ReadyPlanet.com


เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล....ไม่ทำงาน.


เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล อภิสิทธิ์ ทำอะไรบ้างหลังศาลตัดสินแล้ว.

26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครบรอบ 1 ปี ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาในคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติ เอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเอง ศาลฎีกาฯ จึงให้ทรัพย์สินอันเป็นเงินจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นฯ และเงินปันผลมูลค่า 46,373 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน

ตามระบอบการปกครองที่ประเทศไทยยึดถืออยู่นั้น ถือหลักแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

เมื่ออำนาจตุลาการมีคำพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยอาศัยตัวบทกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออกมาใช้บังคับในบ้านเมืองแล้ว ฝ่ายบริหารก็มีภาระหน้าที่จะต้องติดตามและปฏิบัติตาม เพื่อให้บังเกิดผลตามคำพิพากษาของศาล และไม่อาจละเว้นที่จะต้องนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาไปติดตามบริหารราชการแผ่นดินเพื่อทวงคืนและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของรัฐ ขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีฝ่ายค้านเป็นหลักก็ต้องติดตาม ตรวจสอบ กดดันให้ฝ่ายบริหาร(รัฐบาล)ปฏิบัติหน้าที่

แต่ 1 ปี ผ่านไป เหตุใดยังไม่บังเกิดผลในการทวงคืนผลประโยชน์ที่รัฐเคยสูญเสียไปจากการเอื้อประโยชน์ของทักษิณ เพื่อทักษิณ ในยุคทักษิณ? ใครต้องทำอะไร แล้วไม่ทำอะไร?

1. การเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินฯ และหุ้นทักษิณ ทำให้รัฐเสียหาย

แก่นเรื่องของคดียึดทรัพย์ คือ การเอาผิดกับนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจสัมปทานของตนเอง ทำให้ภาครัฐได้รับความเสียหาย ได้ผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

คำพิพากษาได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นเอื้อประโยชน์แก่หุ้นชินฯ ของทักษิณเอง หลายกรณี เช่น

กรณีแก้ไขสัญญาสัมปทานมือถือ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ลดค่าส่วนแบ่งรายได้บริการโทรศัพท์มือถือแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า(prepaid) หรือบัตรเติมเงิน ที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่รัฐ

กล่าวคือ สัญญาเดิมตกลงไว้ว่า ช่วงปี 2543-2548 เอไอเอสต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท. 25%, ช่วงปี 2548-2553 จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 30% และช่วงปี 2553-2558 จะต้องจ่ายเพิ่มเป็น 35%

จะเห็นว่า หากทำกันตามสัญญาเดิม ยิ่งนานปี หน่วยงานของรัฐ (ทศท.) ก็จะยิ่งได้รับเงินค่าส่วนแบ่งรายได้จากเอไอเอสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งนานไป นอกจากฐานลูกค้าจะมากขึ้นแล้ว รายรับก็เพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่ออัตราส่วนแบ่งรายได้สูงขึ้น ยิ่งทำให้เอไอเอสจะต้องจ่ายให้ ทศท.เพิ่มมากขึ้นด้วย

แต่การแก้สัญญาสัมปทานดังกล่าวในยุครัฐบาลทักษิณ กลับเอื้อประโยชน์ให้เอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ระบบบัตรเติมเงิน เพียง 20% คงที่ตลอดอายุสัญญา โดยไม่ต้องเพิ่มขึ้นตามสัญญาเดิม จึงทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์ตลอดอายุสัญญาสัมปทานมหาศาล นักวิชาการประเมินว่ามีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท!

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้นำต้นทุนค่าใช้เครือข่ายร่วมหักออกจากรายได้ก่อนคำนวนส่วนแบ่งค่าสัมปทานเพื่อส่งหน่วยงานรัฐ ทำให้เอไอเอสได้รับผลประโยชน์มูลค่ากว่า 18,970 ล้านบาท

กรณีการออกมติคณะรัฐมนตรีบังคับให้หน่วยงานของรัฐคู่สัญญา (ทศท. และ กสท.) ต้องจ่ายค่าภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมแทนบริษัทเอกชน โดยหักจากค่าส่วนแบ่งรายได้ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

กรณีให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุนแก่รัฐบาลทหารพม่า 4,000 ล้านบาท เพื่อนำมาซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคมจากบริษัทในเครือชินคอร์ปฯ เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินฯ เกิดความเสียหายจนต้องตั้งงบประมาณแผ่นดินของประชาชนมาชดเชย

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการเอื้อประโยชน์ในกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ว่าดำเนินโครงการมาโดยไม่ถูกต้อง

อาศัยอำนาจการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์แก่เอกชนผู้ดำเนินโครงการโดยมิชอบ

กล่าวคือ เมื่อทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ กำกับควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเหนือกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้มีการแก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิค ก่อนทำการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ใช้ชื่อว่า "ดาวเทียมไอพีสตาร์" ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศ เป็นการเอื้อให้บริษัทชินฯ ได้ผลประโยชน์

หนึ่ง ไม่ดำเนินการจัดส่งดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ตามสัญญาเดิม ซึ่งเป็นดาวเทียมเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท

สอง ได้สัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันตามกฎหมาย ทั้งๆ ที่ น่าจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันตามกฎหมาย เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม ทั้งในด้านการบริหารงาน และอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ มูลค่าโครงการกว่า 16,000 ล้านบาท

สาม แถมด้วยการอนุมัติให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ไม่เก็บภาษีรายได้และเครื่องจักร เต็มมูลค่าโครงการ กว่า 16,000 ล้านบาท

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการไต่สวนพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯ พบพฤติกรรมการกระทำความผิดอุกอาจ ทั้งใช้วิธีกระทำการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการ ในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่ง ผิดปกติวิสัย เช่น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงกับอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองไปก่อน แล้วจึงมีการจัดทำหนังสือเวียนให้คณะกรรมการรับรองรายงานการประชุมภายหลัง เป็นต้น

การเอื้อประโยชน์ทั้งหลายข้างต้นนั้น ทำให้ผลประโยชน์อันมิควรได้ไปตกแก่หุ้นชินฯ ที่ทักษิณถือครองอยู่ และยังผลให้บริษัทชินฯ กับผู้ถือหุ้นชินฯ รายอื่นๆ ได้ลาภอันมิควรได้ไปด้วย

2. ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์เพียง 46,000 ล้านบาทนั้น ก็เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจหน้าที่ของทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีจนร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน

แต่ยังไม่ใช่ "ค่าเสียหาย" ที่เกิดแก่รัฐ จากการกระทำการเอื้อประโยชน์เหล่านั้น

ซึ่งในการเอื้อประโยชน์แก่ตัวทักษิณเองนั้น จะเห้นว่าได้ทำให้หน่วยงานของรัฐและผลประโยชน์ของแผ่นดินเสียหายไปมหาศาล มากกว่าผลประโยชน์ที่ตัวทักษิณได้ไปเองเสียอีก

เฉพาะกรณีเอื้อประโยชน์ทั้งหลายที่กล่าวถึงข้างต้น รวมความเสียหาย ก็เกินกว่า 100,000 ล้านบาท ยิ่งกว่านั้น ยังเป็นการทำให้ ทศท. และ กสท. กลายเป็นองค์กรที่แคระแกร็น เลี้ยงไม่โต ไม่สามารถแข่งขันกับเอกชนได้

blockquote{ border:1px solid #d3d3d3; padding: 5px; }

แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.