

ใครเป็นใคร แก้รัฐธรรมนูญทำไม (พระอภัยมณีตีกลอง)

 

เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังเป็นวาระสำคัญที่สุดของรัฐบาลขณะนี้

สำคัญจนอาจเป็นวาระสุดท้ายของรัฐบาล

ระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลอาจต้องพบการต่อต้านคัดค้านอย่างรุนแรงรอบด้านจนอยู่ไม่ได้ แก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จก็อาจมีปัญหาจากพรรคร่วมรัฐบาลจนอยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน หรือแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จรัฐบาลก็ต้องยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่ากำลัง "ยื้อ" เรื่องแก้รัฐธรรมนูญสุดกำลัง

แท้จริงแล้ว เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และประธาน คณะทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เคยให้ความเห็นไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า "ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้"

ความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เริ่มต้นมาตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สาเหตุเพราะพรรคไทยรักไทยถูกยุบพรรค และหัวหน้าพรรคกับกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยรวม 111 คน ถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งไปรวมกันอยู่ในคฤหาสน์เลขที่ 111 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ต่อมาพรรคพลังประชาชนที่ถูกตั้งขึ้นแทนพรรคไทยรักไทยและพรรคการเมืองอีก 2 พรรค คือพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ถูกยุบพรรคพร้อมกันอีก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 มีหัวหน้าพรรคการเมืองอีก 3 คน และกรรมการบริหารของ 3 พรรค รวม 109 คนถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งไปรวมกันอยู่ในคฤหาสน์เลขที่ 109 อีกกลุ่มหนึ่ง

พรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคครั้งที่ 2 นี้ ต่างพากันย้ายไปอยู่ในพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมารอไว้ก่อนแล้ว คือพรรคเพื่อไทย ซึ่งตกเป็นฝ่ายค้านในขณะนี้ กับพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญในรัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ

ถึงแม้จะสามารถแปลงร่างพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปเป็นชื่อใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่แกนนำสำคัญที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

นักการเมืองแกนนำจำนวน 220 คน ส่วนหนึ่งเป็นบุคคลสำคัญเบื้องหลังพรรคการเมืองฝ่ายค้านปัจจุบัน และส่วนหนึ่งเป็นบุคคลสำคัญเบื้องหลังพรรคร่วมรัฐบาล การจะปลดชนักจากหลังนักการเมืองเหล่านี้มีหนทางเดียวคือการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะจะมีผลย้อนหลังยกเลิกการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองเหล่านี้ด้วย

ประโยชน์จากการแก้ไขมาตรา 237 จึงเป็นของทั้งฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่มีอิทธิพลอยู่ในรัฐบาลขณะนี้ จนมีการเปิดเผยในบัดนี้ว่า เป็นพันธะที่ได้ตกลงกันตั้งแต่ครั้งเจรจาสลัดขั้วตั้งรัฐบาล

รัฐธรรมนูญปี 2550 ได้บัญญัติไว้เป็นมาตรา 309 อีกว่า "บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้"

หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ขึ้น เพื่อตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

คตส. และ ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ชี้มูลและดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกจำนวนหลายสิบคดี กับอายัดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและบุคคลในครอบครัวไว้ถึง 76,000 ล้านบาท คดียึดทรัพย์อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ส่วนคดีอาญาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยไม่รอการลงอาญา จนพ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหลบหนีการลงอาญาไปอยู่ต่างประเทศ กับมีคดีอาญาที่รอการพิจารณาพิพากษาอยู่อีกจำนวนมาก โอกาสที่จะรอดพ้นการถูกยึดทรัพย์และการลงอาญาตามคำพิพากษาของศาลฎีกา จำเป็นต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ให้ยกเลิกมาตรา 309 ที่รองรับการปฏิบัติการขององค์กรอิสระทั้งหลายที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) นี้

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 ในส่วนนี้ จึงเป็นประโยชน์สำคัญแก่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคพวกผู้ต้องคดี

หลังจากเกิดเหตุการณ์ "อัปรีย์ผีโขมดแดง" เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา วิบากกรรมดลใจให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจขอเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อฟังความเห็นที่ประชุมร่วมของสองสภาในการแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมือง และได้สรุปขอให้ประธานรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คือคณะกรรมการศึกษาแนวทางสมานฉันท์ฯ และคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จนดูเหมือนหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหนทางที่อาจนำไปสู่การสมานฉันท์ได้

คณะกรรมการสมานฉันท์ใช้เวลา 2 เดือนกว่าประชุมพิจารณาเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมืองในช่วงวิกฤติเดือนมหาสงกรานต์สรุปเป็นรายงานเสนอรัฐสภา แต่รายงานของคณะกรรมการดูเหมือนเพิ่มความไม่สมานฉันท์ยิ่งขึ้น เพราะมีการออกมาโต้เถียงข้อเท็จจริงผ่านสื่ออย่างรุนแรงของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

ส่วนคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความสมานฉันท์ฯ ใช้เวลาประชุมปรึกษาอย่างเคร่งเครียดประมาณ 2-3 เดือน สุดท้ายได้มีรายงานเสนอรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ใน 6 ประเด็น

หนึ่งในหกประเด็นคือ การแก้ไขเรื่องการยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามมาตรา 237 แต่ไม่มีประเด็นเรื่องการยกเลิกมาตรา 309 รวมอยู่ด้วย

รัฐบาลรับหลักการตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเงื่อนไขว่า ต้องนำข้อเสนอทั้ง 6 ประเด็น ออกทำประชามติเสียก่อน และให้คณะกรรมการประสานงาน หรือวิป 3 ฝ่าย คือ วิปของวุฒิสภา วิปพรรคร่วมรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านไปร่วมกันพิจารณาดำเนินการ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาถึง 312 เสียง

การพิจาณาดำเนินการเริ่มล้มเหลวตั้งแต่การประชุมนัดแรกๆ เพราะคณะกรรมการ 3 ฝ่ายเกิดแตกแยกเป็น 4 พวก ในแต่ละพวกยังเกิดแตกแยกกันเป็นหลายกลุ่ม คือ

1 ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา เกิดแตกแยกเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องทำประชามติ กลุ่มที่เห็นว่าต้องทำประชามติเสียก่อนนำร่างแก้ไขเข้าสภา และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในทุกกรณี

2 ฝ่ายพรรคฝ่ายค้าน เกิดแตกแยกเป็นกลุ่มที่เห็นว่าต้องทำประชามติก่อน กลุ่มที่เห็นว่าไม่ต้องทำประชามติ และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2550 ทั้งฉบับ แล้วนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทน

3 ฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ล้วนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่แตกแยกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการทำประชามติก่อน กับอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่าควรรีบดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการทำประชามติ

4 ฝ่ายพรรคแกนนำรัฐบาล คือพรรคประชาธิปัตย์ มีทั้งพวกที่เห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญเพราะเป็นเงื่อนไขที่ได้ตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลไว้ตั้งแต่ขณะเจรจาตั้งรัฐบาล กับพวกที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้

จุดยืนของแต่ละฝ่ายและแต่ละกลุ่มอาจวิเคราะห์ได้ดังนี้

ก. ฝ่ายสมาชิกวุฒิสภา

ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดที่มาของสมาชิกรัฐสภามีทั้งมาจากการเลือกตั้ง และที่มาจากการสรรหา มีวาระการอยู่ในตำแหน่งต่างกัน หากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเพียงประเภทเดียว และยกเลิกวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกที่มีที่มาแตกต่างกัน ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ จึงย่อมมีความเห็นที่แตกต่างกันได้เป็นธรรมดา

ข. ฝ่ายสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล

มีหลายพรรคการเมืองที่แกนนำหลักของพรรคถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง 5 ปี จึงย่อมปรารถนาให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 237 โดยเร่งด่วน และไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะไม่แน่ใจในผลประชามติ และเห็นว่าจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเนิ่นช้าออกไปจนอาจไม่ทันการ

ค. ฝ่ายสมาชิกพรรคแกนนำรัฐบาล

พรรคแกนนำรัฐบาลคือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสียเป็นพิเศษกับประเด็นใดๆ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการ แต่มีจุดยืนที่แตกต่างกัน ระหว่างกลุ่มที่เคยแสดงออกถึงการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังมาตั้งแต่ต้น จนมีคำรำพันอย่างน่าเห็นใจจากใครบางคนว่า "ไม่อยากเสียคนตอนแก่" กับกลุ่มที่อ้างความผูกพันกับพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ขณะเจรจาสลัดขั้วจัดตั้งรัฐบาลด้วยข้อตกลงที่สมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนรับรู้ด้วย

ง.

ความคิดเห็นที่ 4 (3129310)

เพื่อประชาชน ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552

"ท่าทีคนไทยในกรณีผู้นำเขมร"

ท่านผู้อ่านที่เคารพ

ได้เกิดมีเหตุการณ์ระทึกใจ กรณีสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีเขมร ซึ่งเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งในหมู่มิตรประเทศของไทยเรา ได้นำเสนอสมเด็จเจ้านโรดม สีหมุนีฯ พระมหากษัตริย์ของเขมร ลงพระนาม ในพระราชกฤษฏีกาเขมร แต่งตั้งพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเขมร และที่ปรึกษาส่วนตัวของสมเด็จฮุนเซ็น แทนที่สมเด็จฮุนเซนจะใช้อำนาจของตน แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวทางด้านเศรษฐกิจของตน

การแต่งตั้งครั้งนี้ เขมรใช้วิธีตรากฎหมายซึ่งไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติมาก่อนที่พระมหากษัตริย์ประเทศหนึ่ง จะแต่งตั้งบุคลากรอีกประเทศหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของตน แม้จะเป็นที่ปรึกษาก็ตาม ทำให้ฐานะของคุณทักษิณ ตกเป็นข้าราชบริพารของกษัตริย์เขมรอย่างเต็มตัวในทันที และเท่ากับผู้นำเขมร ได้ตอกย้ำ ยืนยันว่า การแต่งตั้งครั้งนี้ ผู้นำเขมรมีความตั้งใจ และตัดสินใจนำประเทศชาติ และประชาชนชาวเขมร มาเป็น*** กับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์ครั้งนี้ คนไทยทั้งชาติไม่ว่านักการเมืองฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ผู้นำการเมืองคนสำคัญต่างๆเช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ ชวลิต ยงใจยุทธ จะต้องไตร่ตรอง ใช้สติปัญญาพิจารณา กำหนดท่าทีของคนไทยทั้งชาติ และความเป็นนักการเมืองของแต่ละคนให้จงหนัก เพราะเป็น***ที่เสี่ยงต่อการสูญเสียความสงบ สันติสุขในประเทศไทย และเขมร ตลอดจนกลุ่มประเทศอาเซียนต่าง ๆ

ในการกำหนดท่าที ความคิดสติปัญญา เพื่อเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปข้างหน้าระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล คนไทยต่อคนเขมร นักการเมืองต่อนักการเมืองในประเทศ และต่อนักการเมืองนอกประเทศ ต่อผู้นำเขมร ที่ชื่อสมเด็จฮุนเซน โดยตรง

ประการแรกที่ต้องพิจารณา คือใครทำให้เกิดการปฏิบัติการฮุนเซนต่อประเทศไทย จนถึงกับต้องดึงพระประมุข คือเจ้านโรดมสีหมุนี พระมหากษัตริย์ของเขมร ต้องมาลงพระนามในพระราชกฤษฎีกา ประกาศแต่งตั้งให้ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเขมร ก็มีคำตอบที่ชัดเจนว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ของเขมร เป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น หาใช่เป็นการเรียกร้อง ผลักดัน จากประชาชนชาวเขมร ทั้งประเทศแต่อย่างใด คนไทยทั้งชาติ จึงไม่สมควรจะตำหนิประชาชนคนเขมรแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามกลับต้องผูกมิตร ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ถือโอกาส ซ้ำเติมคนเขมร ที่ผู้นำของเขา นำประเทศและรัฐบาลเขมรมาปฏิบัติ ต่อรัฐบาลไทย ประเทศไทย

ประเด็นนี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ปฏิบัติถูกต้องที่ไม่ทำให้ประชาชนเขมรเดือดร้อน ไม่สั่งปิดชายแดน ปล่อยให้มีการค้าขายกันได้ตามปกติ คนไทยทั้งชาติก็มีท่าทีที่ยังคงเป็นมิตรที่ดีกับพี่น้องชาวเขมรต่อไป

ข้อพิจารณาประการที่สอง ก็คือ มีเหตุผลประการใดที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของเขมร จึงออกมาแสดงท่าที แข็งกร้าวแบบเป็นปฏิปักษ์ กับรัฐบาลไทย ประเทศไทย ด้วยการนำเสนอ พระประมุขของรัฐ ประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลเขมร

เหตุผลที่ตรวจสอบได้ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า เป็นเหตุผลด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรกับสมเด็จฮุนเซน โดยตรง ซึ่งดูได้จากคำสัมภาษณ์ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ภายหลังเดินทางไปพบสมเด็จฮุนเซ็น ก่อนวันประชุมผู้นำสูงสุดของประเทศอาเซียน ที่หัวหิน- ชะอำ 1 วัน ซึ่งพล.อ.ชวลิตฯบอกว่า สมเด็จฮุนเซนเห็นใจพ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกศาลไทยพิพากษาให้จำคุก ยังรักผูกพัน กับ พ.ต.ท.ทักษิณเสมอ พร้อมจะจัดให้ความคุ้มครอง ถ้าเข้ามาพักอาศัยในเขมร โดยจะไม่ส่งตัว ให้รัฐบาลไทย ตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน พร้อมกับจะสร้างบ้านรับรองอย่างดี ไว้เตรียมต้อนรับ

ขณะเดียวกัน สมเด็จฮุนเซนเมื่อมาถึงประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ล่าช้ากว่ากำหนด ก็ให้สัมภาษณ์ทันทีในทำนอง เห็นอกเห็นใจชะตากรรมพ.ต.ท. ทักษิณฯ ถึงความไม่เป็นธรรมต่างๆที่ได้รับจากการตัดสินคดีความและจากรัฐบาลไทย ทั้งที่ทำคุณประโยชน์ ให้ประเทศไทยมากมาย

การให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฮุนเซนในประเทศไทย ก่อนประชุมอาเซียนเล็กน้อยเช่นนี้ เท่ากับตบหน้าเจ้าภาพประเทศไทย รัฐบาลไทย ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้กล่าวเป็นส่วนตัวกับสมเด็จฮุนเซนขอให้ได้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่าง ไม่สมควรออกมาตำหนิรัฐบาลไทย ในโอกาสเช่นนี้

การเดินทางไปพบสมเด็จฮุนเซนของ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่มีใครทราบอย่างชัดเจนว่า ได้เจรจาขอร้องให้กระทำอะไรให้พ.ต.ท. ทักษิณบ้าง แต่การมีพระราชกฤษฎีกาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณฯเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลเขมร ในเวลาต่อมา ย่อมทำให้สังคมอ่านคำร้องขอของ พล.อ.ชวลิตฯได้ และหากอ่านได้ถูกต้องตามนี้ ก็มีคำถามในหมู่คนไทยทั้งชาติว่า พล.อ. ชวลิตฯได้ทำหน้าที่ในฐานะคนไทยผู้ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ถูกต้องเหมาะสม หรือไม่

สิ่งที่คนไทยทั้งชาติ นักการเมืองทั้งปวงทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ต้องยอมรับก็คือปัญหาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นปัญหาภายในประเทศของเราเอง ที่มีการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐกัน โดยถูกกล่าวหากันว่า กระทำผิด คิดมิชอบต่างๆ จนศาลยุติธรรมมีคำพิพากษาบางคดีจบไปแล้ว และอยู่ระหว่างพิจารณาอีกหลายๆคดี กรอบการต่อสู้ก็ชอบที่จะอยู่ในประเทศไทย แม้หลายกรณีมีการต่อสู้มาจากต่างประเทศ แต่ก็เป็นการเรียกร้องให้เกิดการต่อสู้ เพื่อแสวงหาชัยชนะ หรือสิ่งที่ตนเองเรียกว่า ความเป็นธรรม กับหมู่คนไทยในประเทศ เท่านั้น

ครั้งนี้มีการอาศัยมิตรต่างแดน ผู้นำต่างชาติ นำประเทศของเขา ประชาชนของเขา มาร่วมต่อสู้ เรียกร้องความเป็นธรรม ให้กับตนเองและพวกพ้อง น่าจะไม่ใช่วิสัยของคนไทย ผู้มีสายเลือดของความเป็นไทยอย่างแท้จริง เมื่อเป็นเช่นนี้ คนไทยทั้งชาติย่อมจะพิจารณาได้ว่า ใครสร้างความขัดแย้ง ระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลเขมร ระหว่างคนไทยกับ คนเขมร

แม้ฝ่ายที่ได้กระทำการเยี่ยงนี้ จะบอกว่านี่คือยุทธวิธี ในการชิงอำนาจรัฐ จากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เป็นยุทธวิธี ที่ล้ำเส้นไปมาก เป็นการใช้เอกราชอธิปไตย ของชาติเพื่อนบ้าน มาคุกคามเอกราชและอธิปไตยของประเทศไทย คนไทยโดยตรง ยิ่งบางท่านมีแผนจะเดินสาย ไปพูดจากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆเช่น มาเลเซีย พม่า ลาว สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฯลฯ แทบจะเรียกว่า ดึงทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมารุมกินโต๊ะประเทศไทย นับเป็นโทษาคติ ที่เป็นมหันตภัยร้ายแรง ต่อคนไทย ประเทศไทยโดยแท้

หากต้องการจะขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้พ้นออกไป เพื่อท่านทั้งหลายจะได้กลับคืนสู่อำนาจรัฐ ดำเนินการอภัยโทษหรือกระทำการใดๆให้กับบุคคลคนหนึ่ง ก็ควรจะกระทำอยู่ในกรอบประเทศไทยก็พอ ไม่น่าจะออกไปดึง เพื่อนบ้านมาร่วมขบวนการเลย

นี่คือความจริง ที่คนไทยทั้งประเทศและนักการเมืองทุกๆฝ่ายต้องตระหนัก และตัดสินใจว่ายังจะสมควรให้ความร่วมมือ สนับสนุนให้ เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง ระหว่างประเทศขึ้นต่อไปอีกหรือไม่

ทางฝ่ายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแม้ดำเนินมาตรการทางการทูต โดยถอนเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญออกมาชั่วคราว รัฐบาลพนมเปญก็เรียกเอกอัครราชฑูตกัมพูชา ประจำประเทศไทยออกไปเช่นกัน รัฐบาลไทยต้องออกมาบอกประชาชนให้ชัดว่า นี่เป็นเพียงมาตรการลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากระดับเอกอัครราชทูตลงมาเหลือระดับอุปทูต ยังมิได้ถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสิ้นเชิง การไม่ทำความเข้าใจแก่ประชาชนให้ถูกต้อง ย่อมทำให้เกิดความตระหนก แก่ประชาชนทั้ง 2 ประเทศ และอาจเกินเลยไปขั้นปล่อยข่าวลือว่า ประเทศทั้งสอง กำลังเตรียมทำสงครามกัน

มาตรการที่รัฐบาลกำลังพิจารณาจะยกเลิก MOU ที่ทำไว้ต่อเขมรร้อยกว่าฉบับ มาตรการระงับเงินช่วยเหลือโครงการต่างๆที่มีมาแต่รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม เมื่อตัดสินใจกระทำการใด หรือยกเลิกความช่วยเหลือแล้ว รัฐบาลต้องบอกประชาชนชาวไทยและชาวเขมรอย่างแจ้งชัด ถึงเหตุผลความจำเป็น และชี้ให้เห็นว่าโครงการเหล่านั้นมีผลประโยชน์แอบแฝงของผู้นำของเขา อดีตผู้นำของเราอย่างไร

สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องรีบดำเนินการคือ การสกัดกั้นมิให้นักการพนันของไทย ไปเล่นการพนันในบ่อนตามแนวชายแดนในประเทศเขมรทุกๆบ่อน เพราะรายได้จากบ่อนเหล่านี้ ล้วนไหลไปสู่ผู้มีอำนาจทางการเมืองทั้งในประเทศของเราและในกัมพูชา นอกจากนี้ยังเป็นการระงับ ยับยั้งให้คนไทย ไม่หมกมุ่น อยู่กับอบายมุข การพนันอีกด้วย

ที่สำคัญที่สุด เมื่อการกระทำของผู้นำเขมรครั้งนี้ ตั้งอยู่บนรากฐานและผลประโยชน์ส่วนบุคคล ระหว่างคนสองคน จนผู้นำเขมรเลือกเอาความสัมพันธ์ส่วนบุคคล มากกว่าสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และระหว่างประชาชนชาวไทยกับชาวเขมร รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องสามารถทำให้รัฐบาล ของสมเด็จฮุนเซน ได้เห็นและ ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรง ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวม ของประเทศกัมพูชา ประชาชนชาวกัมพูชาว่า มีอะไร อย่างไรบ้าง โดยรวดเร็วที่สุด เพื่อชี้ให้เห็นผลร้ายของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ซึ่งรัฐบาลไทย และคนไทยยังยินดีจะให้อภัย และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติต่อไป

ประมวล รุจนเสรี
e-mail : pramuanr@hotmail.com

- - - - - - - - - - - - - - - - - -              

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยปทุมธานี

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

1711521748

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-11-17 17:48:22 IP : 124.121.138.5



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.