ReadyPlanet.com


อาสาสมัคร กศน.


วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11488 มติชนรายวัน


สร้างจิตสำนึกให้ " อาสาสมัคร กศน. "

โดย จารุณี แก้วประภา กศน.เมืองพะเยา

 

ในการทำงานนั้น การสร้าง "จิตสำนึก" ให้กับบุคลากรในองค์กร ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของการปฏิบัติงานใดๆ เพราะการสร้างจิตสำนึกก็คือ การสร้างสติ เมื่อมีสตินึกได้ และปฏิบัติตามที่สตินึกรู้ ก็เรียกว่าคนนั้นมีจิตสำนึก ก่อนที่จะสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติงานให้แก่ "อาสาสมัครส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)" นั้น จะต้องทราบความหมายของคำที่เกี่ยวข้องก่อน เมื่อกล่าวถึง "อาสาสมัคร" จะมีอีกคำหนึ่งที่มักจะถูกกล่าวถึงควบคู่กันเสมอ นั่นคือ คำว่า "จิตอาสา" ที่นี้มาดูกันว่าคำสองคำนี้ มีความสำคัญและความหมายแตกต่างกันอย่างไร

อาสาสมัคร (Volunteer) หมายถึง ผู้ที่สมัครใจและอาสาเข้ามาเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม โดยสมัครใจ เพื่อการดูแล ป้องกัน แก้ปัญหาเพื่อพัฒนาสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน หรือสิ่งอื่นใด ผลตอบแทนที่อาสาสมัครได้รับคือ ความสุข ความภาคภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ

คุณลักษณะของอาสาสมัครคือ มีความคิดเป็นอิสระในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ (ตามพรสวรรค์/ความสนใจ) มีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อบุคคล กลุ่มบุคคล และส่วนรวม ไม่หวังรางวัล หรือผลตอบแทนเป็นเงินทอง และไม่ใช่ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ ในด้านสภาวะจิตใจของบุคคลที่จะเป็นอาสาสมัครนั้น ต้องมีความรักความปรารถนาที่จะให้ และมีจิตใจที่จะทำความดี เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รวมถึงยอมเสียสละเวลา โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ

จิตอาสา (Volunteer Spirit) หมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์ โดยเต็มใจ สมัครใจ อิ่มใจ ซาบซึ้งใจ ปีติสุข ที่พร้อมจะเสียสละเวลา แรงกาย และสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ ในการทำกิจกรรม หรือสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นจิตที่ไม่นิ่งดูดาย เมื่อพบเห็นปัญหา หรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน เป็นจิตที่มีความสุขเมื่อได้ทำความดี และเห็นน้ำตาเปลี่ยนเป็นรอยยิ้ม เป็นจิตที่เปี่ยมด้วย "บุญ" คือความสงบเย็น และพลังแห่งความดี อีกทั้งยังช่วยลด "อัตตา" หรือความเป็นตัวเป็นตนของตนเองลงได้บ้าง

สำหรับกระบวนการสร้างจิตอาสา ต้องประกอบด้วยการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของจิตอาสา การเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ และการติดต่อสื่อสาร การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คุณลักษณะของผู้มีจิตอาสาคือ มุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม การทำงานทุกอย่างเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของอามิส สินจ้าง หรือรางวัล ตลอดจนการอุทิศกาย กำลังใจ และเวลาให้แก่ส่วนรวม

อาสาสมัครส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรืออาสาสมัคร กศน. (Non Informal Education Volunteer : NIEV) หมายถึง นักศึกษา ผู้มีจิตอาสา ผู้รู้ ภูมิปัญญา ศิษย์เก่า หรือผู้สนใจที่จะร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาชุมชน เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และสมัครใจทำงานเพื่อสังคมในด้านการศึกษา โดยไม่รับค่าตอบแทนในหมวดเงินเดือน และได้รับการฝึกอบรมก่อนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาสาสมัคร กศน.

ผู้ที่จะทำหน้าที่อาสาสมัคร กศน.ได้นั้น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ที่สมัครใจและเสียสละเพื่อช่วยเหลืองานการศึกษาของ กศน. มีภูมิลำเนา หรือมีถิ่นที่อยู่ประจำในหมู่บ้านหรือชุมชน มีความรู้ความสามารถ และสามารถอ่านออก เขียนได้ นอกจากนี้ ยังต้องเป็นบุคคลที่กรรมการหมู่บ้าน หรือประชาชนรับรองว่าเป็นผู้ที่มีความประพฤติว่าอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดี ได้รับความไว้วางใจ และยกย่องจากชุมชน

บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของอาสาสมัคร กศน.คือ การเป็นผู้แทนเสนอความต้องการในการเรียนรู้ของประชาชน โดยประสานงานกับครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน ประชาสัมพันธ์ สื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ของประชาชน ในขณะเดียวกันก็ร่วมส่งเสริม สนับสนุน และร่วมจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชนกับครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนในการติดตามผล และดูแลการจัดกิจกรรมศึกษาในชุมชน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุน การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านการศึกษาของประชาชนในชุมชนด้วย

สิ่งที่อาสาสมัคร กศน.พึงมีและถือปฏิบัติ คือ มีความรักมนุษยชาติตามหลัก

- พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย เมตตา : ความรัก ความปรารถนาดีให้ผู้อื่นมีความสุข, กรุณา : ความสงสาร เห็นใจ ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์, มุทิตา : ยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข, อุเบกขา : วางเฉยไม่ลำเอียง

 - สังควัตถุ 4 ประกอบด้วย ทาน : การให้ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่, ปิยวาจา : กล่าวด้วยวาจาที่ซาบซึ้ง สุภาพอ่อนหวาน, อัตถจริยา : ทำดี ประพฤติดี เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น, สมานัตตตา : ทำตัวเสมอต้น เสมอปลาย

นอกจากนี้ อาสาสมัคร กศน.ควรจะต้องมีการสื่อสารที่ดี มีมโนกรรม (คิดดี คิดทางบวก : Positive thinking) มีวจีกรรม (ปิยวาจา) ฝึกขอบคุณ ฝึกแสดงความยินดี ฝึกให้กำลังใจ ฝึกชื่นชมผู้ที่มีจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ

หัวใจสำคัญของการทำงานในชุมชนคือ การที่สมาชิกในชุมชนมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อกระบวนการทำงานได้ให้ชาวบ้านได้ร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่เริ่มต้น และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในชุมชน โดยอาศัยอาสาสมัคร กศน.เป็นผู้ประสาน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการศึกษาตลอดชีวิตอย่างแท้จริงต่อไป

"
อาสาสมัคร กศน." พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ ซื่อสัตย์ สุจริต สามัคคี รักษามาตรฐานการเป็นแบบอย่างของผู้ที่มีความเสียสละ และใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่เสมอ

 

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

2308522306

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-23 23:06:15 IP : 124.121.141.238


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3163379)

จะทำงานที่ได้รับมอบหมายให้อย่างดีที่สุด

ผู้แสดงความคิดเห็น ชัญญานุช (chanyanuch-dot-aor-at-gmail-dot-com)วันที่ตอบ 2010-03-18 20:05:14 IP : 183.89.29.19



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.