ReadyPlanet.com


คนพิการ - สนามบินสุวรรณภูมิ จบลงแล้วโดยศาลพิพากษายกฟ้อง


สรุปคำพิพากษาศาลปกครองกลางกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ

เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

 

                                                            เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552

 

            ผู้ฟ้องคดีหรือคนพิการประเภทต่างๆ เป็นผู้ได้รับความเดือนร้อนเสียหายจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องได้แก่ นายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในการเปิดให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีประเด็นวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรโดยไม่ดำเนินการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ดังนี้

1.                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 55 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ” - เห็นได้ว่าสิทธิเช่นว่านี้จะมีขอบเขตแค่ไหน เพียงใด หรือมีเงื่อนไขอย่างไรนั้น รัฐจะต้องกำหนดโดยบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิดังกล่าวก่อน ผู้พิการหรือทุพพลภาพจึงจะสามารถใช้สิทธิเช่นว่านี้ได้

2.                พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534มิได้ระบุว่าเป็นการออกกฎหมายเพื่ออนุวัติตามรัฐธรรมนูญฉบับใด  / มีแต่การกำหนดแต่เฉพาะภาคเอกชนเท่านั้นที่ให้จัดอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกเพราะเห็นได้ว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ในทางภาษีอากรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติดังกล่าว ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่าไม่อาจนำบทบัญญัติของพระราชบัญญัติดังกล่าวและกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) มาใช้บังคับสำหรับกรณีตามคำฟ้องนี้ได้

3.                กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 และระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการว่าด้วยมาตรฐานอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการ พ.ศ. 2544 โยนไปว่าถ้ามีกฎหมายที่ควบคุมอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นใดจะได้กำหนดอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกโดยตรงแก่คนพิการไว้โดยเฉพาะและมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการกำหนด ก็ให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับแทน

4.                กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 - ถือเป็นการออกกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิในการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิในเรื่องนี้ไว้ แต่อย่างไรก็ตามในข้อ 29 ได้กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่า อาคารที่มีอยู่ก่อนหรือได้รับอนุญาตหรือได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารหรือได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและได้ดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิแล้ว ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการโครงการท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 หรือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2534 และต่อมาได้อนุมัติให้ก่อสร้างในวันที่ 7 พฤษภาคม 2538 รวมทั้งได้มีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549 / อีกทั้งโดยหลักการแล้วการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้น รัฐจะต้องกระทำโดยการออกเป็นกฎหมายเฉพาะเท่านั้น ไม่อาจที่จะออกเป็นกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับสิทธิดังกล่าวได้เนื่องจากกฎหมายลำดับรองไม่อาจที่จะกำหนดสิทธิหน้าที่ในทางกฎหมายขึ้นใหม่ได้ หากแต่ต้องเป็นไปตามกรอบหรือขอบเขตของกฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจไว้เท่านั้น รวมทั้งการออกเป็นกฎหมายลำดับรองจะไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันที่มั่งคงเพราะอาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในภายหลังได้

5.                มติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 10 มีนาคม 2541 เรื่องการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นเพียงการกำหนดหลักการให้ถือปฏิบัติแบบทั่วๆไปเท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดหากแต่หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่ๆจะต้องถือปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวเท่าที่มีความสามารถ ส่วนจะดำเนินการได้ครบถ้วนมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายประการ เช่น งบประมาณ

6.                พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 11(5) และ นโยบายการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 - ไม่มีการกำหนดรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานแต่อย่างใด

7.                กรอบการปฏิบัติแห่งสหัสวรรษภายใต้ทศวรรษคนพิการแห่งเอเชีย-แปซิฟิก พ.ศ. 2546-2555 เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยมิได้มีการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ามีการกำหนดหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่แต่อย่างไร

8.                ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2541

            สรุป ข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ดำเนินการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎกระทรวงข้างต้นได้กำหนดไว้ในระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้ให้การรับว่าจะจัดให้มีการปรับปรุง แก้ไขหรือเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆต่อไป อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้มีความพยายามที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ตามความสามารถและงบประมาณที่จะเอื้ออำนวยให้แล้ว กรณีจึงย่อมไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแต่อย่างใด และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายแล้ว กรณีที่ฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล้าช้าเกินสมควรนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาอีกต่อไป พิพากษายกฟ้อง

* * * * * * * * * * * *

                                                         

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

www.waddeeja.com

Tel. 02-990-0331

0109521623

 

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-09-01 16:23:25 IP : 124.121.144.98


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.