ReadyPlanet.com


คนพิการ ปี 2555


 อย่าลืม"คนพิการ" ในสถานการณ์ภัยพิบัติ (สกู๊ปแนวหน้า)

"ต้องมีศูนย์เฉพาะทางที่มีการจัดการองค์ความรู้อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือ การเดินทาง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนที่คนพิการโดยระบุรายละเอียดลงไปให้ชัดเจนว่าคนพิการในแต่ละพื้นที่นั้นมีกี่คนและมีเป็นคนพิการประเภทไหนอย่างไรบ้าง รวมถึงจะต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดและลงลึกด้วยว่า การดูแลคนพิการในแต่ละประเภทเป็นอย่างไร" 

 
สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยได้ก่อให้เกิดความทุกข์ยากแสนสาหัสต่อประชาชนในหลายจังหวัด ซึ่งในส่วนของคนปกติก็ลำบากหนักหนาอยู่แล้ว และยิ่งเป็นคนพิการก็ยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว ซึ่งปัญหาความเดือดร้อนของผู้พิการเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกละเลย นายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิดเผยว่า คนพิการจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ จึงทำให้พลาดการช่วยเหลือในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการรับบริจาคสิ่งของ หรือการเข้ามาให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

 
และนอกจากปัญหาของคนพิการแล้ว ผู้สูงอายุก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา โดยเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อการทำให้สังคมมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยไม่ตกหล่น คนพิการหรือคนสูงอายุ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อดูแลประชากรกลุ่มนี้ 

 
ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ยังได้ฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการในการวางระบบเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไปว่า จะต้องมีการจัดทำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เพื่อจะได้ช่วยคนพิการได้ทันท่วงที โดยขอฝากไว้ 5 ประการ ได้แก่ 

 1.
การทำแผนที่ โดยต้องทำข้อมูลว่าคนพิการประเภทไหน อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง 

 2.
ต้องวางระบบด้านการสื่อสารสำหรับคนพิการ ให้สามารถสื่อสารกับหน่วยงานที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ 

 3.
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาชี้แจงและบอกข้อมูลทุกของสิทธิทุกอย่างที่คนพิการจะต้องได้รับรู้ อาทิค่าชดเชยเรื่องการซ่อมแซมบ้าน 5,000-20,000 บาท ว่าจะรับได้ที่ไหนจะต้องดำเนินการอย่างไร และบ้านอย่างไหนที่จะได้รับค่าชดเชย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน 

 4.
ต้องมีการจัดตั้งศูนย์ติดตามผลว่า คนพิการที่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความช่วยเหลือตามที่ร้องขอหรือไม่ 

 5.
ศูนย์พักพิงที่ให้บริการ ต้องให้บริการคนพิการในทำนองเดียวกันกับหน่วยที่ให้บริการคนพิการโดยเฉพาะ โดยต้องเน้นความเท่าเทียมกันไม่ว่าคนพิการจะได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานใดก็ตาม 

 "
ความช่วยเหลือที่คนพิการต้องการเป็นอันดับแรกในตอนนี้คือ เรื่องอาชีพ เพราะถ้าไม่มีงาน ไม่มีเงิน ก็จะเป็นภาระต่อครอบครัว และสังคม คนพิการก็มีความรู้ความสามารถ อยากให้สังคมให้ความสำคัญ และช่วยกันทุ่มเท พัฒนา เพื่อเปลี่ยนจากภาระให้เป็นพลัง"ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าว 

 
ด้าน พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) กล่าวว่า สิ่งจำเป็นประการหนึ่งคือ จะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ชัดเจน เป็นผู้รับผิดชอบด้านการทำข้อมูลและเป็นศูนย์กลางในการเป็นเครือข่ายที่ให้การช่วยเหลือเพื่อกระจายความช่วยเหลือให้ลงไปสู่คนพิการอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ในกรณีที่สังคมกำลังช่วยกันในการถอดบทเรียนเพื่อทำวางแผนในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในครั้งต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือครอบครัวของคนพิการ และคนพิการเองจะต้องเตรียมตัวในการจัดการตนเองภายในบ้าน และจะต้องรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันในกลุ่ม 

 "
ที่สำคัญจะต้องมีศูนย์เฉพาะทางที่มีการจัดการองค์ความรู้อย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือ การเดินทาง ซึ่งจะต้องมีการจัดทำแผนที่คนพิการโดยระบุรายละเอียดลงไปให้ชัดเจนว่าคนพิการในแต่ละพื้นที่นั้นมีกี่คนและมีเป็นคนพิการประเภทไหนอย่างไรบ้าง รวมถึงจะต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดและลงลึกด้วยว่า การดูแลคนพิการในแต่ละประเภทเป็นอย่างไร อาทิ คนพิการบางรายที่เป็นอัมพาตและต้องใช้สายสวนปัสสาวะ ข้อมูลตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องดำเนินการให้เป็นระบบเพื่อให้ง่ายสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อการเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือคนพิการในครั้งต่อไปด้วย" ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ 

 
ขณะที่ นายสุเมธ พลคะชา ผู้ประสานงานโครงการศูนย์ช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวผู้ประสบภัยจากเหตุน้ำท่วม มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ กล่าวถึงการเตรียมการจัดตั้งศูนย์พักพิงให้กับผู้อพยพ ในสถานการณ์ภัยพิบัติว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะมีการพิจารณาถึงการจัดตั้งสถานที่และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับคนพิการในทุกประเภทด้วย ซึ่งรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาข้อมูลให้ชัดเจนว่า คนพิการในแต่ละประเภทจะต้องใช้สิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง อาทิ คนพิการที่ต้องใช้เตียง หรือต้องมีทางลาดทางชันให้กับคนพิการที่ต้องใช้วีลแชร์ จัดสถานที่ให้คนที่เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตอยู่ใกล้ห้องน้ำ เขียนป้ายบอกถึงการใช้สถานที่ต่างๆให้ชัดเจนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน หรือจัดสถานที่ให้คนที่มีอากาทางจิตอยู่กับครอบครัวในห้องที่เป็นสัดส่วนเฉพาะ 

 
นายสุเมธ กล่าวต่อไปว่า สิ่งแรกที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงความช่วยเหลือได้ก็คือ "ครอบครัว" ซึ่งครอบครัวของคนพิการจะต้องรู้และเข้าใจถึงความพิการของคนในครอบครัวเ และเตรียมการจัดทำข้อมูลไว้อย่างละเอียดเพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือต่อไปได้ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการวางแผนดูแล และต้องสร้างความตระหนักว่า คนพิการเป็นกลุ่มหนึ่งของสังคม ควรได้รับความช่วยเหลือให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี 

 
ส่วน นายยงยุทธ บริสุทธิ์ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในส่วนของคนที่บก พร่องทางการได้ยินนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการจัดเตรียมล่ามภาษามือเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารกับคนที่บกพร่องทางการได้ยิน และควรจะมีล่ามภาษามือลงไปกับทีมช่วยเหลือเพื่อที่จะได้ทราบความต้องการของคนที่บกพร่องทางการได้ยินได้อย่างชัดเจน การจัดระบบล่ามอาสาสมัครที่ช่วยเหลือคนพิการในยามภัยพิบัติถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งเพราะในประเทศนิวซีแลนด์และประเทศญี่ปุ่นเมื่อเกิดกรณีภัยพิบัติขึ้นมาจะมีล่ามภาษามือออกมายืนแปลพร้อมกับการให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องการทำแบบนี้จะทำให้คนที่บกพร่องทางการได้ยินเข้าถึงข้อมูลในการช่วยเหลือและวางแผนในการเตรียมตัวรับกับภัยพิบัติได้ 

 "
ที่ผ่านมาการเข้ามาช่วยเหลือคนพิการ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีปัญหาอย่างมากเพราะคนที่บก พร่องทางการได้ยินไม่สามารถรับทราบข้อมูลได้ สื่อมวลชนเกือบทุกที่ก็ไม่มีล่ามภาษามือที่จะคอยบอกข้อ มูลให้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดตั้งล่ามอาสาสมัครไว้ให้บริการกับคนบกพร่องทางการได้ยิน และล่ามอาสาสมัครเหล่านี้จะต้องประสานงานกับหน่วยงานในท้องถิ่นอาทิ อบจ. , อสม. เพื่อเข้าให้ถึงข้อมูลของการช่วยเหลือคนพิการทุกประเภท"นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าว 

 
ทั้งนี้ แม้ว่า บางอย่างจากข้อมูลข้างต้น จะยังคงเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ที่รอการนำไปสานต่อให้เป็นรูปธรรม แต่ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ความเดือดร้อนของบรรดาผู้พิการไม่ได้ถูกมองข้ามไป ยังคงมีความพยายามของหน่วยงานต่างๆ ที่พร้อมผลักดัน และให้ช่วยเหลือพวกเขาอยู่เสมอ 

มนเทียร พานทอง 
SCOOP@NAEWNA.COM

พันตรีศิริชัย  ทรัพย์ศิริ

สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

WWW.waddeeja.com



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2012-01-06 19:45:46 IP : 125.26.19.4


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.