ReadyPlanet.com


ข้อเสนอต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


ข้อเสนอต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

จาก ASEAN WATCH, THAILAND

 

วันที่ 14 กันยายน 2554  ตัวแทนขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานติดตามและผลักดันประชาคมอาเซียน ในนาม ASEAN WATCH, THAILAND จำนวนประมาณ 30 คน  ได้จัดการสัมมนาเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ในโอกาสที่คณะทำงานยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะมีการประชุมในวันที่ 15-16 กันยายน 2554 นี้ ที่กรุงเทพมหานคร

ข้อเสนอสำคัญต่อต่อปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีดังนี้

หลักการสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

   สาระสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่ระบุในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะต้องมีมาตรฐานที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  มีความครอบคลุมแนวคิดและหลักการสำคัญด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นภายหลังปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  เช่น หลักการสิทธิชุมชน  แนวคิดเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ การพัฒนาที่ยั่งยืน และ การคุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายของเพศสภาพ เป็นต้น ตลอดจนสอดคล้องกับสถานการณ์และสามารถตอบสนองต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของภูมิภาคนี้

   สาระสำคัญของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะต้องเป็นไปเพื่อการสร้างหลักประกัน รวมทั้งแสดงถึงเจตจำนง ความมุ่งมั่น และความรับผิดชอบของบรรดารัฐสมาชิกแห่งประชาคมอาเซียนที่จะสร้างความก้าวหน้า ยุติธรรม  บรรลุอย่างเต็มที่ซึ่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอาเซียน ตามที่ระบุไว้ในปฏิญญาชะอำ-หัวหิน เนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อ 23 ตุลาคม 2552

  ในฐานะที่เป็นเจตจำนงร่วมของประชาคมอาเซียน และเพื่อที่จะบรรลุมาตรฐานสากลในด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกัน จำเป็นที่บรรดารัฐสมาชิกของอาเซียนจำจะต้องลดความสุดโต่งของหลักการบางประการที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในภูมิภาคนี้ เช่น  หลักฉันทมติ ( consensus)  หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน  (non intervention) 

   ในกระบวนการยกร่างและจัดทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผู้ซึ่งเป็นทั้งเป้าหมาย เป็นศูนย์กลาง ผู้ได้รับผลประโยชน์ และภาคีหุ้นส่วนที่สำคัญของประชาคมอาเซียน ตามที่ระบุในความมุ่งประสงค์แห่งกฎบัตรอาเซียน

กรอบและหัวข้อของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนควรจะต้องครอบคลุมรายละเอียดเหล่านี้

   ในส่วนของอารัมภบท ควรจะได้ระบุถึง

- ปัจจัยสำคัญที่ต้องตระหนักและคำนึงถึงในการยกร่างและจัดทำปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น อัตลักษณ์ที่สำคัญของภูมิภาค   อันได้แก่ 1) ความหลากหลายของชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อทางการเมืองของประชาชน  2) การใช้ประโยชน์ร่วมกันของรัฐสมาชิกในทรัพยากรธรรมชาติ แม่น้ำ ทะเล  ผืนป่า ฯลฯ   3) ความยากจนของประชาชนส่วนใหญ่และความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างและช่องว่างทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับภายในของแต่ละประเทศและระหว่างประเทศของบรรดารัฐสมาชิก

-  การวิเคราะห์ สรุปสถานการณ์ ปัญหา และภาวะที่คุกคามต่อสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค อันได้แก่ 1) ทิศทางการพัฒนาที่ทำลายระบบนิเวศน์และส่งผลกระทบต่อชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ และคนยากจน   2) อิทธิพลของทุนนิยม บริโภคนิยม การค้าเสรี และการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน   3) การใช้อำนาจรัฐ และกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ที่คุกคามต่อชีวิตของประชาชนและสันติภาพในภูมิภาค

   ในส่วนของเนื้อหา  ควรจะได้ระบุถึง

-  สิทธิในสันติภาพ  ซึ่งกำลังเป็นภาวะคุกคามที่ร้ายแรงในภูมิภาค และสิทธิในสันติภาพนี้ต้องมีความหมายที่กว้างขวางกว่าการปฏิเสธภาวะสงครามระหว่างรัฐสมาชิก

-  แนวทาง ขั้นตอนในการปฏิบัติการ และ road map ที่จะพัฒนาปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจากการเป็นเจตนารมณ์ทางการเมือง ( political commitment ) ไปสู่การเป็นตราสารและกฎหมายของภูมิภาคในที่สุด

-  บทบาทและความรับผิดชอบของรัฐสมาชิก  และภาคีหุ้นส่วนที่สำคัญในภูมิภาค ทั้งองค์กร เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน  และภาคประชาสังคมอื่น ๆ  

- แนวทางในการติดตาม ประเมินผล และการจัดทำรายงานของรัฐสมาชิกถึงสถานการณ์ การปฏิบัติการ และความมุ่งมั่นที่เป็นไปตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

สิทธิมนุษยชนที่ควรจะได้รับการคุ้มครองและระบุไว้ในเนื้อหาของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

     สิทธิในชีวิต การคุ้มครองชีวิตจากการลงโทษที่โหดร้าย ทารุณ และยกเลิกโทษประหาร

     สิทธิของประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง   ที่จะดำรงความหลากหลายของ

วิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ ภูมิปัญญา ตลอดจนอุดมการณ์ทางการเมือง

                    สิทธิของประชาชนในที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  และการเข้าถึงบริการสาธารณะที่สำคัญ  อันได้แก่  การบริการด้านสุขภาพ การศึกษา 

                   สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองที่จะได้รับสถานบุคคล สัญชาติ และการยอมรับในความเป็นพลเมืองในรัฐที่ตนถือกำเนิด

                    สิทธิของชุมชนที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง   ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่ง แวดล้อม ปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศน์ และมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนา 

                     สิทธิของประชาชนที่จะได้รับการคุ้มครองจากการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน

                   สิทธิของแรงงานที่จะเข้าถึงงานที่มีคุณค่า    ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม        มีความปลอดภัยในการทำงาน  สิทธิในการรวมตัวและต่อรองร่วม   มีหลักประกันทางสังคม     การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกับแรงงานในชาติ  การคุ้มครองแรงงานหญิงและเด็ก

                    สิทธิของเกษตรกรรายย่อย  ประมงพื้นบ้าน  ที่จะได้รับการคุ้มครองจากผลกระทบจากทิศทางการพัฒนาของรัฐ

                สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมือง  ตลอดจนเสรีภาพในการชุมนุมโดยสันติ

                    สิทธิความเสมอภาคทางเพศ    และการคุ้มครองที่บุคคลจะไม่ถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่อง มาจากเพศกำเนิดและเพศสภาพ

                    สิทธิของเยาวชนที่จะได้รับการตระหนัก  เห็นความสำคัญ       และได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมในฐานะที่เป็นอนาคตของสังคม ประเทศ และภูมิภาค

                   สิทธิของผู้สูงอายุที่จะได้รับการดูแลในเรื่องสุขภาพ  หลักประกันในการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี  และได้รับการยกย่อง เคารพ นับถือในฐานะผู้ที่สร้างคุณูปการให้แก่สังคม

                     สิทธิของคนพิการที่จะได้รับการเคารพอัตลักษณ์  มีบริการสาธารณะ การติดต่อสื่อสาร ที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการ

                    สิทธิของผู้ลี้ภัย  ผู้พลัดถิ่น  ในการที่จะได้รับการดูแลในเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ  และการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

                    สิทธิในสันติภาพ  ที่ประชาชนจะได้รับหลักประกันที่จะดำเนินชีวิตอย่างสงบสุข สันติ  มีหลักประกันในความปลอดภัย และปราศจากการคุกคามจากภาวะสงคราม การใช้กำลังอาวุธ และความขัดแย้ง

                โดยที่การคุ้มครองสิทธิเหล่านี้จะละเมิดมิได้ และไม่มียินยอมให้มีการอ้างเหตุใด ๆ เพื่อให้เกิดการยกเว้นในการคุ้มครอง

ASEAN WATCH, THAILAND  หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอชุดนี้จะเป็นประโยชน์ในการยกร่างปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  และขอยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมในการจัดทำ และการปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

 

---------------------------------------

                              พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

WWW.waddeeja.com

Tel. 02-990-0331

E-mail : apdmajor1@yahoo.com

E-mail : sirimajor@gmail.com

24-09-54               

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2011-09-24 01:15:49 IP : 125.25.63.228


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3264011)

สิทธิคนพิการ ในกฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันแม้จะมีการออกกฎหมายมาคุ้มครองคนพิการแล้วก็ตาม ก็ยังมีเอกชนบางราย หรือ แม้กระทั่งหน่วยงานราชการ ที่มักจะกีดกันสิทธิของคนพิการอยู่เสมอ เช่น กำหนเดให้คนพิกรห้ามประกอบอาชีพต่างๆ เป็นต้น ปัญหาแบบนี้ มีทางแก้ทางเดียวเท่านั้น คือการปลูกฝังจิตสำนึก ความเท่าเทียมกันให้กับเยาวชนไทย เพื่อที่เยาวชนไทยรุ่นใหม่ จะได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ได้ต่อไป เพระปัจจุบันนี้ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองล้วนแต่หัวโบราณ ยากแก่การแก้ไขใดๆเสียแล้ว

คนพิการในเมืองไทยมักถูกมองว่าเป็นคนที่มีบาปกำเนิด และเกิดมาเพื้อชดใช้กรรมในชาติที่แล้วให้หมดๆไป คนไทยจึงมักจะกีดกันคนพิการ ไม่ให้มีส่วนร่วมทางสังคม จำกัดสิทธิต่างๆ ที่คนพิการควรจะมีเท่าเทียมกับคนปกติ เพราะคนพิการ ก็ถือเป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก ประเทศไทยจึงได้ออก อนุสัญญาว่าด้วยคนพิการออกมา โดยจะขออ้างอิงบทความของคุณ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ จากสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล ความว่า

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการว่า ถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรก ที่ให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป และเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติฉบับแรกของศตวรรษที่ ๒๑ ดังนั้นกฎหมายที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนพิการเช่นอนุสัญญาฉบับนี้ น่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงทุกขั้วทางการเมือง

 ความยากลำบากอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิตของคนพิการ ไม่ใช่เกิดจากความบกพร่องของสภาพทางกาย จิตใจ พฤติกรรม หรือสติปัญญาซึ่งเป็นเพียงเหตุให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งเท่านั้น การที่ คนพิการต้องตกอยู่ในฐานะคนจนที่จนที่สุด ( กล่าวโดยอดีตประธานธนาคารโลก)

 เนื่องด้วย ความพิการซึ่งเกิดจากความบกพร่องในลักษณะต่างๆของบุคคล กับ อุปสรรคภายนอกซึ่งเป็นโทษกรรมที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นทั้งสิ้น

ด้วยแรงผลักดันของเครือข่ายคนพิการ ประเทศไทยจึงได้ร่วมเป็นแกนนำในการยกร่าง เจรจา ลงนามรับรอง รวมทั้งได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ(Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD)” ไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๑

 โดยที่ปรกตินักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนกระแสหลักมักจะมองเรื่องคนพิการและความพิการเป็นได้แค่ประเด็นเรื่อง สังคมสงเคราะห์เท่านั้นแต่อนุสัญญาฯ ได้ท้าทายและอาจถึงขั้นทำลายความคิดเช่นว่านั้นอย่างสิ้นเชิง จึงทำให้อนุสัญญาฯ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายด้านคนพิการในประเทศไทย ซึ่งได้บรรจุสาระสำคัญไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกกว่า ๒๐ ฉบับ อันเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับคนพิการไว้ในกฎหมายไทย

อนุสัญญาฯ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อคนพิการ ๖๕๐ ล้านคนทั่วโลกเพราะเหตุว่ากติกาหรือกฎหมายระหว่างประเทศก่อนหน้านี้ขาดความชัดเจนและไม่ครอบคลุมถึงมิติที่คนพิการสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้ โดยที่สาระหลักของ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการซึ่งเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิของคนพิการ โดยเน้นที่การขจัดอุปสรรคจากภายนอกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ และการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหลักการ ๒ ประการ ได้แก่

 

๑. การพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นการกำหนดมาตรการที่มุ่งพัฒนาบริการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

 

๒. การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการ ซึ่งรวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการสร้างหลักประกันความเสมอภาคในทุกมิติ (Non-Discrimination and Equality) นอกจากนี้ CRPD ยังมีคุณลักษณะเฉพาะ ที่ทำให้อนุสัญญาฉบับนี้มีความโดดเด่นและชี้ให้เห็นจุดที่อนุสัญญาฉบับอื่นขาดไป ซึ่งได้แก่ หลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ(Accessibility)

 

นอกจากนี้ อนุสัญญายังมีคุณลักษณะเฉพาะ ที่ทำให้มีความโดดเด่นและชี้ให้เห็นจุดที่อนุสัญญาฉบับอื่นขาดไป ซึ่งได้แก่ หลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ(Accessibility) ประกอบด้วย

 

๑. การปรับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ ฯลฯ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม (Universal Design) ต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบและก่อสร้างส้วมให้คนทุกกลุ่มรวมถึงคนพิการที่ใช้เก้าอี้เข็นสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป การออกแบบบริการข้อมูลผ่าน Website หรือสื่ออีเล็กทรอนิกส์อื่นใดให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคน รวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น

 

๒. การจัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก(Assistive Technology) สำหรับคนพิการแต่ละประเภท เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น

 

๓. การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมหรือสมเหตุผล(Reasonable Accommodation) เพื่อลดการเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภท เช่น การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก การให้มีผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนพิการที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อันไม่อาจตอบสนองได้โดยวิธีการทั่วไป รวมถึงความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

 

ดังนั้น คณะอนุกรรมาธิการด้านคนพิการ ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และเครือข่ายคนพิการ จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้บริหารราชการแผ่นดิน โดยเร่งดำเนินการตามเจตนารมณ์ของ  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการอย่างเร่งด่วน จริงจัง ต่อเนื่อง ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ เพื่อปลดเปลื้องความยากจน ความด้อยโอกาส และความเสียเปรียบในการดำรงชีวิตของคนพิการ พร้อมทั้งขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการในทุกกรณี

( ๑ ตค. ๒๕๕๑ )

+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-+-

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสาก (ส.พ.ค.)

 

คัดลอก มาจากกูลเกิล.

 

26-09-11 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2011-09-26 21:17:06 IP : 101.109.239.58



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.