ReadyPlanet.com


เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท


จัดการแนวใหม่ ต้านภัยน้ำท่วม

นงนวล รัตนประทีป


พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในทุกปีของช่วงฤดูฝนน้ำจะท่วมอยู่เสมอ บางครั้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกร กรมชล ประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงปรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำแนวใหม่สำหรับต้านภัยน้ำท่วม และยังช่วยเกษตรกรให้สามารถทำนาได้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องให้แก่พื้นที่อื่นๆ

ล่าสุด นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะไปดูขั้นตอนวิธีการควบคุมและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพของ "เขื่อนเจ้าพระยา" อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, ทุ่งท่าวุ้ง (แก้มลิงธรรมชาติ) โครงการแก้มลิงหนองสมอใส จ.ลพบุรี และแก้มลิงทะเลสาบบ้านหมอ จ.สระบุรี ของโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา

นายชลิต กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูฝน หรือฤดูน้ำหลาก และฤดูแล้ง ที่ใช้ทุกวันนี้ เพราะมีเครื่องมือคอยควบคุมจัดการกับน้ำที่ไหลจากลำน้ำเหนือ เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ให้อยู่ในภาวะสมดุล โดยมีเขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนสิริกิติ์ คอยกักเก็บน้ำและชะลอน้ำ มีเขื่อนเจ้าพระยาเป็นเขื่อนทดน้ำไว้คอยจัดจราจรทางน้ำไม่ให้เกิดอุทกภัย และการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ส่งน้ำเข้าตามคลองต่างๆ ของชลประทานที่อยู่เหนือเขื่อน ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา



ส่วนในช่วงฤดูฝน หรือน้ำหลาก กรมชล ประทานใช้พื้นที่แก้มลิงธรรมชาติเป็นเครื่องมือบรรเทาปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างในภาคกลาง ถือเป็นทุ่งรับน้ำนองเดิมตามธรรมชาติ และถือว่ามีประโยชน์มากในช่วงจัดการจราจรทางน้ำให้ไหลเข้าไปตามคลองต่างๆ ในช่วงก่อนฤดูฝน โดยจะผันน้ำเข้าไปในแก้มลิงของมูลนิธิชัยพัฒนาไว้คอยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค และการเกษตร

นายชลิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมชลประทานประสบความสำเร็จในการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิง ที่ใช้รับน้ำในฤดูน้ำหลากในพื้นที่นำร่อง "ทุ่งท่าวุ้ง" อ.ท่าวุ้ง และอ.เมือง จ.ลพบุรี จำนวน 25,000 ไร่ โดยร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมให้สามารถทำการเกษตรได้เต็มศักยภาพ

อีกทั้งในพื้นที่ยังมีโครงการแก้มลิงหนองสมอใสอยู่ใน ต.บางลี่ และต.บางคู้ อ.ท่าวุ้ง มาช่วยในฤดูแล้งให้แก่เกษตรกรทำนา จากเดิมที่ทำนาได้ปีละครั้งมาเป็นปีละ 2 ครั้ง โดยปรับพันธุ์ข้าว จากเดิมปลูกข้าวฟางลอยมาเป็นพันธุ์ข้าวนาปรัง กข.

รวมถึงการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาปลูกข้าว ที่เดิมทำนาปีระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.พ. มาเป็นปลูกในช่วงเดือนธ.ค.-มี.ค. และในช่วงเดือนเม.ย.-ก.ค.แทน ปรับให้พื้นที่ทุ่งท่าวุ้งเป็นพื้นที่นาของเกษตรกรเดิมมักจะถูกน้ำท่วมเสียหายทุกปีปรับให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติ โดยให้พื้นที่ดังกล่าวท่วมขังในช่วงฤดูน้ำหลาก อีกทั้งเกษตรกรยังนิยมที่จะให้น้ำท่วมในนาของตัวเองในช่วงน้ำหลาก เพราะพวกฟางข้าว หรือต่อซังข้าว ที่ปกติพื้นที่น้ำไม่ท่วม ก็จะเผา เป็นการทำลายหน้าดินเสียหาย การปลูกพืชก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ต้นทุนก็สูงขึ้น



แต่พอหันมาให้น้ำท่วมในพื้นที่นาของตัวเอง รวมทั้งมาปรับเปลี่ยน เกษตรกรส่วนใหญ่พอใจมาก เพราะถือว่าน้ำจะทำให้ฟางข้าวหรือตอข้าวเน่าเปลือยเป็นปุ๋ยชั้นดี และเป็นปุ๋ยที่ได้จากธรรมชาติ ผลผลิตก็สูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งท่าวุ้งสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้มากถึง 80 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากสอดรับกับสภาพธรรมชาติ โดยหลีกเลี่ยงความเสียหายจากน้ำท่วมได้แล้ว เกษตรกรในทุ่งท่าวุ้งยังได้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 30-40 ถังต่อไร่ ก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 90-100 ถังต่อไร่

ส่วนบริเวณพื้นที่แก้มลิง ที่มูลนิธิชัยพัฒนาและกรมชลประทานดำเนินการปรับปรุงร่วมกันที่หนองสมอใส จำนวน 280 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ยังสามารถนำน้ำดังกล่าวมาใช้กรณีที่น้ำน้อย และส่งน้ำในบริเวณพื้นที่ทุ่งท่าวุ้งได้อีกประมาณ 3,000 ไร่

ด้านนายคะนอง เอมถมยา กำนัน ต.บางคู้ ให้ข้อมูลภายหลังใช้วิธีการแนวใหม่ว่า หลังจากปรับเปลี่ยนต่างๆ ดีขึ้น ทุกคนได้ประโยชน์ทั้ง หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นแก้มลิงธรรมชาติ หรือแก้มลิงชัยพัฒนา เดิมทุ่งนาในทุ่งท่าวุ้งน้ำท่วมทุกปี การปลูกข้าวไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร บางคนเป็นหนี้เป็นสิน แต่พอปรับมาใช้ตามแนวทางที่กรมชลประทานให้ก็ทำให้ความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้ใช้แก้มลิงของมูลนิธิชัยพัฒนาที่หนองสมอใสเข้าร่วม โดยนำมาทำนาในช่วงฤดูแล้ง เราจะรวมกลุ่มรับสมัครสมาชิกผู้ใช้น้ำ มีการลงทะเบียน และเกษตรกรคนไหนที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำก็จะให้เสียสละพื้นที่เพื่อขุดคลองซอยเข้าไปในที่นา เพื่อให้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ และแก้มลิงของมูลนิธิชัยพัฒนาส่งน้ำเข้าไปในการเพาะปลูก

วิธีการนี้สมาชิกจะต้องเสียเงินค่าขุด ปรากฏว่าตอนแรกหลายคนไม่ยอม แต่พอเห็นบางคนเสียสละแล้วเขาได้ผลผลิตสูงขึ้นหลายเท่าตัวก็เริ่มหันมาขยายเป็นวงกว้างขึ้น จนปัจจุบันนี้เรียกว่าทุ่งท่าวุ้ง จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่นำร่อง หรือตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่นนำไปปรับใช้ จนปัจจุบันนี้ความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของคนทุ่งท่าวุ้งดีขึ้นอย่างเห็นชัด

 

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

www.waddeeja.com

Tel.02-990-0331

0811522111

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-11-08 21:11:14 IP : 124.122.241.6


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.