ReadyPlanet.com


ระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สมัย ร.6


วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เวลา 21:48:34 น.  มติชนออนไลน์


เปิด พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ "ถวายฎีกา" สมัย ร.6 ยังมีผลบังคับใช้ถึงปัจจุบัน

หมายเหตุ : พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2457 และยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีสาระสำคัญคือ การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องมิใช่การโต้แย้งคำพิพากษาของศาลฎีกา ในขณะที่กลุ่มเสื้อแดงเตรียมจะยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ยอมรับความผิด หรือกลับมารับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้จำคุก 2 ปีเสียก่อน

*********************


พระราชกฤษฎีกา
วางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา


มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา วชิรวุธพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ด้วยได้ทรงสังเกตเห็นมาว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องทุกข์ หรือขอพระราชทานพระมหากรุณาบารมีในกิจต่างๆ ตามที่กระทำกันอยู่ในเวลาที่แล้วมายังหาเปนระเบียบเรียบร้อยดีไม่ เพราะความไม่เข้าใจระเบียบแบบแผนอันควรที่จะประพฤตินั้นและเปนเหตุ


การที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าแผ่นดินทุกชั้นได้มีโอกาศทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงให้นั้น ก็เหมือนทรงประกาศพระราชประสงค์ให้ปรากฏชัดเจนว่า พระองค์ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งกุลบิตรของชาวไทย มีพระราชหฤทัยปราถนาที่จะระงับทุกข์ผดุงศุขแห่งประชาชนอยู่เปนนิจ และจะได้มีพระราชประสงค์ที่จะลดหย่อนพระมหากรุณาคุณข้อนี้ก็หามิได้ แต่เปนการสมควรอยู่เหมือนที่ข้าแผ่นดินจะเข้าใจว่า พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจต่างๆ ซึ่งต้องทรงปฏิบัติ หรือทรงพระราชดำริห์และทรงแนะนำผู้ที่รับราชการในตำแหน่งน่าที่ต่างๆ อยู่เปนเนืองนิจ จะได้ประทับ อ.ว่างเปล่าก็หามิได้ และถ้าแม้จะต้องทรงเปนพระราชธุระโดยพระองค์เองในการวินิจฉัยฎีกาทุกฉบับที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็จะหาเวลาทรงพระราชดำริห์ในราชกิจพแนกอื่นๆ ไม่ได้เลย จึงมีความจำเปนที่ต้องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรรมการศาลฎีกาไว้เปนผู้พิจารณาอรรถคดีเปนศาลอุทธรณชั้นสูงสุด เพื่อแบ่งพระราชภาระส่วน 1


ถึงกระนั้นก็ดี การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตรงจะได้ทรงห้ามปรามหรือตัดรอนเสียทีเดียวนั้นก็หามิได้ ยังทรงพระกรุณารับฎีกาของข้าแผ่นดินอยู่เหมือนกัน ทั้งนี้ นับว่าเปนพระมหากรุณาอันควรที่จะรู้สึกอยู่ทั่วหน้ากัน แต่บางคนก็ยังเข้าใจผิดคิดเห็นไปว่า การที่ยังทรงรับฎีกาอยู่นั้น แปลว่าทรงรับอุทธรณจากศาลฎีกาอีกชั้น 1 จึงได้มีผู้ถวายฎีกาคัดค้านหรือโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่เนืองๆ ทำให้เปลืองเวลาเปนอันมากส่วน 1 กับอิกประการ 1 มีบุคคลบางคนซึ่งไม่รู้จักกาละเทศะ เที่ยวตักถวายฎีกาในเวลาและที่อันไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวงนั้นอยู่เนืองๆ


เหตุฉนี้วิ่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชกฤษฎีกา กำหนดระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาไว้ดังต่อไปนี้


ข้อ 1 บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตรง และที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณอย่างใดอย่าง 1 ดังต่อไปนี้คือ


1.ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใดๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไป ได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้นๆ)
2.ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจส่วนตัว เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง
3.กล่าวโทษเจ้าน่าที่ ผู้ใช้อำนาจนอกเหนือที่สมควรแก่น่าที่ราชการซึ่งตนปฏิบัติอยู่ หรือใช้อำนาจนั้นโดยอาการอันรุนแรงเกินเหตุ จนทำให้ข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน
4.กล่าวโทษเจ้าน่าที่ ผู้ประพฤติทุจริตในน่าที่ มีการใช้อำนาจทางราชการเพื่อกดขี่ข่มเหง หรือฉ้อราษฎร์บังหลวงเปนต้น


ข้อ 2 บรรดาที่ฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องมีนามและตำแหน่งและสถานที่อยู่ของผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น ปรากฏอยู่ในฎีกา เพื่อเจ้าน่าที่จะได้พบตัวผู้ถวายฎีกาได้โดยง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเนิ่นเกินกว่าที่จำเป็น (บัตรสนเท่ห์ไม่ทรงรับพิจารณาเปนอันขาด)


ข้อ 3 ถ้าแม้ว่าฎีกานั้นจะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตนเอง ให้ปฏิบัติเปนระเบียบดังต่อไปนี้


1.ถ้าเปนข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ให้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาได้ในวันที่เสด็จออกขุนนาง และให้พูดจาตกลงกับเจ้าพนักงานกระทรวงวังว่าจะให้คอยเฝ้าในแห่งใด จึงจะเปนที่เหมาะที่สุดสำหรับก็จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระหัตถ์ได้ หรือถ้าเปนการด่วนแต่ไม่มีโอกาศเหมาะที่จะทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ จะนำฎีกานั้นไปส่ง ณ ที่ทำการราชเลขานุการเองทีเดียวก็ได้


2.ถ้ามิใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ก็ให้ไปคอยทูลเกล้าฯ ถวายที่น่าพระลานสวนดุสิต ถ้าประทับอยู่สวนดุสิตหรือที่ถนนน่าพระลานริมประตูวิเศษไชยศรี ถ้าประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีนายตำรวจไปยืนคอยอยู่เพื่อรับฎีกาในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินผ่านไป หรือถ้าเปนการด่วนจะรอมิได้ ก็ให้นำฎีกาไปส่งยังทีมดาบกรมพระตำรวจทีเดียวก็ได้


3.ถ้าเปนเวลาเสด็จเลียบมณฑลหัวเมือง หรือประทับอยู่ในพระราชสำนักในหัวเมือง ผู้ที่เปนข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยตนเอง ก็ให้พูดจานัดหมายกับเจ้าพนักงานกระทรวงวังเพื่อนำเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทในโอากสอันเหมาะ หรือถ้าใช่ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร์ ก็ให้ถามที่กรมพระตำรวจเพื่อนัดหมายไปรับฎีกาต่อน่าพระที่นั่ง หรือจะส่งกรมพระตำรวจทีเดียวก็ได้


ข้อ 4 ถ้าผู้ใดมีความปราถนาที่จะส่งฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายโดยทางไปรสนีย์ ให้สอดฎีกาในซองสลักหลังว่า "ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวาย" ซองนั้นต้องเปิดผนึกไว้ แต่ให้สอดลงในซองอีกชั้น 1 สลักหลังซองถึงราชเลชานุการ ซองชั้นนอกนี้ให้ปิดผนึกและปิดตัวตราไปรสนีย์ตามระเบียบการส่งหนังสือทางไปรสนีย์


ข้อ 5 ถ้าผู้ใดจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยวิธีอันผิดระเบียบซึ่งกล่าวมาแล้วในข้อ 3 นั้น ถ้าเปนที่ภายในเขตรพระราชฐานให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกระทรวงวัง และกรมพระตำรวจว่ากล่าวตักเตือนให้ประพฤติให้ถูกระเบียบ และถ้าจำเปนก็ให้ห้ามปราบเสีย อย่าให้เปนที่ขุ่นเคืองหรือรำคาญใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้


ถ้าเปนที่ภายนอกพระราชฐาน ให้เปนน่าที่เจ้าพนักงานกองอารักษา คือกรมกองตระเวน (ในกรุง) และกรมตำรวจภูธร (ในหัวเมือง) ว่ากล่าวแลห้ามปรามดังกล่าวมาแล้ว


อนึ่ง ถ้าพะเอินเปนเวลาเจ้าน่าที่ มิทันที่จะว่ากล่าวห้ามปราม ผู้ถวายฎีกาได้เข้าไปยื่นฎีกาเสียแล้วฉนี้ไซร้ ห้ามมิให้ผู้ใดรับฎีกาที่ถวายผิดระเบียบเช่นนั้น ต้องให้ถวายใหม่ให้ถูกต้องถามระเบียบจึงค่อยรับ


ให้เปนน่าที่เจ้ากระทรวงผู้ปกครองท้องที่ออกคำชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจข้อความในพระราชกฤษฎีกานี้จงทุกประการ และให้เจ้าน่าที่ต่างๆ ซึ่งได้กล่าวนามมาแล้วข้างต้นนี้ ปฏิบัติกิจการตามน่าที่ของตนโดยเข้มงวดกวดขันสืบไป
พระราชกฤษฎีกาพระราชทานมา ณ วันที่ 5 มกราคม พระพุทธศักราช 2457 เปนวันที่ 1517 ในรัชกาลปักยุบันนี้

 

 

---------------------------------                                      

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0608520727           

 



ผู้ตั้งกระทู้ พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com) :: วันที่ลงประกาศ 2009-08-06 07:27:51 IP : 124.121.138.152


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (3037904)

วันที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11471 มติชนรายวัน


การใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาตามกฎหมายและประเพณี (1)

โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต

ความนำ

การโฆษณาชักชวนประชาชนให้ร่วมกันเข้าชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดง โดยมีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้านนั้น มีสื่อมวลชนโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์ และเชิญผู้เขียนบทความนี้ไปออกรายการโทรทัศน์ วิทยุหลายรายการ แต่ผู้เขียนตอบปฏิเสธ เพราะเห็นว่ายังไม่ถึงกาละอันสมควร

บัดนี้ อดีตทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้สนับสนุนฎีกาดังกล่าว อ้างความเห็นผู้เขียน ซึ่งเขียนไว้ในสารานุกรมไทยฉบับกาญจนาภิเษก เรื่อง "พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ" (หน้า 260-265) ซึ่งว่าด้วยพระราชอำนาจตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน โดยผู้อ้างหยิบข้อความเพียงบางตอน (ดูหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม 2552 หน้า 14,หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันเดียวกัน หน้า 13) ที่ตนเห็นว่าจะให้ประโยชน์แก่ตนมาอ้าง ไม่ได้อ้างข้อความทั้งหมด ซึ่งถ้าอ่านทั้งหมดแล้ว ก็จะเข้าใจว่าฎีกาที่กำลัง "ล่ารายชื่อ" นี้ ถูกหรือผิดกฎหมาย ดังนั้น ถึงกาละอันควรที่ผู้เขียนจะได้อธิบายหลักกฎหมาย นิติประเพณี และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของประชาชนเสียที โดยมุ่งหวังให้เป็นบทความวิชาการที่แสดง "สัจจะ" ของหลักวิชา

สิทธิของประชาชนในการทูลเกล้าฯถวายฎีกาตามนิติราชประเพณี

เมื่อพูดถึง "สิทธิ" (right) ตามหลักนิติศาสตร์ถือว่าคือ "ผลประโยชน์ (interest) ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง" จุดสำคัญก็คือ จะเป็น "สิทธิ" ได้ ต้องมีกฎหมายรับรองและคุ้มครองกฎหมายนั้น จะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีหรือกฎหมายลายลักษณ์อักษรก็ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายรับรองก็ไม่เรียกว่าสิทธิ และสิทธิจะต้องก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอื่น เช่น ราษฎรมีสิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา รัฐบาลและราชเลขาธิการก็ต้องมีหน้าที่นำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ถ้าไม่ใช่สิทธิ ก็ไม่มีใครมีหน้าที่ต้องทำให้สมดังสิทธิ

หลักการของการ "มี" สิทธิ และ "ใช้" สิทธิที่สำคัญอีก 3 ประการ ก็คือ

1.
การใช้สิทธิต้องเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายวางไว้ เช่น ใครใช้สิทธิ ได้ใช้สิทธิเมื่อใดจึงจะอยู่ในเวลากำหนด ไม่ขาดอายุความ ฯลฯ

2.
การใช้สิทธิต้องใช้โดยสุจริต การใช้สิทธิโดยมุ่งแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น กฎหมายถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นสิ่งผิดกฎหมาย (มาตรา 421 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

3.
หากมีผู้มาขัดขวาง หรือทำให้ผู้มีสิทธิเสียหาย ต้องสามารถฟ้องร้องต่อศาลที่อิสระ เพื่อให้คุ้มครองและเยียวยาให้ความเสียหายยุติลง

ดังนั้น การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ในเรื่องใดๆ จะเป็น "สิทธิ" ของประชาชนหรือไม่ ก็ต้องยึดหลักข้างต้นนี้เช่นกัน



สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของประชาชนก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สิทธิราษฎรที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เป็นสิ่งที่ควบคู่กับการปกครองของไทยนับตั้งแต่สมัยที่สุโขทัยเป็นราชอาณาจักร มีการปกครองที่เรียกว่า "พ่อปกครองลูก" สมัยนั้นประชาชนมีสิทธิที่จะเข้าถึงองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงปกครองแผ่นดิน เพื่อร้องทุกข์และขอความเป็นธรรม โดยมีสิทธิที่จะไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้หน้าพระราชวังได้ และเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงได้ยินก็จะเสด็จออกมาตรัสถามถึงความเดือดร้อนนั้นโดยตรง ดังความในศิลาจารึกว่า "...ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้นไพร่ฟ้าหน้าปกกลางเมืองมันจักกล่าวถึงเจ้าขุนบ่ไร้ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมือง ได้ยินเรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้ายซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม..." สิทธิในการร้องทุกข์และขอความเป็นธรรมนี้เป็นที่มาขอประเพณีถวายฎีการ้องทุกข์ และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษในสมัยต่อมา

ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ก็โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ประเพณีตีกลองร้องฎีกา คือราษฎรที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สามารถไปตีกลอง "วินิจฉัยเภรี" เพื่อถวายเรื่องต่อพระองค์ หรือผู้ที่ได้ทรงมอบหมายได้ โดยถ้าฎีกาเป็นความจริงก็พระราชทานเงินให้ 1 สลึงก่อน ถ้าชำระความเสร็จก็พระราชทานให้อีก 1 สลึง ทรงเอาพระทัยใส่ฎีกา จนแม้ใกล้เสด็จสวรรคตก็รับสั่งให้พระเจ้าแผ่นดินรัชกาลต่อไปถือเป็นพระราชธุระสำคัญ นอกจากนั้นทรงออกประกาศกำหนดรูปแบบและวิธีการถวายฎีกาหลายประการเป็นรากฐานสำคัญมาในปัจจุบัน อาทิ ประกาศฉบับที่ 24 เรื่องถวายฎีกา ซึ่งทรงกำชับให้ข้าราชการอำนวยความสะดวกให้ราษฎร รวมทั้งวางระเบียบการถวายฎีกา เรื่องต่างๆ และทรงเอาผิดต่อผู้ร้องฎีกาเท็จ ประกาศฉบับที่ 41, 43, 81, 128, 153 และอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับที่ 153 มีความว่า "...ผู้ใดจะทำเรื่องถวายฎีกาว่าด้วยเหตุใดก็ดี ก็ให้ลงชื่อเป็นลายมือของตัว..." หรือฉบับที่ 128 มีความตอนหนึ่งว่า "... แลอย่าว่าคำหยาบช้าต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ตามโทโสแลถ้าฟ้องว่าด่าคำด่าอย่างไรอย่าให้เขียนลง..." หากเขียนลงไป "...ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสีย ไม่ให้ชำระ เพราะหาต้องการจะฟังไม่เปนอันยกความ..." (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยาวิชิตชลธี จากหนังสือพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 326)

ครั้นมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการปรับธรรมเนียมการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาอีก คือ ฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลภายหลังการปฏิรูปการศาลแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ร้องทุกข์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหลวงได้ โดยทรงแต่งตั้งคณะกรรมการองคมนตรีฎีกาขึ้นพิจารณา แต่ธรรมเนียมการคัดค้านคำพิพากษาของศาลนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตราพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 มกราคม 2457, เล่ม 31, หน้า 486) ทรงห้ามมิให้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอีกต่อไป อนึ่ง พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ยังคงใช้ได้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ และต้องหยิบยกมาวินิจฉัยกรณีฎีกาล้านชื่อที่กำลังทำอยู่ด้วย

ใครที่อยากศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาโดยละเอียดโปรดศึกษาใน "วรรธนวรรณ ประพัฒน์ทอง, พระราชอำนาจในการพิจารณาฎีการ้องทุกข์, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540, 297 หน้า ซึ่งผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์"
(1)
---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0608521920

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-06 19:16:34 IP : 124.121.138.169


ความคิดเห็นที่ 2 (3037905)

สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาของประชาชนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 แล้ว ก็มีการออกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปี 2478 กำหนดเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษไว้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในภาค 7 ว่าด้วยอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษโดยอยู่ในมาตรา 259 ถึงมาตรา 267 โดยเฉพาะมาตราสำคัญ 3 มาตรา ดังนี้

"
มาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุด ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา 260 ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้"

พึงสังเกตว่ากฎหมายกำหนดตัวผู้มีสิทธิยื่นฎีกา คือผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องอันได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส บุตร ญาติพี่น้อง (มาตรา 259) หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อาจถวายคำแนะนำให้พระราชทานอภัยโทษก็ได้ (มาตรา 261 วรรคสอง)

สถานที่ที่จะยื่นฎีกา ต้องยื่นที่เรือนจำ หรือ กระทรวงยุติธรรม (มาตรา 260 และประกาศว่าด้วยผู้ซึ่งจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ร.ศ.116 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา, 12 กันยายน ร.ศ.112 หน้า 314-315 )

ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนั้น กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ (มาตรา 260 วรรคแรก)

ที่สำคัญที่สุดก็คือฎีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลอื่นทำไม่ได้ ดังที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรค 2 ที่ว่า "คดีใดซึ่งศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาแล้วคู่ความหามีสิทธิที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไปอีกไม่" ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาซึ่งตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2457 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ข้อ 1 (1) ที่ว่า "ขอพระราชทานพระมหากรุณาลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งศาลหลวงใดๆ ตั้งแต่ศาลฎีกาลงไปได้วางบทแล้วตามพระราชกำหนดกฎหมาย (แต่ไม่ใช่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลนั้น)"



สิทธิของประชาชนที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน สิทธิของประชาชนที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาย่อมเป็นไปนิติราชประเพณีเดิมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ

1.
ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 259-267

2.
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคสอง

3.
พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ซึ่งยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าแยกเป็นประเภทฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ ถวาย ก็มี 2 ประเภทคือ

1.
ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

2.
ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรมหรือที่เรียกว่าฎีการ้องทุกข์



ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ชอบด้วยกฎหมายและฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษได้ ถ้าปฏิบัติตามกฎหมาย 3 ฉบับ และนิติประเพณีดังกล่าวข้างต้น ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีผู้ใช้สิทธิผิดกฎหมายหรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริตก็ไม่มีสิทธิแต่ประการใด

ถ้าดูฎีกาล้านชื่อที่แกนนำกำลังดำเนินการโฆษณาให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าร่วมลงชื่อ โดยอ้างว่าได้จำนวนหลายล้านคนแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าฎีกานี้มีปัญหาว่าน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้

1.
ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษต้องยื่นโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดา มารดา คู่สมรส บุตร หรือญาติพี่น้อง แต่กลุ่มแกนนำดังกล่าวของขบวนการนี้ ไม่ได้มีฐานะใดฐานะหนึ่งดังกล่าวเลย

2.
นอกจากนั้น การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องมิใช่การโต้แย้งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 วรรคสอง และพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457 ข้อ 1 (1) แต่เนื้อความในฎีกาฉบับนี้ในข้อ 2 ที่ว่า "....ใช้กฎหมายที่ไม่ต้องด้วยหลักนิติธรรมดำเนินคดี..." ในข้อ 3 ที่ว่า "การยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ..... ยังมีผลกระทบโดยตรงต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ จนนักกฎหมายผู้เคารพต่อศักดิ์ศรีวิชาชีพ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจากปี 2549 ถึงปัจจุบันนี้ ประเทศเรามีปัญหาด้านนิติรัฐและนิติธรรม เป็นที่น่าอับอายแก่นานาอารยประเทศ ข้าพระพุทธเจ้าและชาวบ้านทั่วไปต่างรู้ซาบซึ้งดีว่าการใช้กฎหมายสองมาตรฐานกับคนสองพวก การไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาคเป็นวิธีการที่อนารยะ เป็นเรื่องไม่อาจยอมรับได้........" (เนื้อความฎีกาอ้างอิงจากหนังสือพิมพ์ "มติชนออนไลน์" จะผิดถูก จึงขึ้นอยู่กับแหล่งที่ผู้เขียนอ้างอิง) ซึ่งสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตลอดเวลาว่าไม่ได้รับความยุติธรรม และตนเองไม่มีความผิดใดๆ รวมทั้งแกนนำก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวก็เพราะ "เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กระทำความผิด แต่ถูกกลไกที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายปฏิปักษ์กลั่นแกล้ง" (มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2552 หน้า 15) ซึ่งเป็นคำสัมภาษณ์ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดอำนาจศาลฎีกา เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาถึงที่สุดว่าท่านผู้นั้นกระทำความผิด และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ก็พิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การโต้แย้งดังกล่าวนี้ วิญญูชนผู้มีจิตใจเที่ยงธรรมย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ โดยตรงซึ่งขัดต่อกฎหมาย 2 ฉบับ ดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง

3.
สถานที่ที่จะยื่นฎีกาก็มีปัญหาอีก เพราะกฎหมายกำหนดสถานที่ที่จะยื่นฎีกาคือ เรือนจำ หรือกระทรวงยุติธรรม การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อสำนักราชเลขาธิการ ตามที่แกนนำให้สัมภาษณ์นั้น "ถือเป็นการยื่นเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย" (ดู เพ็ญจันทร์ โชติบาล, พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษของพระมหากษัตริย์ไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533 หน้า 230) หากไปยื่นต่อสำนักราชเลขาธิการ ก็ต้องส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงยุติธรรมเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทำความเห็นกราบบังคมทูลขึ้นไปก่อน

4.
แกนนำผู้ทำฎีกานี้ อาจอ้างว่าฎีกาของตนไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ดังที่แกนนำบางคนที่เป็นนักกฎหมายอาวุโสอธิบาย แต่เมื่ออ่านคำขอรับพระมหากรุณาตอนท้ายฎีกาที่ว่า "ข้าพระพุทธเจ้าจึงกราบบังคมทูลถวายฎีกามาเพื่อทรงพระกรุณาอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปีนั้นเสีย เพื่อจักได้อิสรภาพกลับมาเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทำประโยชน์ต่อแผ่นดิน อย่างน้อยก็เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของปวงข้าพระพุทธเจ้า ผู้ยังเชื่อมั่นและศรัทธาในความสามารถของเขา" วิญญูชนก็ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นฎีกาที่มุ่งหวังการขอพระราชทานอภัยโทษอย่างแท้จริง

จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น จะเห็นได้ว่าฎีกาดังกล่าวหากเป็นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษก็เป็นฎีกาที่มิชอบด้วยกฎหมายถึง 3๓ ฉบับ การใช้สิทธิที่มิได้เป็นไปตามกฎหมายไม่มีประเทศใดในโลก ถือว่าไม่ถูกต้อง ถ้าจะทำให้ถูกต้องก็ต้องดำเนินการ ดังนี้ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร บิดา มารดา คู่สมรส บุตรธิดา หรือญาติพี่น้องต้องยื่นเอง และต้องยื่นที่กระทรวงยุติธรรม โดยขอพระราชทานอภัยโทษตรงๆ ไม่ต้องพรรณนาความโต้แย้งให้เข้าใจว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ที่พิพากษาในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม หรือ "เป็นการไม่ใช้กฎหมายโดยเสมอภาค เป็นวิธีการอนารยะ" ข้อความทำนองนี้ต้องเอาออกให้หมด ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำเช่นนี้ก็จะเป็นการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษที่ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณี ที่ไม่มีใครมาขวางได้!

(
อ่านตอนจบฉบับวันพรุ่งนี้)

---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0608521922

 

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-06 19:22:28 IP : 124.121.138.169


ความคิดเห็นที่ 3 (3038254)

วันที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11472 มติชนรายวัน


การใช้สิทธิทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ตามกฎหมายและประเพณี (จบ)

โดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต

 

ฎีกาขอพระราชทานความเป็นธรรม (ฎีการ้องทุกข์) ที่ชอบและมิชอบด้วยกฎหมาย

ฎีกาประเภทนี้ ประชาชนคนใดได้รับความเดือดร้อน ก็สามารถทูลเกล้าฯ ถวายได้ไม่ว่าเป็นทุกข์ร้อน ขอพระมหากรุณาให้ทรงช่วยเหลือหรือทรงแก้ทุกข์ให้ เช่น ขอพระราชทานที่ดินทำกิน ขอพระราชทานแหล่งน้ำ หรือส่วนราชการอาจกระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อผู้นั้น ฎีกาประเภทนี้ พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา พ.ศ.2457

ข้อ 1 (2) กำหนดว่า "บรรดาฎีกาที่จะทูลเกล้าฯ ถวายโดยตรง และที่จะทรงรับวินิจฉัยโดยพระองค์เองนั้น ต้องตกอยู่ในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ..........................

2.
ขอพระราชทานพระมหากรุณา ขอรับพระราชทานพระราชานุเคราะห์ในกิจการส่วนตัวเพื่อปลดเปลื้องทุกข์ อันจะหาหนทางปลดเปลื้องโดยอาการอื่นไม่ได้ นอกจากขอพระราชทานพระมหากรุณาโดยตรง" กล่าวอีกนัย ก็คือการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ประเภทนี้ ต้องขอโดยผู้มีทุกข์และขอในกิจการส่วนตัวของผู้นั้นเอง ฎีการ้องทุกข์ประเภทนี้จะทูลเกล้าฯ ผ่านสำนักราชเลขาธิการ หรือทูลเกล้าฯ ต่อพระองค์เอง หรือจะส่งทางไปรษณีย์ก็ได้แต่ต้องมีชื่อและที่อยู่ของผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา

ที่พระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ ก็เพราะก่อนนำความกราบบังคมทูล เจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องติดต่อเจ้าตัวผู้มีทุกข์เพื่อขอทราบข้อมูลรายละเอียด อันเป็นที่มาแห่งทุกข์ เพื่อจะได้แก้ไขได้ตรงจุด เข้าทำนองมีคนป่วยไม่สบาย จะฝากให้คนอื่นมาหาหมอแล้วเล่าอาการให้หมอฟัง คงไม่มีหมอคนไหนรับรักษา เพราะถ้าจะรักษาก็ต้องตรวจคนไข้ แต่กลับไม่มีคนไข้ มีแต่คนกลาง! แต่ฎีกานี้ คนมีทุกข์ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ยื่นเอง แต่มีผู้หวังดีเป็นแกนนำประชาชนชักชวนให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์มาร่วมเข้าชื่อกับตนเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแทนผู้มีทุกข์ ก็ดูจะแปลกที่ผู้มีทุกข์กลับเฉยๆ แต่คนอื่นทุกข์แทน ครั้นจะอ้างว่าคราวนี้ทุกข์เป็นทุกข์ของผู้ยื่น ก็แปลกอีก เพราะทุกข์แทนกันได้ และที่สำคัญเมื่อไปสอบถามผู้ยื่น ผู้ยื่นแต่ละคนก็คงจะอธิบายทุกข์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และอาจไม่เหมือนกับทุกข์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นได้ ที่สำคัญก็คือท้ายที่สุดก็จะพบว่าผู้ยื่นไม่ใช่ผู้มีทุกข์จริงแต่เข้าทำนองทุกข์แทน เหมือนคนกลางไปหาหมอเล่าอาการของผู้ป่วยให้ฟัง แต่คนกลางก็ไม่ใช่ผู้ป่วยอยู่วันยังค่ำ !

ฎีกานี้จึงไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาแม้แต่น้อย !

ยิ่งกว่านั้น ฎีกานี้ก็ยังมีข้อความไม่เหมาะสมหลายประการ อาทิ "ระบอบเผด็จการทหารที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" หรือกล่าวตู่พระบรมราชวินิจฉัยว่า "ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีสายพระเนตรยาวไกล คงจะไม่ปล่อยปละละเลยพสกนิกรให้จมอยู่กับความระทมทุกข์เป็นเวลายาวนานเกินไป" อันแสดงในตัวว่า หากทรงยกฎีกาหรือไม่มีพระบรมราชวินิจฉัยก็เป็นการปล่อยให้ประชาชนระทมทุกข์ เมื่อจะให้ประชาชนพ้นทุกข์ก็ต้องทรงใช้พระราชอำนาจพระราชทานอภัยโทษ อันเป็นการตู่พระบรมราชวินิจฉัย ไม่ปล่อยให้การเป็นไปตามพระราชอัธยาศัยอันกอปรด้วยทศพิธราชธรรม

ถ้อยคำสองแง่สองง่ามนี้ รวมทั้งถ้อยคำประณามระบบยุติธรรมไทยข้างต้น หากดูตามนิติประเพณีในประกาศรัชกาลที่ 4 ฉบับที่ 128 ก็ต้องห้ามตามประกาศดังกล่าวที่ว่า "...แลอย่าว่าคำหยาบช้าต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ตามโทโส และถ้าฟ้องว่าด่า คำด่าอย่างไรอย่าให้เขียนลง..." หากมีความดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีพระบรมราชวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า "...ก็ความหยาบช้านั้นมีธรรมเนียมให้ยกเสีย ไม่ให้ชำระ เพราะหาต้องการฟังไม่ ก็เป็นอันยกความ..." (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 326)

ดังนั้น ไม่ว่าพิจารณาในแง่ใดฎีกานี้ก็ไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายและนิติประเพณี

การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง อย่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง
(1)
---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                             

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0708522104

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-07 21:03:45 IP : 124.122.2.198


ความคิดเห็นที่ 4 (3038746)

เมื่อฎีกาล้านชื่อที่ทำอยู่มิได้เป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้น แม้จะมีคนลงชื่อ 20 ล้านคน ก็ไม่ทำให้ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการมีสิทธิและการใช้สิทธิตามกฎหมายไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณคน

แม้ลงชื่อในฎีกาคนเดียวถ้าถูกกฎหมาย ก็ไม่มีใครบอกว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิ หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ถูกต้องเพียงคนเดียวก็พอ แล้วมีคนมาขัดขวาง ผู้เขียนพร้อมจะอธิบายให้สังคมฟังว่า เป็นสิทธิของเขา ขัดขวางไม่ได้

มีปัญหาว่า แล้วเหตุใดแกนนำจึงเน้นจำนวนคน ทั้งๆ ที่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะมีนักกฎหมายอยู่หลายคน จะอ้างว่าไม่รู้คงลำบาก!

คำตอบก็คือ ฎีกานี้ไม่ใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และไม่ใช่ฎีการ้องทุกข์ แต่เป็นฎีกาการเมือง ดังที่คณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สรุปไว้อย่างดี และผู้เขียนเห็นด้วย จึงขอนำข้อความมาอ้างไว้ ดังนี้

"
ฎีกานี้จึงเป็นฎีกาการเมือง โดยกระบวนการทำ โดยเป้าหมาย เนื้อหาและผลกระทบ ดังนี้

ก.การโฆษณารวบรวมรายชื่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ให้ลงชื่อในฎีกาได้นับล้านคน เป็นกระบวนการสร้างกระแสกดดันพระมหากษัตริย์โดยตรง ทั้งยังหวังผลในการวัดความนิยมทางการเมืองต่อตัวอดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองที่สนับสนุน เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดุจนำเรื่องนี้มาเป็นเครื่องต่อรอง

อนึ่ง การรวบรวมรายชื่อคนจำนวนมากทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาอาจมีแล้วในอดีต แต่ก็นับว่าเป็นการไม่สมควรและไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรอ้างการกระทำดังกล่าวเป็นแบบอย่างการกระทำในครั้งนี้

ข.เป้าหมายของฎีกานี้มีขึ้นเพื่อให้กระทบความเคารพศรัทธาที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง กล่าวคือ หากมีพระบรมราชวินิจฉัยยกฎีกา หรือไม่ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยประการใด ผู้เป็นแกนนำก็คงทราบดีว่า จะสร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนจำนวนมากที่เข้าชื่อ อันเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนพรรค หากมีพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับคณะก็จะได้ประโยชน์ทางกฎหมายและทางการเมืองอีก

ค.เนื้อความในฎีกามีความไม่เหมาะสมหลายประการ ......

ง.เคยปรากฏข้อความวิดีโอลิงก์ในหลายเวทีรวมทั้งในวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 มาแล้วว่า "หากได้รับพระเมตตา ก็จะกลับมารับใช้ประเทศชาติ" การกระทำดังกล่าวของแกนนำหลายจึงน่าวิตกว่าจะเกิดผลกระทบทางการเมืองตามมา ดังนี้

(1)
ฎีกานี้สร้างแบบอย่างผิดๆ ทางการเมืองว่า ถ้าหวังผลสำเร็จ ต้องรวบรวมรายชื่อจำนวนมากทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาให้ได้ยิ่งมากยิ่งดี

(2)
ฎีกานี้เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง และไม่อาจมีพระบรมราชวินิจฉัยทางการเมืองได้ ให้ลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง ทั้งยังนำประชาชนจำนวนมากให้เข้ามาสู่ความแตกแยกแบ่งฝ่าย ที่สำคัญคือการใช้จำนวนคนมาเป็นปัจจัยประกอบพระบรมราชวินิจฉัยโดยไม่บังควร เพราะหากทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะ ก็อาจทำให้ผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรและคณะไม่พอใจ หากวินิจฉัยให้เป็นโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะทำให้ผู้ร่วมลงชื่อถวายฎีกาและผู้สนับสนุนไม่พอใจ ดังนั้น ไม่ว่าจะมีพระบรมราชวินิจฉัยทางใด ผลกระทบทางการเมืองจะเกิดขึ้นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ทุกทาง ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้"

นอกจากนั้น รูปแบบการยื่นฎีกาที่แกนนำจะแห่แหนกันไปจำนวนมากตามที่ประกาศก็ไม่เคยมีการทำกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย! แสดงความพยายามเอาจำนวนคนเข้าข่ม โดยไม่แคร์ความเหมาะสมหรือไม่ ตามนิติประเพณี

(2)
---------------------------------        

พันตรีศิริชัย    ทรัพย์ศิริ                                                    

นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล

โทร. 02-990-0331                   

http://www.apdi2002.com

http://www.youtube.com พิมพ์ apdi. หรือ สมาคมคนพิการ

0908522117

ผู้แสดงความคิดเห็น พันตรีศิริชัย ทรัพย์ศิริ (apdmajor1-at-yahoo-dot-com)วันที่ตอบ 2009-08-09 21:16:42 IP : 124.122.26.133



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล 802/410 หมู่12 หมู่บ้านวังทองริเวอร์ปาร์ค ซอย10/4 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี 12130 โทร : 02-990-0331 Copyright © 2010 All Rights Reserved.