ReadyPlanet.com


ความรับผิดชอบ - การถอดถอน - สมชาย วงศ์สวัสดิ์


ทำไม จึงควรถอดถอน"สมชาย วงศ์สวัสดิ์" (เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน)

 

การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตของประชาชนผู้ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา และบริเวณต่อเนื่องที่มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามสลายการชุมนุมตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำในวันดังกล่าว

เป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก หลายรายอาการสาหัส สูญเสียอวัยวะ ขาขาด มือขาด ลูกตาหลุด กระโหลกศรีษะแตก เนื้อสมองเสียหาย ฯลฯ

วันพรุ่งนี้... 9 มีนาคม 2553 วุฒิสภาจะพิจารณาลงมติถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 270 - 274 โดยที่ มาตรา 274 บัญญัติเกี่ยวกับการลงมติเพื่อถอดถอนของสมาชิกวุฒิสภาเอาไว้ว่า

"สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่งให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับตั้งแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี

มติของวุฒิสภาตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"

1) ปรากฏชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้การถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นคนละเรื่องกับการดำเนินคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยในส่วนของคดีอาญาก็จะต้องมีการดำเนินการต่อศาลฎีกาฯ ต่อไปต่างหาก ซึ่งศาลฎีกาฯ จะมีคำพิพากษาชี้ขาดอย่างไร จะลงโทษหรือไม่ลงโทษอย่างไร ก็เป็นดุลพินิจของศาล

แต่หน้าที่ในส่วนของ "การถอดถอน" เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาโดยตรง

และหากวุฒิสภามีมติถอดถอน นายสมชายก็จะต้องหยุดดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งต่างกันกับการลาออก หรือศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคให้ออก

เพราะฉะนั้น ข้อโต้แย้งที่อ้างว่า นายสมชายได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว วุฒิสภาจึงไม่ควรดำเนินการถอดถอน จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากวุฒิสภาไม่ถอดถอนนายสมชาย โดยอาศัยเหตุผลดังกล่าว ย่อมจะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยลาออกจากตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ก่อนที่จะเริ่มกระบวนการถอดถอน ย่อมทำให้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 ไม่อาจใช้บังคับได้เลย

2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุให้การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเสมือนมาตรการลงโทษทางการเมือง จึงให้ลงโทษเพียง "ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี"

พูดง่ายๆ ว่า "ให้หยุดอาสาเข้ามาทำงานการเมืองอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ช่วงระยะเวลาหนึ่ง (5 ปี)" แต่ระหว่างนั้น ผู้ถูกลงโทษก็ยังสามารถใช้ชีวิตปกติ ประกอบอาชีพ ทำมาหากิน ฯลฯ

มิใช่โทษอาญา จำคุก หรือประหารชีวิตแต่ประการใดเลย

ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 จึงบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง "ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้น..."

จะเห็นว่า การถอดถอน รัฐธรรมนูญกำหนดเพียงแค่ "ส่อว่า" ก็สามารถถอดถอนได้แล้ว แตกต่างจากความผิดทางอาญา ที่จะต้องพิสูจน์จนสิ้นสงสัย

ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. จึงต้องใช้ดุลพินิจตามกฎหมาย คือ เพียง "ส่อว่า" ก็สามารถถอดถอนได้แล้ว ซึ่งต่างจากการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีอาญา ที่ต้องพิจารณาจน "สิ้นสงสัย" จึงจะตัดสินใจพิพากษาลงโทษผู้นั้นได้

และหากวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ แม้ในอนาคต ในส่วนของคดีอาญา ศาลจะพิจารณาออกมาเช่นไร ก็เป็นเรื่องในทางคดีอาญา ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญย่อมได้รับความคุ้มครอง

เพราะฉะนั้น การพยายามกล่าวอ้างในทำนองว่า เรื่องของนายสมชายยังเป็นคดีอาญาอยู่ในชั้นศาล วุฒิสภาจึงไม่ควรพิจารณาถอดถอน หรือหากวุฒิสภาถอดถอนไปก่อน แล้วศาลพิพากษาว่านายสมชายไม่มีความผิดทางอาญา ส.ว.ก็จะต้องถูกเล่นงาน ข้ออ้างในลักษณะนี้ จึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

มีลักษณะขู่กรรโชก ส.ว.ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาด ตรงไปตรงมา
(ยังมีต่อ...........................)

- - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

สมาคมคนพิการ

0803531638

*********************

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2010-03-08 16:38:50 IP : 124.121.142.168


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3160812)

ถ้าอ้างเช่นนั้นได้ ก็เท่ากับว่า ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนของวุฒิสภาไปโดยปริยาย เพราะจะต้องรอคำพิพากษาในคดีอาญาของศาล ทั้งๆ ที่ กรณีถอดถอนนั้น รัฐธรรมนูญให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ทำหน้าที่ไต่สวนและชี้มูลความผิด เสนอให้วุฒิสภาดำเนินการ แยกต่างหากจากคดีอาญา

ดังที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยแจ้งชัดว่า มติของวุฒิสภาตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด... แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3) นายสมชาย อ้างว่า ตอนสายวันที่ 7 ต.ค. 2551 เดินทางเข้าไปรัฐสภา เพื่อแถลงนโยบาย ไม่ได้ล่วงรู้ว่ามีเหตุรุนแรง ตั้งแต่ 06.15 น. และเมื่อแถลงนโยบายเสร็จ จะออกจากรัฐสภา ก็เกรงว่าเจ้าหน้าที่ต้องสลายการชุมนุม จึงอุตส่าห์ปีนกำแพงหนีไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์พร้อมลูกสาวที่เป็น ส.ส. เพื่อจะได้ไม่สลายการชุมนุม

เมื่อถูกดำเนินการถอดถอน นายสมชายอ้างกับวุฒิสภาว่า ตลอดทั้งวัน ตนเองไม่ได้รับรายงาน เลยไม่รู้ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย

แต่ในความเป็นจริง... คนไทยเกือบทุกคน ล้วนได้รู้ถึงความรุนแรงของเหตุการณ์จากภาพข่าวสื่อสารมวลชนตลอดทั้งวัน (ตั้งแต่เช้าตรู่) แม้ในที่ประชุมรัฐสภา ก็ปรากฏว่า ส.ว.รสนา โตสิตระกูล และ ส.ว.ประสงค์ นุรักษ์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายต่อว่า แถลงข้อเท็จจริงต่อหน้านายสมชายว่ามีคนบาดเจ็บร้ายแรงจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และกล่าวตำหนิในทำนองว่ายังมีการแถลงนโยบายโดยไม่รู้สึกรู้สม เดินเหยียบกองเลือดเข้ามามีอำนาจรัฐ ฯลฯ

4) นายสมชาย อ้างว่า ตนเองได้มอบหมายให้พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ และ ผบ.ตร.ก็มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดชอบ

ในความเป็นจริง... เมื่อพลเอกชวลิตลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ เมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ของวันที่ 7 ต.ค.2551 หน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมด จึงตกอยู่กับนายกรัฐมนตรีสมชายเอง

ยิ่งกว่านั้น ข้อเท็จจริงยังมัดตัวแน่นหนาว่า นายสมชายได้เรียก พล.ต.อ.พัชรวาท ผบ.ตร. ในขณะนั้น มาสั่งการในคืนวันที่ 6 ต.ค.2551 ด้วยตนเอง

5) นายสมชาย อ้างว่า ไม่มีอำนาจสั่งการ เพราะยังไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ความเป็นจริง นายสมชายได้เป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

ยิ่งกว่านั้น ในตอนสายของวันที่ 7 ต.ค. ซึ่งได้มีการแถลงนโยบายในช่วงเช้าเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่นายสมชายก็ยังไม่สั่งการให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่อย่างชัดเจน

ในความเป็นจริง การแถลงนโยบายก็ไม่จำเป็นต้องกระทำในวันที่ 7 ต.ค. หรือต้องกระทำที่อาคารรัฐสภาเสมอไป จะเห็นได้ว่า เมื่อมีเหตุจำเป็น หรือเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อประชาชนและส่วนรวม รัฐบาลชุดปัจจุบัน นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สามารถเลือกที่จะแถลงนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศ

6) นายสมชาย อ้างว่า น.ส.อังคนา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. ที่ศพมีคราบซีโฟร์ แสดงว่าเสียชีวิตจากอาวุธที่ผู้ชุมนุมพกพาไปเอง

ทั้งๆ ที่ กรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์ พล.อ.ต.นพ.วิชาญ เบี้ยวนิ่ม พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา และ พ.ต.ท.กำธร อุ้ยเจริญ ต่างยืนยันว่า สาเหตุการตายของ น.ส.อังคนา คือ แก๊สน้ำตาที่ผลิตในประเทศจีน บรรจุวัตถุระเบิดแรงสูง มีสารอาณ์ดีเอ็กซ์และซีโฟร์ ประกอบอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจาะจงใช้แก๊สน้ำตาชนิดนี้ในการปฏิบัติการวันนั้น นอกจากนี้ สภาพบาดแผลของ น.ส.อังคนา เกิดจากแรงระเบิดที่ใกล้ตัว แต่ไม่ประชิดตัว การหักของกระดูกซี่โครง ยาวตลอด 12 ซี่ จึงเป็นลักษณะถูกอัด หรือแรงกระแทกภายนอก ซึ่งหากเป็นระเบิดประชิดตัวหรือที่หนีบไว้กับตัวอย่างที่มีการอ้าง ซี่โครงจะแตกเป็นชิ้น และกระเป๋าสะพายของ น.ส.อังคนา ก็คงจะเสียหาย ไม่อยู่ในสภาพดี รวมทั้งโทรศัพท์มือถือก็ยังอยู่ในสภาพใช้งานได้ ขณะที่มีการตรวจพิสูจน์

7) การถอดถอนตามรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงแค่ "ส่อว่า" ก็สามารถถอดถอนได้

แต่กรณีของนายสมชาย ปรากฏว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดแล้วว่า นายสมชายเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้ชุมนุมในวันที่ 7 ต.ค.2551 หลายคนอาการสาหัส ถึงขั้นขาขาดแขนขาด ทั้งยังทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น เมื่อนายสมชายทราบว่าเกิดความรุนแรง ก็ไม่สั่งการให้ตำรวจยุติการกระทำ กลับปล่อยให้กระทำรุนแรงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่เช้าจนค่ำ อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บสาหัสอีกจำนวนมาก

การกระทำของนายสมชาย จึงชัดเจนยิ่งกว่า "ส่อว่า" เสียอีก!

จับตา... การปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภา

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ยังไม่เคยมีกรณีใดสามารถลงโทษนักการเมืองที่กระทำการปราบปราม เข่นฆ่า ทำร้ายประชาชนได้เลย ไม่ว่าจะเป็น 14 ต.ค. 2516, 6 ต.ค.2519 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 ผู้มีอำนาจการเมืองจึงได้ใจ และเป็นทรราช มีการกระทำเข่นฆ่าประชาชนเรื่อยมา

น่าสนใจว่า... ในการถอดถอนนายสมชายตามรัฐธรรมนูญครั้งนี้ วุฒิสภาจะต้องใช้มติ 3 ใน 5

หมายความว่า จะต้องมี ส.ว.ลงมติถอดถอน ไม่น้อยกว่า 90 คน จาก ส.ว.ทั้งหมด 150 คน

ไม่ใช่เรื่องง่าย!

วันพรุ่งนี้... สังคมไทยจะต้องจับตามอง คาดหวัง และพยายามสื่อสารถึงผู้แทนปวงชนชาวไทย ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเด็ดขาด ตรงไปตรงมา เพื่อร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทย

เต็มคำว่า "ความรับผิดชอบ" และ "ถอดถอน" เข้าไปบนเส้นบรรทัดของประวัติศาสตร์การเมืองไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการถอดถอนครั้งนี้ เกิดขึ้นด้วยพลังแรงของประชาชนผู้เข้าชื่อร่วมกัน 24,489 คน นำโดย รศ.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ อันจะเป็นก้าวใหม่ที่เสริมเติมพลังของการเมืองภาคพลเมืองของไทยให้มีความเข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป

ผู้แทนประชาชน จะต้องไม่ปกป้องนักการเมืองด้วยกัน โดยละทิ้งหน้าที่ ทอดทิ้งประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ใส่เสื้อสีใด!

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

- - - - - - - - - - - - - - - - - -  

พันตรีศิริชัย   ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.)

โทร. 02-990-0331

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ

สมาคมคนพิการ

0803531640

*********************

 

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2010-03-08 16:40:36 IP : 124.121.142.168



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.